“กำแพงรอบขอบคูก็ดูลึก ไม่น่าศึกอ้ายพม่าจะมาได้” เป็นคำประพันธ์บางส่วนจากนิราศพระบาท ของสุนทรภู่ ที่กล่าวถึงแนวกำแพงและคูเมืองของกรุงศรีอยุธยา และแสดงให้เห็นว่า หน้าที่หลักของคูเมืองคือการเป็นเครื่องป้องกันการบุกรุกของศัตรูต่างแดนมิให้ล่วงล้ำเข้ามาในเขตเมืองได้โดยง่าย

ภาพคูเมืองเดิมหลังวัดราชบพิธฯ สมัยรัชกาลที่ 5
จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ รหัสเอกสาร : หวญ 43/15

          แต่เมื่อไม่มีศึกสงคราม ประกอบกับบ้านเมืองเริ่มเข้าสู่สมัยใหม่ อาณาเขตของ ความเป็นเมืองก็ยิ่งขยายตัวกว้างขวางมากขึ้นกว่าเดิมหลายเท่า คูเมืองเดิม ในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงกลายเป็นเพียงเส้นทางสำหรับสัญจรทางน้ำ ในขณะที่พื้นที่และสิ่งปลูกสร้างบริเวณคูเมืองก็เริ่มเกิดความเปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นเดียวกัน

          บริเวณคูเมืองเดิมกับความเป็นเมืองในสมัยรัชกาลที่ 5 จะมีความน่าสนใจอย่างไร ก็ขอชวนมาเริ่มผูกเชือกรองเท้าให้แน่น ๆ และตั้งต้นกันที่ย่าน “สามแพร่ง”

          คำว่า แพร่ง หมายถึงทางแยก ดังนั้น 3 แพร่ง จึงหมายถึงถนน 3 สาย ที่ตัดขนานกันโดยเชื่อมอยู่กับถนนอัษฎางค์ที่ตัดเลียบคูเมืองเดิม บริเวณนี้เดิมทีเป็นวังเจ้า 3 พระองค์ แต่เมื่อกรุงเทพฯ เริ่มกลายเป็นเมืองที่มีความเจริญเติบโตมากยิ่งขึ้น พื้นที่ตรงนี้ก็เริ่มเกิดเปลี่ยนแปลงจากที่ประทับของเจ้านาย ไปสู่การเป็นย่านชุมชน การค้า และความบันเทิง

ตึกแถวถนนแพร่งภูธร

          เมื่อกรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์สิ้นพระชนม์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงซื้อที่ดินวังของกรมหมื่นฯ มาสร้างเป็นตึกแถวให้ผู้คนได้อยู่กันอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย เพราะการตั้งตึกแถวในแถบนี้เป็นพระราชดำริของ ร.5 ที่“ทรงตั้งพระราชหฤทัยจะทำนุบำรุง แลตกแต่งพระนครให้งดงามสอาดสมเปนนครราชธานี” วังของกรมหมื่นฯ จึงกลายเป็นย่านชุมชน จนใคร ๆ ก็เรียกพื้นที่ส่วนนี้ว่า “แพร่งภูธร” ตามพระนามของเจ้าของวังแต่เดิม

ประตูวังสรรพศาสตร์ เป็นสิ่งก่อสร้างเดียวที่ยังหลงเหลือมาตั้งแต่บริเวณนี้ยังเป็นวัง

          ส่วนวังของกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ และวังของกรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ เจ้าของวังได้ทรงมีความคิดที่จะแบ่งพื้นที่บางส่วนของวัง สร้างเป็นตึกแถวให้คนมาเช่าอยู่เพื่อเป็นรายได้ส่วนพระองค์ พื้นที่บางส่วนบริเวณวังของเจ้านายทั้ง 2 พระองค์ จึงกลายมาเป็น “แพร่งนรา” และ “แพร่งสรรพศาสตร์” นอกจากจะเป็นที่อยู่อาศัยของคนกรุง ตึกแถวบริเวณสามแพร่งยังเป็นย่านการค้าที่มีความสำคัญ เพราะเป็นย่านที่พ่อค้าวาณิชทั้งชาวไทยและต่างชาติ ได้ทยอยเข้ามาเปิดห้างร้าน และทำมาค้าขายกันอย่างคึกคัก เนื่องจากทำเลของสามแพร่งนั้น อยู่ใกล้กับพระบรมมหาราชวัง มีคูเมืองเดิมเป็นเส้นทางสัญจรทางน้ำที่สะดวก และมีถนนสายสำคัญที่ทางราชการตัดขึ้นมาให้ใหม่พาดผ่าน ลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูงจากในวังจึงแวะเวียนมาจับจ่ายอย่างไม่ขาดสาย

