เมื่ออากาศเย็นอันน้อยนิดช่วงต้นปีโบกมือร่ำลา แทนที่ด้วยลมร้อน ๆ อุณหภูมิสามสิบกว่า ๆ เกือบสี่สิบ ก็ทำให้เรารู้ได้ทันทีว่า “เทศกาลสงกรานต์” ใกล้เข้ามาเต็มทีแล้ว พอมานั่งนึกดู หากฝรั่งกินไก่งวงและเค้กขอนไม้ในช่วงคริสต์มาส คนจีนทำขนมไหว้พระจันทร์ในวันไหว้พระจันทร์ แล้วคนไทยล่ะ ทำอะไรกินกันในวันสงกรานต์ ???

          ก่อนจะเข้าเรื่องของกิน ก็ขอกล่าวถึงข้อมูลของวันสงกรานต์พอเป็นพิธีเสียก่อน “สงกรานต์” (สงฺกฺรานฺติ) เป็นคำที่มาจากภาษาสันสกฤต มีความหมายตามรูปศัพท์ว่า การเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์หรือดาวนพเคราะห์จากราศีหนึ่งไปสู่อีกราศีหนึ่ง วันที่ 13 เมษายน เป็นวันที่ดวงอาทิตย์เริ่มจะเคลื่อนเข้าราศีเมษ เราจึงเรียกวันนี้ว่า “วันมหาสงกรานต์” วันที่ 14 ดวงอาทิตย์กำลังอยู่ตรงกลางระหว่างสองราศี จึงเรียกวันนี้ว่า “วันเนา” อาจเพราะ คำว่า เนา มีความหมายว่า อยู่ และวันที่ 15 ดวงอาทิตย์เคลื่อนเข้าราศีเมษไปแล้วเรียบร้อย นับเป็นวันปีใหม่ตามการคำนวณปฏิทินแบบสุริยคติ เราจึงเรียกวันนี้ว่า “วันเถลิงศก

          ความเป็นมาของวันสงกรานต์ มีเรื่องเล่าประกอบกล่าวถึงไว้ใน “จารึกเรื่องมหาสงกรานต์ ในวัดพระเชตุพน” ที่ติดไว้บริเวณศาลาล้อมพระมณฑปทิศเหนือ

วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์)
ทางเข้าไปยังบริเวณพระมณฑป

          จารึกเรื่องมหาสงกรานต์ มีจำนวน 7 แผ่น ปัจจุบันชำรุดสูญหายไปหมดแล้ว อย่างไรก็ตาม เนื้อความในจารึกดังกล่าวยังเหลือรอดมาปรากฏอยู่ในหนังสือ “ประชุมจารึกวัดพระเชตุพน” สันนิษฐานว่า บรรดานักปราชญ์ ราชบัณฑิตในยุคสมัยนั้นได้คัดลอกเก็บเอาไว้

จารึกที่ยังหลงเหลืออยู่บริเวณศาลาทิศพระมณฑป บันทึก “โคลงโลกนิติ” ของกรมพระยาเดชาดิศร
จารึกบริเวณพระระเบียงล้อมเจดีย์สี่รัชกาล บันทึกความรู้เกี่ยวกับแพทย์แผนไทย
จารึกบริเวณพระระเบียงล้อมเจดีย์สี่รัชกาล บันทึกความรู้เกี่ยวกับแพทย์แผนไทย

          จารึกเรื่องมหาสงกรานต์ มีที่มาจาก “พระบาลีฝ่ายรามัญ” เล่าเรื่องท้าวกบิลพรหม ท้าธรรมบาลกุมาร ให้ตอบปัญหา 3 ข้อ ภายใน 7 วัน หากธรรมบาลกุมารตอบได้ ท้าวกบิลพรหมจะตัดศีรษะตนเองบูชาธรรมบาลกุมาร แต่หากตอบไม่ได้ธรรมบาลกุมารก็ต้องเสียศีรษะของตนด้วยเช่นเดียวกัน เวลาผ่านไป 6 วัน ธรรมบาลกุมารก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ จึงไปนอนอยู่บริเวณใต้ต้นตาล แต่ด้วยธรรมบาลกุมารมีทักษะด้านการฟังภาษานกรู้เรื่อง จึงได้ฟังอินทรีคู่รักที่ทำรังอยู่บนต้นตาลคุยกันเรื่องปริศนาคำถามของท้าวกบิลพรหม ฝ่ายนกอินทรีตัวผู้นั้นรู้คำตอบ จึงเล่าให้นกอินทรีตัวเมียฟัง ธรรมบาลกุมารได้ยินคำตอบก็ดีใจ เอาไปตอบท้าวกบิลพรหม

          ท้าวกบิลพรหมได้ฟังคำตอบก็จำต้องตัดศีรษะของตนตามข้อตกลง จึงตรัสเรียกพระธิดาทั้ง 7 คือ นางทุงษ นางรากษ นางโคระ นางมณฑากิณี นางมณฑา นางมิศระ และนางมโหธร เอาพานมารองรับเศียร เนื่องจากเศียรของท้าวกบิลพรหม หากตกลงบนพื้นก็จะเกิดเป็นไฟไหม้ล้างโลก หากโยนขึ้นบนอากาศก็จะทำให้ฝนไม่ตก หรือถ้าโยนลงมหาสมุทร ก็จะทำให้น้ำเหือดแห้งไปจนหมด

