บทเริ่มต้น: หลากเรื่องเล่าที่เรียงร้อยผ่านร่องรอยแห่งประวัติศาสตร์
น่าแปลกที่ในปัจจุบัน คนเราล้วนโหยหาความศิวิไลซ์ แต่ก็ไม่เคยหยุดที่จะหลงใหลในเรื่องราวของอดีต…ท่ามกลางเมืองหลวงศิวิไลซ์ที่สิ่งแวดล้อมรอบข้างต่างผันเปลี่ยนไปตามกาลเวลา ใครจะไปคิดว่าในซอยเล็กๆ แห่งหนึ่งจะมีมรดกล้ำค่าทางประวัติศาสตร์ซ่อนตัวอยู่
ณ ถนนกรุงเกษมที่มีตรอกซอกซอยมากมาย หนึ่งในซอยเล็กๆ เหล่านี้ได้ซุกซ่อนบ้านโบราณจำนวน 3 หลังไว้อย่างมิดแม้น เมื่อเดินเข้ามาในซอยเทเวศร์ 1 ประมาณ 500 เมตร เราจะพบกับรั้วสีครีมสูงเหนือศีรษะที่มองเผินๆ แล้วดูกลมกลืนกับสิ่งรอบข้างเป็นอย่างมาก แต่สิ่งที่ทำให้แตกต่าง เกิดขึ้นเมื่อเราเดินเข้าไปหลังรั้วกลางเก่ากลางใหม่แห่งนี้ จุดโฟกัสแรกของสายตาคือบ้านเรือนไทย 3 หลังที่มองแล้วชวนให้นึกถึงคำว่าเมืองกรุงมากกว่ากรุงเทพมหานคร ที่แห่งนี้เป็นที่ตั้งของ “บ้านบานเย็น” เรือนไทยโบราณ 3 หลังที่มีอายุยาวนานถึง 6 แผ่นดิน เป็นสถานที่ที่บันทึกเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์ไว้มากมาย เพื่อถ่ายทอดให้ชนรุ่นหลังได้มองภาพสะท้อนแห่งอดีตผ่านบ้านหลังนี้
บ้านบานเย็น เรือนไทยโบราณที่มีอายุยาวนานกว่า 100 ปี
บ้านบานเย็น ตั้งอยู่เลขที่ 54 ซอยเทเวศร์ 1 ถนนกรุงเกษม แขวงบางขุนพรหม เขตพระนคร ภายในบริเวณบ้านประกอบด้วยเรือนสำคัญจำนวน 3 หลัง ซึ่งถูกสร้างขึ้นในช่วงปลายรัชสมัยของรัชกาลที่ 5 ถึงต้นแผ่นดินรัชกาลที่ 7 ประกอบด้วยเรือนพระยาหิรัญยุทธกิจ เรือนขุนวิเศษสากล และเรือนเพ็งศรีทอง ซึ่งเรือนทุกหลังล้วนมีความเกี่ยวข้องกับตระกูลสาโยทภิทูรทั้งสิ้น
แรกเดินเข้ามาในบ้านหลังนี้ พวกเราเหล่าทีมงานก็ได้รับรอยยิ้มต้อนรับจากรองศาสตราจารย์โรจน์ คุณอเนก ทายาทรุ่นที่ 5 แห่งบ้านบานเย็น อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ และรองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา ที่นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คุ้นเคยเป็นอย่างดี
อาจารย์โรจน์เล่าให้ทีมงานฟังว่า บ้านบานเย็น เป็นบ้านของคุณทวด ซึ่งเป็นข้าราชการในสมัยรัชกาลที่ 5 ท่านมีชื่อว่าพระยาหิรัญยุทธกิจ หรือชื่อจริงๆ ของท่านก็คือบานเย็น สาโยทภิทูร เดิมครอบครัวสาโยทภิทูรอาศัยอยู่ในบริเวณที่เป็นถนนราชดำเนินหน้ากองสลากฯ แต่เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) โปรดเกล้าฯ ให้สร้างถนนราชดำเนิน พระองค์ได้โปรดฯ ให้ผู้ที่อาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าวไปหาที่อยู่ใหม่ เนื่องด้วยนโยบายขยายเมืองของพระองค์ ครอบครัวสาโยทภิทูรจึงได้ย้ายมาอยู่ในบริเวณบ้านบานเย็นในปัจจุบัน
บ้านบานเย็น ประกอบด้วยเรือนไม้ 3 หลัง ตั้งชื่อเรือนตามผู้อยู่อาศัย หลังแรกคือเรือนพระยาหิรัญยุทธกิจ (ท่านเจ้าคุณบานเย็น) ซึ่งน่าจะสร้างขึ้นหลังจากถนนราชดำเนินเสร็จสมบูรณ์แล้ว ราวปี พ.ศ. 2446 จากนั้นท่านก็ได้ชวนน้องสาวให้มาปลูกบ้านอยู่ด้วยกัน โดยให้สมรสกับร้อยเอกขุนวิเศษสากล (เจิม นาถะดิลก) เพื่อนของท่าน จึงได้มีการสร้างเรือนขุนวิเศษสากลขึ้น และเรือนหลังท้ายสุด เป็นเรือนของลูกสาวท่านเจ้าคุณ (คุณยายของอาจารย์โรจน์) เรือนหลังนี้มีที่มาจากเมื่อลูกสาวของท่านออกเรือน ก็ได้ซื้อเรือนหลังใหม่ในราคา 1,600 บาท เมื่อประมาณปี พ.ศ.2471 จึงเกิดเป็นเรือนเพ็งศรีทองขึ้น
