ฮอยอัน หรือ โห่ยอาน (Hội An) ตามสำเนียงเวียดนามแท้ ๆ ปัจจุบันเป็นเมืองขนาดเล็กริมฝั่งทะเลในจังหวัดกว่างนาม (Quảng Nam) บริเวณตอนกลางของเวียดนาม ทว่าเมืองเล็ก ๆ ดังกล่าวแห่งนี้ เมื่อครั้งอดีตเคยเป็นเมืองท่าการค้าที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นศูนย์กลางการค้าที่เชื่อมต่อกับเอเชียตะวันออก ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลี

          คำว่า ฮอยอัน ในภาษาเวียดนาม แปลว่า สถานที่พบปะอันสงบ (peaceful meeting place) สำหรับชาวตะวันตกแล้วจะรู้จักเมืองดังกล่าวในชื่อว่า ไฟโฟ (Faifo) ซึ่งมาจากคำว่า โห่ย อาน โฟ้ (Hội An phố) ในภาษาเวียดนาม ต่อมาถูกเรียกสั้น ๆ ว่า โห่ย โฟ้ Hội phố และได้เพี้ยนเสียงมาเป็น ไฟโฟ (Faifo) หากย้อนกลับไปเมื่อครั้งอดีตในสมัยอาณาจักรจามปา (Champa) เมืองฮอยอันมีชื่อเรียกว่า เลิม เอิ๊บ โฟ้ (Lâm Ấp phố)

          ราวคริสต์ศตวรรษที่ 10 ดินแดนเวียดนามปัจจุบันถูกปกครองโดย 2 อาณาจักร คือ อาณาจักรดั่ยเหวียต (Đại Việt) ปกครองบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำแดง (Red River Delta) ทางตอนเหนือ และอาณาจักรจามปา (Champa) ซึ่งปกครองบริเวณภาคกลางและภาคใต้ บริเวณจังหวัดกว๋างนามในปัจจุบัน แต่เดิมอยู่ภายใต้การปกครองของจาม กระทั่งราวคริสต์ศตวรรษที่ 15 จึงถูกชาวเวียดนามเข้ายึดครอง โดยใน ค.ศ. 1471 จักรพรรดิ เล แถง ตง (Lê Thánh Tông) แห่งอาณาจักรดั่ยเหวียตผนวกอาณาจักรจามปา เมืองฮอยอันจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของเวียดนามและเป็นเมืองเอกของกว๋างนามนับแต่นั้นมา

          ค.ศ. 1535 อันโตนีโอ เด ฟาเรีย (António de Faria) นักเดินเรือชาวโปรตุเกสเดินทางจากดานัง (Da Nang) เพื่อที่จะมาตั้งศูนย์กลางการค้ายัง ไฟโฟ (Faifo) ซึ่งเป็นหมู่บ้านริมทะเล

          ราวคริสต์ศตวรรษที่ 16 อำนาจจักรพรรดิราชวงศ์เล (Lê Dynasty) ตกต่ำลง อำนาจการปกครองตกอยู่ภายใต้การควบคุมของตระกูลใหญ่ 3 ตระกูล ได้แก่ ตระกูลเหงวียน (Nguyễn) ตระกูล หมัก (Mạc) และตระกูล จิ่งห์ (Trịnh) ค.ศ. 1546 จิ่งห์ เกี๋ยม (Trịnh Kiểm) ควบคุมอำนาจในราชสำนักเล ต่อมาใน ค.ศ. 1556 ได้ส่งขุนพลเหงวียนหว่าง (Nguyễn Hoàng) ยกทัพบุกลงใต้ ทว่าเหวียนหว่างค่อย ๆ ตีตัวออกห่างจาก จิ่งห์ เกี๋ยม อย่างช้า ๆ และตั้งตนเป็นใหญ่อยู่ทางตอนใต้ ต่อมาทายาทของเหงวียนหว่างได้สถาปนาแว่นแคว้นใหม่นามว่า ด่าง จอง (Đàng Trong) เรียกตนเองว่าเป็นผู้ปกครองตระกูลเหงวียน (Nguyễn) และตั้งเมืองหลวงอยู่ที่ ฝู ซวน (Phú Xuân) (3)

          ช่วงเวลาที่ผู้ปกครองตระกูลเหงวียนสถาปนาอำนาจของตนนั้น ตรงกับช่วงที่เรียกว่า “ยุคแห่งการค้า” (age of commerce) ที่มีการบุกเบิกเส้นทางการค้าทางทะเลทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยตระกูลเหงวียนนั้นให้ความสำคัญต่อการค้าเมื่อเทียบกับผู้ปกครองตระกูลจิ่งห์ (Trịnh) ที่ปกครองดินแดนตอนเหนือ จึงมีการพัฒนาเมืองฮอยอันเพื่อต้อนรับพ่อค้าจากชาติต่าง ๆ ส่งผลให้เมืองฮอยอันเจริญรุ่งเรืองและกลายเป็นเมืองท่าการค้าที่สำคัญในทะเลจีนใต้