ตำหนักบางส่วนที่ยังหลงเหลือของวังกรมพระนราฯ
หลังจากเจ้านายราชสกุลวรวรรณมิได้ประทับที่นี่ ตำหนักนี้ก็กลายมาเป็นโรงเรียน และสำนักทนายความ จนกระทั่งถูกทิ้งร้างอย่างที่เห็นในปัจจุบัน

          อย่างไรก็ดี แพร่งนรามีความพิเศษกว่าแพร่งอื่น ๆ เนื่องจากเป็นที่ตั้งของ “โรงละครปรีดาลัย” โรงละครโรงแรก ๆ ของสยาม ซึ่งตั้งอยู่ภายในอาณาเขตของวังกรมพระนราธิปฯ สถานที่ให้ความสำเริงอารมณ์แห่งนี้ นับว่าเป็นความหรูหราของสยามในยุคนั้นก็ว่าได้ เพราะพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมวงศานุวงศ์ ขุนน้ำขุนนาง หรือแม้แต่เจ้าเมืองต่างประเทศ ก็ล้วนมาดูละครกรมพระนราธิปฯ ที่นี่ทั้งนั้น ปรีดาลัย จึงเป็นสถานที่ให้ความบันเทิงที่ตอบสนองกับความเป็นเมืองสมัยใหม่ และเป็นสถานที่ไว้สำหรับอวดความเจริญของกรุงเทพฯ ให้กับบรรดาเจ้าใหญ่นายโตต่างถิ่น

          โรงละครแห่งนี้เจริญรุ่งเรืองเรื่อยมา จนกระทั่งกรมพระนราธิปฯ สิ้นพระชนม์ และวัฒนธรรมการเสพความบันเทิงทางสายตาเปลี่ยนแปลงไปสู่รูปแบบของการชมภาพยนตร์ ชีพจรของปรีดาลัยจึงหยุดเต้นถาวรไปในราวสมัยรัชกาลที่ 7

ตึกแถวในถนนแพร่งนรา

          แม้ในปัจจุบัน “สามแพร่ง” จะไม่ได้เป็นย่านการค้าและความบันเทิงที่คึกคักเหมือนอย่างเมื่อก่อน แต่พื้นที่ตรงนี้ก็ยังคงเป็นย่านชุมชนสุดคลาสสิก ที่เต็มไปด้วยร้านอร่อยเก่าแก่มาชุมนุมกันอยู่อย่างพร้อมเพรียง หากผู้ใดมีจิตวิญญาณของนักชิม ก็ไม่ควรจะพลาดการมาเยือนสามแพร่งด้วยประการทั้งปวง

          ก้าวเท้าฉับ ๆ จากสามแพร่งมาที่ริมคูเมือง ก็จะพบกับสะพานสำคัญซึ่งพาดเชื่อมระหว่างถนนอัษฎางค์กับถนนราชินี “สะพานช้างโรงสี” เป็นสะพานที่ชื่อเรียกดูจะไม่ค่อยตรงกันกับภาพที่เห็น เนื่องจากสะพานดังกล่าวมีชื่อเป็น “ช้าง” แต่หัวสะพานกลับตกแต่งด้วยประติมากรรมรูป “หมา”

ภาพสะพานช้างโรงสีในอดีต
จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ รหัสเอกสาร : ภ 002 หวญ 52/73

          สันนิษฐานว่า สะพานช้างโรงสีน่าจะมีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 ดังที่ปรากฏใน พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ฉบับเจ้าพระยาทิพพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) ซึ่งกล่าวถึงการตั้งโรงทานในงานสมโภชพระแก้วมรกต ว่า “พระยาศรีธรรมาธิราช ตั้งโรง 1 ที่สะพานช้างโรงสี” คำว่าสะพานช้าง เป็นศัพท์โบราณ หมายถึงสะพานที่แข็งแรงจนสามารถให้ช้างเดินข้ามได้ เหตุที่เรียกว่าสะพานช้างโรงสี ก็เพราะพื้นที่ส่วนที่ใกล้กับสะพานนี้เคยเป็นโรงสีมาก่อนนั่นเอง

หัวสะพานช้างโรงสีฝั่งถนนราชินี ระบุชื่อสะพานพร้อมกับปีที่ก่อสร้าง

          ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จกลับมาจากการประพาสเมืองสิงคโปร์ ก็มีพระราชดำริให้ปรับปรุงคูเมืองเดิมในส่วนสะพานช้างโรงสี ทำเขื่อนอิฐ สร้างสะพานขึ้นมาใหม่บางส่วน ตัวสะพานช้างโรงสีเอง ก็ได้ถูกปรับปรุงหลังจากนั้นในช่วงปลายรัชกาล โดยสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงบริจาคพระราชทรัพย์ สำหรับปรับปรุงสะพานจากเดิมที่เป็นซุง ให้กลายเป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก เนื่องในโอกาสเจริญพระชนม์ครบ 4 รอบ