เอกลักษณ์ของบ้านบานเย็นที่พวกเราสัมผัสได้ คือความคงเค้าเดิมแห่งรูปรอยอดีตที่หาได้ยากแล้วในปัจจุบัน อาจารย์โรจน์ให้เหตุผลไว้ว่าในสมัยก่อนหากเจ้าของบ้านเสียชีวิต เรือนจะถูกปิดตายไว้ทันที ด้วยเหตุนี้บ้านบานเย็นแต่เดิมจะมีของเก่าแก่ดั้งเดิมเป็นจำนวนมาก แต่เมื่อผ่านกาลเวลา หลายสิ่งก็ชำรุดสูญหายไป อาจารย์เลยพยายามตามหาของเก่า ๆ เหมือนสมัยที่อาจารย์ยังเด็กมาเก็บสะสมไว้เพิ่มเติม ซึ่งอาจารย์บอกว่าตนเองไม่ใช่นักสะสม เพียงแค่อยากทำให้บ้านบานเย็นแห่งนี้เต็มไปเรื่องราวและกลิ่นอายแห่งความทรงจำในอดีต
เวลาคือตัวแปรที่ไม่สามารถควบคุมได้ เมื่อมองย้อนกลับไป เวลาย่อมผ่านไปเร็วเสมอ เมื่อภาพความทรงจำในวัยเด็กถูกแทนที่ด้วยประสบการณ์แห่งชีวิตที่สะสมไปตามย่างก้าวแห่งการเติบโต แม้อาจจะเผลอทำหล่นหายไปบ้าง แต่อาจารย์โรจน์ก็พยายามเก็บชิ้นส่วนแห่งความทรงจำเหล่านั้นกลับมาให้ได้มากที่สุด อาจารย์โรจน์ยังพูดติดตลกอีกด้วยว่าเมื่อก่อนทะเบียนบ้านบานเย็นเคยมีตั้ง 3 แผ่น แต่ตอนนี้เหลือแผ่นเดียวแล้ว เพราะที่เหลือปั๊มคำว่าตายไปหมด
เรือนเพ็งศรีทอง เรือนหลังใหม่สุดที่มีอายุกว่า 75 ปี
แม้จะใช้คำว่าเรือนหลังใหม่สุด แต่เรือนเพ็งศรีทองกลับมีอายุที่เก่าแก่กว่า 75 ปี เรือนหลังนี้เป็นของคุณยายอาจารย์โรจน์ และเป็นหลังที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาเรือนทั้ง 3 หลังแห่งบ้านบานเย็น โดยเรือนหลังนี้ในเบื้องต้นใช้เป็นเรือนหอของนางสาวประยงค์ สาโยทภิทูร บุตรสาวคนโตของพระยาหิรัญยุทธกิจ ซึ่งสมรสกับนายเปล่ง เพ็งศรีทอง ผู้จัดการบริษัทบอร์เนียว
เมื่อก้าวเข้ามาในตัวบ้าน สิ่งแรกที่เราจะเห็นคือโต๊ะอาหารที่มีจานชามวางอยู่เรียงราย อาจารย์โรจน์กล่าวว่าห้องนี้คือห้องกลางของบ้าน แต่เพราะมีโต๊ะอาหารจึงทำให้ดูเหมือนห้องทานอาหาร ความน่าสนใจคือจานชามแต่ละใบที่ตั้งเรียงอยู่เต็มโต๊ะ เมื่อมองผ่านรูปภาพอาจคิดว่าเป็นเพียงจานชามธรรมดา แต่พูดเลยว่าถ้าจะให้หาจานแบบนี้ในปัจจุบัน หาอย่างไรก็ไม่มีทางเจอแน่นอน
“จานแต่ละชุดเป็นจานแบบลิมิเต็ด มีทั้งจากเมืองจีน จากอิ้งเลิ่น เพราะคุณตาเป็นผู้จัดการของบริษัทบอร์เนียว ท่านเลยมีจานชามรุ่นเก่าๆ สะสมไว้เยอะ แต่ละใบก็ล้วนเป็นลวดลายพิเศษที่หาไม่ได้แล้วในปัจจุบัน”
อาจารย์โรจน์กล่าวด้วยรอยยิ้มพร้อมทั้งพาชมชุดจานลวดลายต่างๆ
งานอดิเรกของคุณตา
หลังจากเยี่ยมชมชั้นล่างของบ้านจนพอใจแล้ว อาจารย์โรจน์ก็ได้พาพวกเราขึ้นไปยังชั้นสอง สิ่งแรกที่สะดุดตาคือโต๊ะที่เต็มไปด้วยของใช้มากมาย อาจารย์เล่าว่าทั้งหมดนี้คืองานอดิเรกของคุณตา (นายเปล่ง เพ็งศรีทอง) งานอดิเรกหลักๆ ของท่านคือการถ่ายภาพยนตร์และการศึกษาศาสตร์ดูดวง
“ถ้าเข้าไปดูในเว็บไซต์ของหอภาพยนตร์ จะมีภาพยนตร์ที่คุณตาถ่ายทั้งหมด 4 เรื่อง ที่ใครหลายคนอาจจะคุ้นชื่อก็คือเรื่องเสด็จนิวัติพระนคร คุณตาถ่ายด้วยกล้องถ่ายหนังแบบไขลาน ฟิล์มใช้แบบ 9 มม. แถมฟิล์มยังต้องส่งไปล้างที่ฮ่องกง ตอนเด็กๆ ผมยังฉายหนังดูอยู่เลย”
อาจารย์โรจน์เล่าด้วยความภาคภูมิใจ
อีกหนึ่งงานอดิเรกของคุณตาอาจารย์โรจน์คือ การศึกษาศาสตร์ดูดวง ซึ่งตำราดูดวงต่างๆ ที่วางเรียงอยู่บนโต๊ะคุณตาท่านก็เป็นคนเขียน
“งานอดิเรกนี้ ทำไปทำมาท่านได้เป็นนายกสมาพันธ์โหรประเทศไทยเฉยเลย แต่คุณตาท่านก็พูดกับผมเสมอเลยว่าอย่าไปเชื่อมากนักไอ้พวกหมอดูเนี่ย”