          กัปตันวิลเลียม อดัมส์ (William Adams) นักเดินเรือชาวอังกฤษและคนสนิทของโชกุนโตกุงาวะ อิเอยาสึ (Tokugawa Ieyasu) เคยเดินทางมาค้าขายที่เมืองฮอยอันเมื่อ ค.ศ. 1617 โดยเรือสินค้าตราแดง (Red Seal Ship) (8)

          ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 16 พ่อค้าชาวญี่ปุ่นเริ่มเข้ามาอาศัยอยู่ที่เมืองฮอยอันและตั้งชุมชนของตนเอง ค.ศ. 1593 พ่อค้ากลุ่มหนึ่งเริ่มต้นสร้างสะพานเพื่อข้ามแม่น้ำทูโบ่น (Thu Bon River) โดยใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 2 ปี แล้วเสร็จเมื่อ ค.ศ. 1595 ทำให้สามารถเชื่อมการติดต่อกับชุมชนชาวจีนที่อยู่อีกฝั่งของแม่น้ำ สะพานดังกล่าวรู้จักกันในชื่อว่า “สะพานญี่ปุ่น” หรือ “จั่ว เกิ่ว” (Chùa Cầu) ในภาษาเวียดนาม

สะพานญี่ปุ่น

          ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17 ฮอยอันกลายเป็นเมืองท่าการค้าที่มีชื่อเสียงสำหรับญี่ปุ่น ระหว่างต้นคริสต์ทศวรรษ 1600 ถึง ค.ศ. 1635 มีเรือสินค้าญี่ปุ่นราว 70 – 86 ลำเดินทางมาค้าขายที่เมืองฮอยอัน โดยสินค้าที่เป็นที่นิยมสำหรับพ่อค้าญี่ปุ่น คือ ผ้าไหมและไม้ นิยมมาซื้อสินค้า กระทั่งเมื่อรัฐบาลญี่ปุ่นห้ามชาวญี่ปุ่นเดินทางออกนอกประเทศและอนุญาตให้เรือสินค้าของจีน เกาหลี และดัตช์เท่านั้นที่สามารถเดินทางไปค้าขายยังญี่ปุ่นได้ ส่งผลให้ชุมชนชาวญี่ปุ่นในเมืองฮอยอันค่อย ๆ เสื่อมโทรมลง ขณะที่ชุมชนชาวจีนในเมืองฮอยอันค่อย ๆ ขยายตัวอันเนื่องมาจากการหลบหนีออกจากแผ่นดินจีนมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของผู้ที่ภักดีต่อราชวงศ์หมิง ภายหลังจากที่ราชวงศ์หมิงล่มสลายลงใน ค.ศ. 1644

          คริสต์ศตวรรษที่ 18 เมืองฮอยอันเจริญรุ่งเรืองเป็นเมืองท่าการค้าที่สำคัญระหว่างยุโรปกับจีน อินเดีย และญี่ปุ่น โดยเฉพาะการค้าเครื่องเคลือบ จากหลักฐานทางโบราณคดีพบว่าเครื่องเคลือบเวียดนามและเอเชียจากเมืองท่าฮอยอันได้รับการบรรทุกไปค้าขายไกลถึงอียิปต์ อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา พ่อค้าชาวยุโรปเริ่มเดินทางไปทำการค้าที่ดานังแทนที่เมืองฮอยอัน เนื่องมาจากบริเวณท่าเรือเริ่มตื้นเขินและการสนับสนุนของผู้ปกครองตระกูลเหงวียน ทำให้เมื่อเข้าสู่ช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 เมืองดานังกลายมาเป็นเมืองท่าการค้าที่สำคัญของเวียดนามแทนที่เมืองฮอยอัน ซึ่งเป็นบริเวณท่าเรือน้ำลึกที่เหมาะสมต่อการเดินเรือขนาดใหญ่ของพ่อค้ายุโรป และเมืองฮอยอันก็หมดความสำคัญในฐานะเมืองท่าการค้านับแต่นั้นมา

ที่มา

  1. Chen, Chingho. (1974). Historical Notes on Hội-An (Faifo). Carbondale, Illinois: Center for Vietnamese Studies, Southern Illinois University at Carbondale.
  2. Looram, Charlotte P. (2016). Living and Trading in Hoi An: the Development of a Nguyen Port in the Seventeenth and Eighteenth Centuries. Master of Maritime Archaeology, Department of Archaeology, Flinders University.
  3. Li, Tana. (1998). Nguyễn Cochinchina: Southern Vietnam in the Seventeenth and Eighteenth Centuries. Studies on Southeast Asia no. 23. Southeast Asia Program Publications, Ithaca, New York.
  4. Reid, Anthony. (1993). Southeast Asia in the Age of Commerce, 1450–1680, Volume Two: Expansion and Crisis. New Haven, Connecticut: Yale University Press.
  5. Vu, Minh Giang. (2011). The Japanese Presence in Hoi An. In Ancient Town of Hoi An, edited by National Committee for the International Symposium on the Ancient Town of Hoi An, pp. 191–200. The Gioi Publishers, Vietnam. 13. Li Tana (1998). Nguyen Cochinchina p. 69.

Writer

Photographer