          สะพานช้างโรงสีก่อสร้างแล้วเสร็จในปี ร.ศ. 129 (พ.ศ. 2453) ตรงกับปีจอ และสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ก็ประสูติในปีจอเหมือนกัน หัวสะพานช้างจึงตกแต่งด้วยรูปหมาอย่างที่เราเห็นกันในปัจจุบัน เพื่อแสดงถึงปีที่ก่อสร้างและให้เป็นที่ระลึกถึงน้ำพระทัยของสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ

สะพานปีกุน

          เดินเลียบคูเมืองจากสะพานช้างฯ มาทางกระทรวงมหาดไทย ไปเรื่อย ๆ ก็จะพบกับสะพานอีกแห่งหนึ่ง ที่มีชื่อเป็นสัตว์เช่นเดียวกัน คือ “สะพานปีกุน” สะพานแห่งนี้สร้างโดยพระราชทรัพย์ของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถฯ พระราชินีของรัชกาลที่ 5 ซึ่งประสูติในปีกุน ร่วมกับเจ้านายองค์อื่น ๆ ที่ประสูติในปีกุนเหมือนกับพระองค์ เพื่อใช้แทนที่สะพานไม้ของเดิมที่ทรุดโทรมลงไปมาก

          สะพานทั้ง 2 แห่งที่พาดข้ามคูเมืองเดิม มิได้เป็นสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการคมนาคมที่สร้างขึ้นมาเพื่อขานรับกับการขยายตัวของสังคมเมืองแต่เพียงเท่านั้น สะพานดังกล่าวที่ถูกสร้างขึ้นมาให้สวยงาม คงทน และถาวร ยังมีสถานะเป็นอนุสาวรีย์ ที่แสดงให้เห็นว่า กรุงเทพฯ ไม่ได้เป็นแค่เมืองใหญ่ แต่ยังเป็นเมืองซึ่งเต็มไปด้วยของสวย ๆ งาม ๆ มีคุณค่าในเชิงสถาปัตยกรรม และด้วยความเป็นกึ่งสะพานกึ่งอนุสาวรีย์ สิ่งก่อสร้างเหล่านี้จึงทำหน้าที่เน้นย้ำให้ผู้สัญจรผ่านไปมาได้ตระหนักถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระราชวงศ์ต่อประชาชน ซึ่งไปสอดรับกับแนวทางการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราช ในสมัยนั้นที่กำลังเฟื่องฟูจนถึงขีดสุด

          เชิงสะพานปีกุนด้านถนนอัษฎางค์ ก็มีอนุสาวรีย์อีกรูปแบบหนึ่งที่น่าสนใจ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความงาม ความรัก และความเจริญของเมืองแบบตะวันออกผสมตะวันตก

          “สุสานหลวง วัดราชบพิธฯ” วัดราชบพิธฯ เป็นวัดที่สร้างขึ้นตามราชประเพณีปฏิบัติของพระมหากษัตริย์ ดังที่สมเด็จกรมพระยาดำรงได้ทรงเล่าถึงเรื่องการสร้าง วัดราชบพิธฯ เป็นวัดประจำรัชกาลที่ 5 ไว้ว่า “ประเพณีที่ว่านี้และเป็นคติถือกันมาว่าเมื่อพระเจ้าแผ่นดินเสวยราชย์แล้วต้องสร้างวัดประจำรัชกาลทุกพระองค์”

วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร

          วัดราชบพิธฯ จึงถูกก่อสร้างมาอย่างวิจิตรบรรจง ตามขนบธรรมเนียมในการทำนุบำรุงบ้านเมืองตามคติของไทยโบราณ เพราะความโอ่อ่างดงามของวัด ก็เป็นเครื่องบ่งบอกสถานะของเมืองและบารมีของผู้ครองเมืองได้ในทางหนึ่ง