อาจารย์โรจน์เล่าพร้อมเสียงหัวเราะ
สิ่งหนึ่งที่สังเกตได้ตลอดเวลาที่ฟังอาจารย์ถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ อย่างไม่รู้เบื่อ คือ แววตาที่เปล่งประกายพร้อมรอยยิ้มแห่งความสุข ราวกับยินดีที่ได้นึกย้อนไปถึงช่วงเวลาแห่งวัยเยาว์ และยินดีอย่างยิ่งที่ได้ถ่ายทอดให้คนรุ่นหลังที่สนใจในเรื่องราวของประวัติศาสตร์ได้รับรู้
หลังจากชมโต๊ะงานอดิเรกของคุณตาแล้ว อาจารย์พาพวกเราชมห้องด้านบนอีก 2 ห้องของเรือนเพ็งศรีทอง ห้องแรกเป็นห้องขนาดใหญ่สีขาวที่มีของใช้และเตียงนอนตั้งอยู่ “ห้องนี้ผมไว้เก็บข้าวของเครื่องใช้ของคุณตาที่อยู่ในบ้านนี้ตั้งแต่แรก พอมารีโนเวตก็เจอ เลยต้องเก็บรักษาไว้” อาจารย์โรจน์พาชมของใช้ที่บางชิ้นเชื่อว่าจะต้องทำให้เด็กรุ่นใหม่ทำหน้าฉงนไปตามๆ กัน เพราะนอกจากจะหน้าตาไม่คุ้นแล้ว แม้แต่ชื่อก็ยังไม่เคยได้ยินมาก่อน ยกตัวอย่างแก้วใสๆ ที่มีลักษณะคล้ายกาต้มชา อาจารย์ชวนให้ทายว่าสิ่งนี้คืออะไร ซึ่งเราต่างคิดว่าคือที่ชงชา หารู้ไม่ว่าจริงๆ แล้วนั่นคือที่ป้อนยาสำหรับคนป่วยสมัยก่อน นอกจากนี้ อาจารย์ยังหยิบขวดน้ำเกลือของสมัยก่อนให้ดู น่าแปลกที่มีลักษณะเป็นโหลแก้วค่อนข้างหนัก ต่างจากถุงน้ำเกลือที่เราคุ้นเคยกันในปัจจุบัน นับเป็นความรู้ใหม่ที่ทำให้เราฉุกคิดว่าพยาบาลสมัยนั้นต้องแข็งแรงพอสมควรเลย
มาถึงห้องสุดท้าย ห้องนี้เป็นเพียงห้องสีน้ำตาลเล็กๆ ที่มีเตียงนอนตั้งอยู่หนึ่งหลัง อาจารย์โรจน์เล่าว่านี่คือเตียงนอนของคุณยาย ข้างๆ จะมีหีบตั้งเรียงไว้เพราะสมัยก่อนคนนิยมเก็บข้าวของเครื่องใช้ไว้ในหีบ ถัดไปตรงปลายเตียงเป็นกระโถนสีขาวที่ตั้งไว้อย่างเรียบร้อยตรงมุมห้อง อาจารย์โรจน์อธิบายว่าเพราะเรือนสมัยก่อนไม่มีห้องน้ำในตัว เลยจำเป็นต้องมีกระโถนไว้ในห้องนอน เรียกได้ว่าแม้เป็นเพียงห้องเล็กๆ แต่กลับบอกเล่าเรื่องราวชีวิตของผู้เป็นเจ้าของห้องได้เป็นอย่างดี
เรือนพระยาหิรัญยุทธกิจ เรือนหลังแรกแห่งบ้านบานเย็น
เรือนพระยาหิรัญยุทธกิจ เป็นเรือนที่สร้างขึ้นหลังแรกสุดในบรรดาบ้านทั้ง 3 หลัง ลักษณะเป็นเรือนไม้ 2 ชั้น ขนาดไม่ใหญ่มากนัก มีห้องน้ำและห้องสุขาสร้างอยู่ภายนอกบริเวณใกล้เคียง ตัวเรือนยกสูงจากพื้นดินประมาณ 1.10 เมตร โดยก่ออิฐฉาบปูนปิดใต้ถุนเรือนโดยรอบ หลังคามุงกระเบื้องว่าวซีเมนต์ หน้าต่างโดยส่วนใหญ่เป็นบานระทุ้งมีช่องลม หน้าเรือนมีลายฉลุประดับโดยรอบ เหนือประตูทุกบานมีลายฉลุไม้ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง
สิ่งแรกที่เราสามารถมองเห็นได้จากบ้านหลังนี้ คือตู้เก็บของที่แน่นขนัดไปด้วยข้าวของเครื่องใช้ไม่คุ้นตา สิ่งแรกที่อาจารย์โรจน์หยิบมาให้พวกเราดูคือเตารีดแบบเตาถ่าน ของจริงแบบที่ไม่คิดว่าครั้งหนึ่งในชีวิตจะได้หยิบจับในระยะประชิดแบบนี้
“เตารีดนี้เป็นแบบใส่ถ่าน เนี่ย พอผมพูดให้เด็กๆ ฟัง เด็กๆ ก็ชอบถามว่าใส่ถ่านกี่ก้อนครับอาจารย์ แล้วถ่าน AA หรือ AAA”
อาจารย์โรจน์เล่าพร้อมรอยยิ้มและเสียงหัวเราะด้วยความเอ็นดู
นอกจากนี้ สิ่งของในตู้ยังมีของใช้ยุคเก่าอีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเครื่องชั่ง (แบบที่เด็กรุ่นใหม่อย่างเราไม่เคยเห็นมาก่อน) ภาชนะดินเผาใส่น้ำดื่ม เตาเชิงกรานที่เอาไว้สำหรับวางหม้อหรืออุ่นยา หินบดยา บาตรน้ำมนต์แบบเซรามิก และอีกหนึ่งชิ้นที่น่าสนใจคือขนมครกไข่ อาจารย์โรจน์บอกว่าเด็กๆ สมัยก่อนจะเอาสำลีชุบน้ำมันเช็ดๆ ตามหลุม แล้วหลังจากนั้นก็เอาไข่แบบตีแล้วมาหยอดใส่ สนุกเชียว