          เมื่อนางทุงษได้รับเศียรพระบิดาแล้ว ก็นำมาแห่รอบเขาพระสุเมรุเป็นเวลา 60 นาที จากนั้นก็เอาไป เก็บไว้ที่ถ้ำคันทชุลีในเขาไกรลาศ เมื่อครบกำหนด 365 วัน ธิดาทั้ง 7 ก็จะสลับคิวกันมาเชิญเศียรท้าวกบิลพรหมออกแห่ ปีไหนถึงคิวธิดาคนไหน ก็จะนับว่านางผู้นั้นเป็น “นางสงกรานต์” ประจำปี

          พระยาศรีธรรมราช (ทองคำ กาญจนโชติ) ได้ให้ข้อคิดเห็นว่า ความในจารึกเรื่องนี้เป็นนิทานที่ชาวมอญเอาเรื่องท้าวกบิลพรหม ไปผสมผสานกับหลักการคำนวณดวงดาว เพื่อเป็นอุบายให้ชาวมอญที่ใช้ปฏิทินแบบจันทรคติมาก่อน เกิดความเข้าใจปฏิทินแบบสุริยคติได้ง่ายดายมากขึ้น

          นอกจากจารึกเรื่องมหาสงกรานต์ จะอธิบายความเป็นมาของวันสงกรานต์และนางสงกรานต์ไว้อย่างแจ่มแจ้งแล้ว เนื้อความบางส่วนยังทำให้สันนิษฐานไปถึงที่มาของเมนูประจำเทศกาลสงกรานต์ได้อีกด้วย จารึกแผ่นที่ 2 กล่าวว่า ก่อนธรรมบาลกุมารจะเกิด บิดามารดานั้นมีบุตรยาก ทั้งสองจึงไปขอบุตรกับพระไทร โดย “เอาเข้าสารล้างน้ำ 7 ครั้ง แล้วหุงขึ้นบูชารุกขพระไทรพร้อมด้วยสูปพยัญชนาหาร” หากใครคร่ำหวอดอยู่ในวงการอาหารไทย หรือเข้าครัวเพื่อเป็นลูกมือคุณย่าคุณยายอยู่เป็นประจำ ก็จะเห็นได้ว่า การนำข้าวไปล้างน้ำหลาย ๆ ครั้ง จนข้าวหมดยางแล้วนำมาหุง คือ ขั้นตอนอย่างหนึ่งของการทำ “ข้าวแช่” ซึ่งเป็นอาหารประจำฤดูร้อนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ของไทยนั่นเอง

          หากไม่มีข้าวแช่บูชาพระไทร ธรรมบาลกุมารก็คงไม่ได้เกิด และเมื่อไม่มีธรรมบาลกุมาร ก็คงไม่มีการผลัดเปลี่ยนเวรกันเพื่อแห่เศียรท้าวกบิลพรหม อาจกล่าวได้ว่า ข้าวสำรับนี้เป็นต้นกำเนิดของเทศกาลสงกรานต์โดยแท้ทีเดียว

          ว่าแล้วก็ย้ายจากวัดพระเชตุพนฯ ไปแถว ๆ ราชดำเนิน เข้าไปในซอยดำเนินกลางใต้ มองหาบ้านโบราณที่ดูทรงแล้วต้องมีอายุร้อยกว่าปีขึ้นไป ทาสีไข่ ประตูหน้าต่างประดับด้วยไม้ฉลุลายขนมปังขิง ชื่อ “บ้านวรรณโกวิท” สถานที่แห่งนี้ นอกจากจะเป็นบ้านของทายาทพระยานรราชจำนง (มา วรรณโกวิท) ยังเป็นร้านอาหารที่มีข้าวแช่อันเลื่องชื่อไว้ให้ลองชิมอีกด้วย

บ้านวรรณโกวิท

          ข้าวแช่ เป็นวัฒนธรรมการกินของชาวมอญที่แพร่หลายในสังคมสยาม เป็นทั้งอาหารที่ใช้ถวายพระสงฆ์ และรับประทานกันเองในช่วงเทศกาลสงกรานต์ องค์ประกอบที่สำคัญของข้าวแช่ก็คือ ข้าวสวยที่ล้างยางออกจนหมด หุงสุก “แช่” ในน้ำลอยดอกไม้ ส่วน “กับ” ก็จะแตกต่างกันออกไปตามสูตรของแต่ละวัง แต่ละบ้าน แต่ละท้องถิ่น

ข้าวแช่ “บ้านวรรณโกวิท”

          กับของข้าวแช่ไทยอย่างในภาพ ประกอบไปด้วย ไชโป๊ผัดหวาน ลูกกะปิชุบไข่ทอด หมูฝอย เนื้อปลาผัดหวาน จะเป็นปลากระเบนหรือปลายี่สกก็ตามสะดวก พริกหยวกสอดไส้กุ้งห่อไข่ กินแกล้มกับแตงกวาและกระชายที่สลักเป็นใบไม้ ดอกไม้

ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
ที่มา : หนังสือกับข้าวสอนลูกหลาน กับ ผลไม้ ของว่าง และขนม ของท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร

          ข้าวแช่ไทยบางสูตรก็อาจจะมีรายละเอียดต่างไปจากนี้ เช่น สูตรท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร จะต้องมี หัวผักกาดเค็ม ไข่เค็มทอด หัวหอมแดงยัดไส้กุ้ง และปลากุเลาชุบไข่ทอด เพิ่มเติมเข้ามาด้วย เช่นเดียวกัน ข้าวแช่มอญ ก็ต้องไม่เหมือนข้าวแช่ไทย สำรับข้าวแช่มอญ (แถบ ๆ ปทุมธานี) จะไม่มีพริกหยวกหรือหัวหอมแดงสอดไส้ แต่อาจจะมีปลาป่นคลุกน้ำตาล หรือกระเทียมดองผัด เข้ามาทดแทน

หนังสือพระราชนิพนธ์ “พระราชพิธีสิบสองเดือน”

          เอกสารโบราณที่กล่าวถึงความสำคัญของข้าวแช่ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ มีให้อ่านอยู่หลายเรื่อง เช่น “พระราชพิธีสิบสองเดือน” พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กล่าวถึง ธรรมเนียมในวันที่ 13 เมษายน ที่พระมหากษัตริย์ถวายข้าวแช่แก่พระสงฆ์เพื่อเป็นพระราชกุศล และในวันที่ 15 เมษายน ช่วงกลางวัน ก็จะทรง “เลี้ยงโต๊ะข้าวแช่” บรรดาพระบรมวงศานุวงศ์

          ใน “สาสน์สมเด็จ” ลายพระหัตถ์ฉบับวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2481 ของสมเด็จกรมพระยาดำรง ราชานุภาพ ถึงสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ก็กล่าวถึง การเลี้ยงข้าวแช่ในเดือนเมษายน ซึ่งก็เป็นกิจกรรมที่สำคัญแม้ว่าจะประทับอยู่ไกลถึงพระตำหนักซินนามอน เมืองปีนัง ก็ตาม

          จากเอกสารต่าง ๆ จะเห็นได้ว่า การรับประทานข้าวแช่ช่วงสงกรานต์และในฤดูร้อนนั้น เป็นเสมือนธรรมเนียมปฏิบัติของคนไทยสมัยก่อนที่จะปล่อยให้ขาดพร่องไปเสียมิได้ เพราะกรรมวิธีที่ซับซ้อนของการปรุงข้าวแช่ ทำให้เมนูนี้ไม่สามารถจะทำกินกันได้บ่อย ๆ ช่วงสงกรานต์จึงเป็นเวลาที่เหมาะเจาะที่สุด ที่ทุกคนในครัวเรือนจะได้ร่วมแรงกันทำของอร่อย ๆ กินดับร้อน และยังสามารถนำข้าวแช่ซึ่งเป็นเมนูสุดประณีต ไปถวายพระสงฆ์เพื่อเสริมสิริมงคลในวันปีใหม่ไทยได้อีกด้วย

          ประวัติศาสตร์สามารถอธิบายความเป็นมาของอาหาร ได้พอ ๆ กับที่อาหารทำหน้าที่อธิบายบริบททางประวัติศาสตร์ “กำเนิดสงกรานต์ในจานข้าวแช่” จึงทำให้เราได้เห็นแง่มุมของสงกรานต์ ที่ลึกซึ้งมากไปกว่า การฉีดน้ำ ประแป้ง ทั้งยังทำให้เราเข้าใจความเลื่อนไหลทางวัฒนธรรมระหว่างไทยกับชนชาติเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้เป็นอย่างดี

เอกสารอ้างอิง

  • กลีบ มหิธร, ท่านผู้หญิง. (2504). หนังสือกับข้าวสอนลูกหลาน กับผลไม้ ของว่าง และขนม. ม.ป.ท.: โรงพิมพ์ คุรุสภา.
  • จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. (2511). พระราชพิธีสิบสองเดือน. พิมพ์ครั้งที่ 2. พระนคร: ศิลปาบรรณาคาร.
  • บวรบรรณรักษ์, ร้อยเอก หลวง. (2552). สํสกฤต – ไท – อังกฤษ อภิธาน. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ: แสงดาว.
  • ประชุมจารึกวัดพระเชตุพน เล่ม 1 จำพวกความเรียง. (2472). ม.ป.ท.: โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร.
  • ศรีธรรมราช, พระยา. (2496). เกล็ดพระพุทธศาสนา พงษาวดารมอญ สุภาษิตกฎหมาย. พระนคร: โรงพิมพ์ประเสริฐอักษร.
  • สาส์นสมเด็จ ภาค 5. (2499). พระนคร: คลังวิทยา.

Writer & Photographer