          อย่างไรก็ตาม ที่ดินของวัดที่อยู่ทางด้านคูเมือง เป็นพื้นที่ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รับสั่งกรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์ เป็นแม่กองควบคุมการสร้าง “สุสานหลวง” โดยหลัก ๆ ให้ก่อพระเจดีย์แบบไทยขึ้นก่อน 4 องค์ คือ สุนันทานุสาวรีย์ รังษีวัฒนา เสาวภาประดิษฐาน สุขุมาลนฤมิตร สำหรับบรรจุพระสรีรางคาร (เถ้ากระดูก) ของพระมเหสีองค์สำคัญ ๆ คือ พระนางเจ้าสุนันทาฯ พระนางเจ้าสว่างวัฒนาฯ สมเด็จพระศรีพัชรินทราฯ (พระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี) และพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรีฯ รวมทั้งบรรดาพระลูก พระหลาน แต่ละสายสกุลแยกกันไปตามแต่ละเจดีย์องค์

เจดีย์รังษีวัฒนา

          นอกจากนั้น เป็นสุสานของพระบรมวงศานุวงศ์ และเจ้าจอมคนอื่น ๆ ความน่าสนใจคือ สุสานหลวงของเจ้านายแต่ละองค์ ถูกออกแบบอย่างวิจิตรและสร้างสรรค์ บ้างเป็นแบบโกธิค บ้างเป็นปราสาทขอม หรือบ้างก็เป็นเสาหินโอเบลิสก์ บางส่วนมีคำจารึกที่แสดงความโศกเศร้าอาลัยถึงผู้วายชนม์

สุสานแบบยุโรป ซ้ายสุดเป็นที่เก็บพระอัฐิของพระราชชายา เจ้าดารารัศมี

          การสร้างสุสานเช่นนี้ไม่ปรากฏมาก่อน สันนิษฐานว่า น่าจะได้รับมาจากการสร้างสุสานในเมืองใหญ่ ๆ ของยุโรป เช่น สุสาน Père Lachaise ที่กรุงปารีส

          สุสานหลวงวัดราชบพิตร จึงเป็นอนุสาวรีย์แสดงถึงความสัมพันธ์และสำคัญของเจ้านายในราชวงศ์ ขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสของผู้สร้างที่จะได้อวดความคิดสร้างสรรค์และฝีมือเชิงช่างแก่สาธารณะ สถานที่แห่งนี้จึงสะท้อนภาพความเจริญของบ้านเมือง ในช่วงที่เริ่มมีการจัดการชีวิตหลังความตายของมนุษย์อย่างเป็นระบบระเบียบมากยิ่งขึ้น

คูเมืองเดิมในปัจจุบัน

         ความเปลี่ยนแปลงที่ไม่หยุดนิ่งและไม่หยุดอยู่ที่มุมใดมุมหนึ่งของกรุงเทพฯ ทำให้พื้นที่ เส้นทาง และสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ เกิดขึ้นใหม่และล้มหายตายจากไปได้ตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม ตลอดแนวคูเมืองเดิมยังมีตึกรามบ้านช่องที่น่าสนใจอีกมาก เกินกว่าที่บทความหนึ่งเรื่องจะพรรณนาได้หมด ดังนั้นหากต้องสัมผัสบรรยากาศเก่า ๆ ก็หาวันว่าง ๆ หยิบร่ม ใส่หมวก ทาครีมกันแดดให้เรียบร้อย แล้วเชิญ “เลียบคูเมืองเดิม” ไปเสาะหาเรื่องราวของกรุงเทพฯ กันได้ตามอัธยาศัย

เอกสารอ้างอิง

  • กรมศิลปากร. (2513). ประวัติวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม พร้อมด้วยแผนผัง ภาพปูชนียวัตถุสถานและถาวรวัตถุ. ม.ป.ท.: ม.ป.พ.
  • กรมศิลปากร. (ม.ป.ป.). รายงานการสำรวจโบราณสถานในกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม 4 ประเภทสะพาน คลองป้อมท่าน้ำ สวนสาธารณะ. กรุงเทพฯ: อรุณการพิมพ์
  • กรมศิลปากร. (ม.ป.ป.). รายงานการสำรวจโบราณสถานในกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม 3 ประเภทวัง ศาลเจ้า อนุสาวรีย์ อาคารร้านค้า. กรุงเทพฯ: สมาพันธุ์.
  • จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ในรัชกาลที่ 5 ปีมะโรง พ.ศ. 2411 – พ.ศ. 2416. (2512). ม.ป.ท.: สำนักนายกรัฐมนตรี.
  • ทิพพากรวงษ์มหาโกษาธิบดี, เจ้าพระยา. (2445). พระราชพงษาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ.
  • ประกาศยกตึกแถวถนนบำรุงเมืองแลถนนเฟื่องนครพระราชทานเจ้าของที่. ราชกิจจานุเบกษา. (2435). ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 9 (240 – 241).
  • ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. (2547). ย่านการค้า “ตะวันตก” แห่งแรกของกรุงเทพ. กรุงเทพฯ: มติชน.

Writer & Photographer