ของใช้เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่อาจารย์โรจน์พบในภายหลัง ไม่ได้มีการเก็บรักษาไว้ตั้งแต่แรกแต่อย่างใด อย่างที่บอกว่าสมัยก่อนถ้าบ้านไหนมีคนตายเขาก็ปิดบ้านเสีย นับว่าของโบราณหลายชิ้นทนทานมากจริงๆ
เมื่อเข้ามาในบ้าน สิ่งแรกที่อาจารย์โรจน์หยิบออกมาให้ดูคือตะเกียงเจ้าพายุ เนื่องด้วยเรือนหลังนี้ตอนเริ่มสร้างไม่มีไฟฟ้า สิ่งที่จำเป็นอย่างแรกเลยก็คือตะเกียงอันนี้ ซึ่งเรือนนี้มีเยอะมากของชิ้นต่อไปในมืออาจารย์โรจน์คือสิ่งที่เราไม่คิดว่าจะได้เห็น นั่นคือเกือกม้า อาจารย์โรจน์เล่าว่าเพราะสมัยก่อนคุณทวดขี่ม้าไปทำงาน เกือกม้านี้จึงเป็นเครื่องยืนยันว่าคุณทวดขี่ม้าไปทำงานจริงๆ นอกจากนี้ยังมีของอีกหนึ่งชิ้นที่อาจารย์โรจน์ภูมิใจนำเสนอมาก ของชิ้นนี้คือกระดานชนวนที่อาจารย์โรจน์เคยใช้ตอนเด็ก น่าทึ่งที่ปัจจุบันยังคงใช้ได้ดี เปรียบเสมือนไอแพดสยามที่ความทนทานให้เลยเต็มร้อย
ถัดจากตู้ที่ใช้เก็บรักษาเรื่องราวในวัยเยาว์ โต๊ะตัวนี้เต็มไปด้วยสมุดโบราณที่มีตัวหนังสือเบียดแน่นในทุกหน้ากระดาษ อาจารย์โรจน์เล่าว่านี่คือคัมภีร์ใบลานสอนเรื่องดูดวง วิธีใช้คือเอาเหล็กแหลมเขียน ตอนเขียนก็มองไม่เห็นหรอก ถ้าอยากให้ตัวหนังสือปรากฏต้องใช้ขี้เถ้าปาดให้ผงดำๆ ลงไปในร่อง ซึ่งน่าแปลกมากที่แม้ตอนเขียนจะมองไม่เห็น แต่ลายมือที่ปรากฏกลับเป็นระเบียบสวยงามราวกับกับฟอนต์ในคอมพิวเตอร์
“ยุคหลังจากใบลานก็จะเป็นสมุดเพราะเราเริ่มทำกระดาษได้แล้ว มีสมุดไทขาวกับไทดำ” อาจารย์โรจน์อธิบายถึงสมุดที่วางอยู่เหนือคัมภีร์ใบลาน “กระดาษขาวใช้หมึกจุ่มแล้วเขียน ที่เห็นเขียนอยู่นี่คือเป็นเรื่องยันต์สมัยก่อน อันนี้กำลังดังมากเลย เรียกว่ายันต์ท้าวเวสสุวรรณ ส่วนกระดาษไทดำ เพราะกระดาษเป็นสีดำจึงใช้หมึกเขียนไม่ได้ ที่เราเห็นอยู่นี่คือเขาใช้หรดาลเขียน หลังเขียนจะเป็นสีเหลือง เรื่องที่เขียนอยู่นี่คือปูมของโหร มันคือตำแหน่งดวงดาวบนท้องฟ้า คล้ายกับการเก็บสถิติว่าถ้าดวงดาวเรียงแบบนี้จะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นบ้าง”
“อันนี้ผมคิดเอาเองนะว่าที่เขาเรียกห้องที่เก็บหนังสือว่าห้องสมุด เพราะเมื่อก่อนเขาใช้เก็บสมุดไทดำไทขาวไง”
อาจารย์โรจน์ยังไม่ลืมที่จะให้เกร็ดความรู้เพิ่มเติม
กุหลาบ กุเรื่อง เกร็ดความรู้เพิ่มเติมจากอาจารย์โรจน์
“สมัยก่อนคลังความรู้จะอยู่ในหอพระสมุด คนทั่วไปเข้าถึงยาก แล้วสมัยนั้นมี ก.ศ.ร. กุหลาบ ท่านได้จ้างอาลักษณ์ให้ช่วยกันลอกคลังความรู้ในหอพระสมุด แล้วนำมารวมใหม่โดยใส่ความเห็นส่วนตัวลงไป สุดท้ายกลายเป็นสิ่งที่ได้ไม่ตรงกับเรื่องต้นฉบับในหอพระสมุด คนเลยโจษกันว่าเรื่องที่มาจาก ก.ศ.ร. กุหลาบ คือ เรื่องกุ ใช้เรียกเรื่องอะไรที่ไม่จริง”
ภาพจากวิกิพีเดีย
อีกครั้งแล้วที่เราได้รับความรู้ใหม่ หลังจากได้ฟังอาจารย์โรจน์เล่าเรื่องนี้ เราก็ได้หาข้อมูลเพิ่มเติมจากบทความของคุณดอกฝนในเว็บไซต์มติชนออนไลน์ บทความนี้เขียนไว้เมื่อปี พ.ศ.2560 ได้ความว่า ‘ก.ศ.ร. กุหลาบ คือ ผู้ที่เขียนงานนิพนธ์จำนวนมาก จนถูกเล่าถึงในฐานะ ‘ผู้เล่านิทานสู่กรุงสยาม’ แต่ชื่อเสียงของเขากลับถูกทำลายจากการถูกกล่าวหาว่าเป็นนักกุ หรือนักปลอมแปลงประวัติศาสตร์ นั่นเพราะกลุ่มชนชั้นนำในสยามสมัยนั้นกล่าวหาว่า ก.ศ.ร.กุหลาบ ชอบสร้างเรื่องที่ไม่เป็นความจริง เป็นผู้ลักคัดเรื่องพงศาวดารและเรื่องเก่าแก่โบราณจากหนังสือของหอหลวง ก่อนจะนำไปแทรกข้อความปลอมแปลง ใส่ความคิดเห็นส่วนตัวแล้วนำไปพิมพ์จำหน่าย ทำให้เนื้อความไม่ตรงกับต้นฉบับ โดยในสายตาของชนชั้นนำสยามเห็นว่าการประพฤติเช่นนี้เป็นการสร้างความรู้ที่ผิดให้กับสังคม จนคำว่า กุ จากชื่อ กุหลาบ กลายเป็นคำแสลงในความหมายของการสร้างเรื่องเท็จ’
แม่ปรุง แม่ครัวประจำเรือนพระยาหิรัญยุทธกิจ
นอกจากคัมภีร์ใบลาน สมุดไทขาวไทดำ อีกหนึ่งสิ่งที่โดดเด่นของบ้านหลังนี้คือเครื่องเคลือบจานชามต่างๆ
“ที่เราเห็นตรงนี้คือถาดส่งสำรับและถ้วยชามที่ใช้ทานข้าวสมัยก่อน แม่ครัวที่นี่ชื่อแม่ปรุง แค่ชื่อก็รู้แล้วว่าเป็นแม่ครัว (หัวเราะ) แม่ปรุงจะทำอาหารใส่ไว้ในภาชนะที่มีฝาปิด ก่อนจะนำใส่ถาดมาให้เจ้านาย แต่กับข้าวน้อยมาก เหมือนกับข้าวให้ศาลพระภูมิ เราเลยต้องแอบไปเจียวไข่ทาน เพราะคนสมัยก่อนเขาทานน้อย แต่เราไม่อิ่มไง” อาจารย์โรจน์เล่าเรื่องราวความหลังที่ยังจำได้ดี
“สำหรับเจ้านาย ข้าวของจะใช้เป็นเซรามิก ส่วนบ่าวใช้สังกะสี นี่เป็นของเก่าของที่นี่หมดเลยนะ ถ้วยเบญจรงค์พวกนี้ก็ด้วย ชิ้นนี้เรียกว่าเบญจรงค์ลายน้ำทอง ใส่กับข้าวได้หมดเลย ถ้วยนี้ใส่น้ำพริก ถ้วยนี้แกงจืด ถ้วยนี้ไข่ตุ๋น” อาจารย์โรจน์พาพวกเราชมถ้วยจานทีละใบ ต้องยอมรับเลยว่าจานชามสมัยก่อนต่างมีเอกลักษณ์ที่หาได้ยากมากในสมัยนี้ ซึ่งชิ้นที่ดูจะเป็นที่ตื่นตาตื่นใจของพวกเรามากที่สุดก็คงต้องขอยกให้จานลายเม็ดแตง จานใบนี้ดูเหมือนจะธรรมดา แต่พอนำไปส่องกับแสงกลับเห็นแสงทะลุเป็นรูๆ ทั้งที่ดูในร่มก็เป็นจานปกติ อาจารย์โรจน์เล่าว่าจานลายนี้ใช้ในสมัยรัชกาลที่ 5 ไม่รู้ว่าเป็นครั้งที่เท่าไหร่แล้วที่เรารู้สึกตื่นตาตื่นใจกับข้าวของเครื่องใช้ในบ้านบานเย็นแห่งนี้
ห้องของเจ้าคุณทวด (พระยาหิรัญยุทธกิจ)
เมื่อชมชั้นล่างจนครบ อาจารย์โรจน์ก็พาเราขึ้นบันไดมายังชั้นสอง ซึ่งห้องของบ้านหลังนี้ทำเอาพวกเราแอบตกใจเล็กน้อย ด้วยรูปของเจ้าคุณทวดและข้าวของเครื่องใช้ของท่านที่ยังคงครบจนน่าตกใจ ไม่ว่าจะเป็นหมวก หมอน กระบี่ หรือแม้แต่หนังสือที่อ่าน อาจารย์โรจน์หยิบกระเป๋าใบหนึ่งให้เราดู กระเป๋าใบนี้ถูกผลิตขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2459 แม้จะผ่านมาเกินร้อยปี แต่สภาพของกระเป๋ายังคงอยู่ดี จะมีก็เพียงร่องรอยแห่งการใช้งานที่ปรากฏชัดตามกาลเวลา
“ใบนี้ผมถ่ายไว้ เป็นตราตอนตั้งยศของคุณทวดเป็นพระยา ถือศักดินา 500 ไร่” อาจารย์โรจน์หยิบรูปถ่ายของเอกสารแผ่นหนึ่งให้พวกเราดู“จริงๆ 500 ไร่นี่ไม่ได้มีที่ดินจริงๆ นะ เป็นการเทียบศักดิ์เฉยๆ เพราะถ้าอิงตามหลักการแล้ว พระเจ้าแผ่นดินคือเจ้าของแผ่นดินทั้งหมด ท่านต้องดูแลพสกนิกรซึ่งคนเดียวจะดูทั้งหมดก็ไม่ไหวอยู่แล้ว ท่านจึงแบ่งให้ข้าราชการช่วยดูแลด้วยการเทียบศักดิ์เป็นไร่เพื่อให้ไปดูแลราษฎรในพื้นที่ เช่น มียศ 100 ไร่ก็ต้องดูแลราษฎร 100 ไร่ ส่วนการเทียบศักดิ์ ก็เช่นคนที่มียศ 1,000 ไร่ ก็จะยศสูงกว่า 500 ไร่ 500 ไร่ ก็สูงกว่า 100 ไร่ เรียงไปตามลำดับแบบนี้” นับไม่ถ้วนแล้วว่าตั้งแต่เดินชมบ้านบานเย็นแห่งนี้ เราได้เพิ่มพูนความรู้ทางประวัติศาสตร์ไปเท่าไหร่แล้ว
นาฬิกายุโรป ยี่ห้อจุงฮัน
ถัดจากห้องนอนของเจ้าคุณทวดก็จะเป็นพื้นบ้านว่างๆ นั่นเพราะสมัยก่อนคนเขานิยมนั่งพื้นกัน จึงทำให้ไม่ค่อยมีเฟอร์นิเจอร์ ตู้ก็ไม่ค่อยมีเพราะเก็บของใส่หีบ
แต่จุดเด่นของบริเวณนี้คือนาฬิกาลูกตุ้มเรือนเก่า เรือนนี้เป็นนาฬิกายุโรป ยี่ห้อจุงฮัน หรือที่คนนิยมเรียกกันว่านาฬิกาลอนดอน นาฬิกานี้มีความพิเศษตรงที่หน้าปัดเป็นเลขไทย ซึ่งล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 สั่งทำและพระราชทานให้ข้าราชการใกล้ชิด หน้าปัดเป็นกระเบื้องที่ลงยาสีดำ โดยนาฬิกาจะตีทุกครึ่งชั่วโมง โชคดีที่ตอนเราไปเป็นเวลาครบรอบพอดี นาฬิกาเลยตีเสียหนึ่งครั้ง เสียงทุ้มกังวาน ทั้งที่เป็นของเก่าล้ำค่า แต่กลับยังใช้งานได้ดีโดยที่ผ่านการซ่อมไปเพียงหนึ่งครั้งเท่านั้น นอกจากงดงามแล้ว ความคงทนก็นับเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของของโบราณเลย
นอกจากนี้ อาจารย์โรจน์ยังพาไปดูตู้เอกสารเก่าที่เจอในเรือน ใบแรกที่เราเห็นเป็นเอกสารใบเสร็จค่าเทอม อาจารย์โรจน์เล่าให้ฟังว่าลูกชายคุณทวดบานเย็นเมื่อก่อนเรียนวชิราวุธ ค่าเรียน 3 บาท แต่ตอนนี้ค่าเทอมพุ่งไป 30,000 ได้แล้ว ส่วนอีกใบก็เป็นค่าเช่าที่ เป็นใบเสร็จจากกระทรวงการคลัง ระบุไว้ว่าบ้านแห่งนี้ค่าเช่า 19.76 บาทต่อเดือน แม้ราคาจะดูเหมือนถูกมาก แต่แน่นอนว่าหากเทียบเป็นค่าเงินในสมัยนั้นแล้ว 3 บาทหรือ 19.76 บาทก็คงไม่ได้นับว่าเบาเลย
พระแก้วมรกต ฉลองกึ่งพุทธกาล 2,500 ปี
ของโบราณชิ้นสุดท้ายของบ้านหลังนี้ อาจารย์โรจน์ได้พาเรามารู้จักกับพระแก้วมรกตที่ทำจากแก้วจริงๆ (ต่างจากสมัยนี้ที่มักหล่อจากเรซิ่น) อาจารย์เล่าว่าพระองค์นี้สร้างขึ้นเพื่อฉลองกึ่งพุทธกาล นั่นคือเมื่อปี พ.ศ.2500 เพราะคนไทยเรามีความเชื่อว่าสมณโคดมจะมีอายุพระศาสนา 5,000 ปี พอถึงปี 2500 จึงเชื่อกันว่าเป็นกึ่งพุทธกาล ในตอนนั้นทำมากกว่าแสนองค์ แต่ปัจจุบันเหลือน้อยมาก เพราะด้วยความที่เป็นแก้วคนเลยทำแตกเสียเยอะ องค์นี้จึงนับว่าเป็นแรร์ไอเทมมาก
นอกจากของเก่าแล้ว บ้านเก่าแล้ว ที่แห่งนี้ก็ยังมีต้นไม้เก่าด้วย หลังเดินออกมาจากเรือนพระยาหิรัญยุทธกิจ อาจารย์โรจน์ก็พาพวกเราแวะชมต้นไม้สามต้นที่ยังคงออกดอกออกผลอย่างสมบูรณ์ อาจารย์เล่าว่าต้นไม้เหล่านี้อาจารย์เกิดมาก็เห็นเลย คาดว่าน่าจะมีอยู่ตั้งแต่ก่อนอาจารย์เกิดแล้ว ต้นไม้ต้นแรกคือต้นชมพู่มะเหมี่ยว เวลาเกสรของมันร่วง พื้นจะกลายเป็นสีชมพูสวยงามมาก น่าเสียดายที่ตอนเราไปเป็นช่วงเกสรหมดพอดี
ต้นไม้ถัดจากต้นชมพู่มะเหมี่ยวคืนต้นมันค่อม ต้นไม้ชื่อประหลาดที่เด็กรุ่นหลังอย่างเราต่างก็ฉงนไปตามกัน อาจารย์โรจน์เฉลยว่ามันก็คือต้นมะม่วงมันที่มีลำต้นลักษณะค่อมไปค่อมมา จึงเป็นที่มาของชื่อมันค่อม ลูกของมันเป็นมะม่วงลูกเล็กๆ แต่รสชาติมันมาก เป็นต้นไม้โบราณ ส่วนต้นสุดท้ายที่อาจารย์โรจน์ชี้ให้ดูคือต้นชมพู่แก้มแหม่ม ต้นไม้เหล่านี้ล้วนอายุราวร้อยปีเท่ากับสถานที่แห่งนี้ แต่ปัจจุบันยังออกดอกออกผล สามารถเก็บทานได้ตามฤดูกาลปกติ แม้อายุจะยาวนานนับร้อยปีแล้วก็ตาม
เรือนขุนวิเศษสากล เรือนไทยประดับลายฉลุ ราคา 99 บาท
เรือนขุนวิเศษสากล เป็นเรือนที่สร้างขึ้นเป็นลำดับที่ 2 แห่งบ้านบานเย็น เรือนหลังนี้มีการประดับลายฉลุไม้มากกว่าเรือนพระยาหิรัญยุทธกิจ ลักษณะเป็นเรือนไม้ 2 ชั้น ยกพื้นสูงประมาณ 1 เมตร หลังคามุงกระเบื้องว่าวซีเมนต์ ระหว่างหลังคากับผนังมีช่องลมลายไม้ฉลุเป็นแนวยาว ผนังเรือนทั้งหมดเป็นไม้ หน้าต่างเป็นบานลูกฟัก และบางบานมีช่องระบายลมด้านบนและลูกฟักด้านล่าง
ในปัจจุบัน ภายในเรือนยังคงมีเตียงเหล็กโบราณ ตุ้มกระเบื้องหุ้มสายไฟเพดาน ฯลฯ ซึ่งเรือนนี้สร้างขึ้นโดยใช้ไม้ของเรือนเก่าที่ถนนราช ค่าใช้จ่ายรวมทั้งสิ้น 99 บาท
ในขณะที่เราเดินมาเยี่ยมชมเรือนสุดท้ายแห่งนี้ แสงแดดยามเย็นสาดกระทบชานระเบียงเกิดเป็นแสงสีส้มสวยงาม ราวกับต้องการปลุกกลิ่นอายแห่งความมีชีวิตชีวาให้กับเรือนไม้แห่งนี้อีกครั้ง
เรือนหลังนี้เป็นของคุณทวดจิ่น ด้วยเพราะท่านเป็นสตรี ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดจากสองเรือนก่อนหน้าคือลวดลายฉลุที่สวยงามแทบทั้งหลัง ระหว่างที่เรายืนฟังอาจารย์โรจน์เล่าเรื่อง แม้แดดยามสี่โมงเย็นจะขยายอาณาเขตครอบคลุมแทบทุกพื้นที่ แต่เรือนแห่งนี้กลับมีลมเย็นพัดเข้ามาตลอดจนแทบไม่รู้สึกถึงความร้อนของแดดเลย “ด้วยเพราะพื้นเรือนเป็นรูๆ ลมร้อนจึงลอยขึ้นข้างบนและดูดลมเย็นเข้ามาเรื่อยๆ เป็นระบบระบายอากาศของเรือนไทย” อาจารย์โรจน์ไม่ลืมไขข้อสงสัยด้วยการให้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์
ความพิเศษของบ้านหลังนี้คืออยู่ในยุคแรกๆ ที่สยามประเทศเริ่มมีไฟฟ้าใช้ จึงเห็นได้ว่าภายในบ้านมีโคมไฟและสายไฟเดินอยู่โดยรอบ แม้จะมีไฟฟ้าใช้เหมือนบ้านเรือนในปัจจุบัน แต่ภาพที่เรามองเห็นในขณะนี้กลับต่างออกไปด้วยภาพที่ไม่เคยจินตนาการถึง เริ่มจากสวิตช์ไฟที่ไม่ใช่ทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าเล็กๆ ที่คุ้นตา อาจารย์โรจน์เล่าว่าในสมัยนั้นจะใช้เป็นสวิตช์ไฟแบบเซรามิก และอีกอย่างหนึ่งที่น่าสนใจคือสายไฟผ้า ที่เราเห็นอยู่ขณะนี้เป็นสายไฟผ้าแบบดั้งเดิมเนื่องเพราะอาจารย์ได้คงของเดิมไว้ ซึ่งหากใครนึกภาพไม่ออกก็ให้ลองนึกถึงสายไฟเตารีด นับเป็นอีกหนึ่งความคลาสสิกที่น่าตื่นตา ยากที่จะหาดูได้ในระยะประชิดแบบนี้อีก
สิ่งที่พวกเราผู้มาเยือนเห็นพ้องต้องกันคือบ้านหลังนี้งดงามด้วยลายฉลุ เมื่อหันมองโดยรอบจะเห็นเป็นลวดลายประดับอ่อนช้อยงดงาม สมกับที่เป็นเรือนของสุภาพสตรี หลังจากพาชมด้านล่างของเรือนเรียบร้อย อาจารย์โรจน์ก็พาเรามายังมุมระเบียงชั้นบนของบ้าน น่าแปลกที่เมื่อมองจากมุมนี้ ภาพในครรลองสายตากลับไม่คล้ายเมืองกรุงเทพมหานครที่เด็กรุ่นใหม่อย่างเราคุ้นเคย อาจารย์โรจน์บอกเล่าด้วยรอยยิ้มและสายตาเปี่ยมสุขราวกับได้ย้อนภาพความทรงจำในวันวาน นำเสนอต่อพวกเราว่าหากมองวิวจากมุมนี้ จะสามารถเห็นเรือนไทยทั้งสองหลังก่อนหน้าและอาคารไม้ของโรงเรียนสตรีวรนาถได้พร้อมกัน ซึ่งไม่แปลกเลยที่ภาพในกรอบสายตาของพวกเราจะราวกับเมืองกรุงเมื่อหลายสิบปีก่อน เพราะถ้าจะให้หาโรงเรียนไม้กลางกรุงในปัจจุบันก็เรียกได้ว่าเหลืออยู่น้อยมากจริงๆ
ถัดมาคือห้องชั้นบนของเรือนหลังนี้ สิ่งที่เด่นชัดคือโต๊ะหมู่บูชาแบบญี่ปุ่น มีที่มาจากแม่ของอาจารย์โรจน์ได้ไปเรียนเภสัชที่ญี่ปุ่น ท่านเลยซื้อตุ๊กตาที่เราเห็นอยู่กลับมา พระพุทธรูปที่ตั้งอยู่ข้างๆ ก็มาจากเมืองนาระ เป็นโต๊ะหมู่บูชาในเรือนคนไทยที่แปลกตาดีสำหรับผู้มาเยือนอย่างเรา
ถัดจากโต๊ะบูชาเป็นมุมพักผ่อนขนาดย่อม ประกอบไปด้วยโต๊ะเครื่องแป้งและวิทยุเครื่องเก่า ข้างๆ กันเป็นหน้าต่างที่สามารถทอดมองบรรยากาศนอกเรือนได้ อาจารย์โรจน์เล่าว่าคนสมัยก่อนก็อยู่กันแค่นี้ มีฟูกไว้กางมุ้งนอน เวลาเบื่อก็เปิดวิทยุฟัง นั่งมองวิวจากหน้าต่างที่พอดีกับระดับสายตา เพลินดี
ตลอดการสัมภาษณ์ บรรยากาศในตัวบ้านมีลมพัดเอื่อยตลอดเวลา เย็นสบายแม้จะมีแดดส่องเล็กน้อย นอกเหนือจากนั้นคือเสียงกรุ๊งกริ๊งแว่ว ๆ ที่ดังคลอไม่ต่างจากเสียงดนตรีประกอบโดยธรรมชาติ อาจารย์โรจน์จึงพาเราไปชมที่มาของเสียง นอกหน้าต่างเป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่พอดีกับมุมหน้าต่าง นั่นคือองค์หลวงพ่อโต ที่ฉัตรแขวนกระดิ่งไว้ เมื่อมีลมพัดจึงเกิดเสียงกรุ๊งกริ๊งน่าฟัง “จริงๆ ไม่ต้องมีโต๊ะหมู่ก็ได้ เอากระถางธูปมาวางไหว้ตรงนี้ก็ได้เหมือนกัน” อาจารย์โรจน์พูดติดตลก
พระพุทธรูปนอกบานหน้าต่างองค์นี้ สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) นี่เป็นพระพุทธรูปปางอุ้มบาตรที่สูงที่สุดในโลก “เมื่อก่อนตรงนั้นคือวัดบางขุนพรหม ซึ่งวัดบางขุนพรหมจะรวมวัดอินทรวิหารกับวัดใหม่อมตรส แต่พอตัดถนนวิสุทธิกษัตริย์ผ่าน วัดก็เลยแยกออกเป็นสองวัด เป็นเหตุให้วัดใหม่อมตรสมีขนาดเล็ก เนื่องจากถูกแบ่งแยกจากการสร้างถนน” อาจารย์โรจน์ชี้ให้ดูบริเวณที่วัดตั้งอยู่จากมุมหน้าต่าง
หลังคาเรือนแห่งนี้เป็นทรงปั้นหยา ไม่มีหน้าจั่ว มุงด้วยกระเบื้องว่าว ซึ่งกระเบื้องว่าวนี้คือกระเบื้องที่นิยมใช้กันในยุครัชกาลที่ 5-6 สมัยก่อนกระเบื้องว่าวจะทำมือโดยการใช้ปูนผสม จึงมีน้ำหนักเบา แต่น่าเสียดายที่ปัจจุบันหาไม่ได้แล้ว เพราะเขาใช้เครื่องจักรทำ จึงทำให้กระเบื้องมีน้ำหนักมาก
ด้วยความที่กระเบื้องมีการทรุดโทรมไปตามกาลเวลา อาจารย์โรจน์จึงคิดอยากซ่อมแซมด้วยการหากระเบื้องว่าวมาทดแทนอันเก่าที่เสียหาย หาจนเจอแหล่งที่เขาผลิตได้ แต่น้ำหนักกระเบื้องตกประมาณแผ่นละ 1 โล 2 ขีด ซึ่งน้ำหนักมากขนาดนี้ตัวบ้านรับไม่ไหวแน่นอน อาจารย์จึงขอให้เขาลดน้ำหนักลงจนได้สุดๆ คือแผ่นละ 8 ขีด ในที่สุดอาจารย์จึงสามารถรีโนเวตหลังคาเรือนทั้งสามหลังได้ โดยพยายามสั่งทำกระเบื้องให้คงสภาพเดิมมากที่สุด ทั้งรูปทรงเดิม ขนาดเดิม สีสันเดิม เรียกได้ว่าทุ่มเทมาก จนเป็นที่มาของภาพวิวย้อนยุคที่เมื่อยืนมองจากมุมนี้แล้ว แทบดูไม่ออกเลยว่าเรากำลังอยู่ ณ กลางกรุงปี 2565
บทส่งท้าย : ยินดีที่ได้พบ
สำหรับเรา บ้านบานเย็นคือเรื่องเล่าขานที่ปรากฏตัวในรูปแบบของรูปธรรม เรือนทั้งสามหลังต่างทำหน้าที่บอกเล่าวิถีชีวิตของผู้เป็นเจ้าของในอดีตได้เป็นอย่างดี ครั้นถึงคราวจบบทสัมภาษณ์ อาจารย์โรจน์ก็ไม่ลืมทิ้งท้ายด้วยการเชิญชวนผู้คนที่สนใจในเรื่องราวของประวัติศาสตร์ให้แวะมาเยี่ยมชมบ้านบานเย็นแห่งนี้ สถานที่ที่คลอเคล้าไปด้วยกลิ่นอายและเรื่องเล่าแห่งวันวาน
ด้วยความอยากให้คุณได้เห็นในสิ่งที่เราเห็น ได้ฟังในสิ่งที่เราได้ยิน
เป็นอีกหนึ่งวันที่ผ่านไปอย่างอิ่มเอมมากเลย
ขอขอบพระคุณ
รองศาสตราจารย์โรจน์ คุณอเนก ทายาทรุ่นที่ 5 แห่งบ้านบานเย็น
ช่องทางติดต่อ Facebook: บ้านบานเย็น – Baan Baanyen (กรุณานัดหมายล่วงหน้าก่อนเยี่ยมชม)
Writer
นักเขียนอิสระที่ถนัดด้านการจิบกาแฟ เล่นหมา เลี้ยงแมว และถ่ายทอดสิ่งที่บังเอิญพบผ่านลงบนหน้ากระดาษอิเล็กทรอนิกส์
Photographer
พื้นที่ถ่ายทอดทุกเรื่องราวอันงดงามด้วยศิลปะแห่งการเรียงร้อยเนื้อหา สร้างสรรค์ทุกชิ้นงานด้วยสุนทรียะ