“เกาะหลีเป๊ะ” ธรรมชาติอันผสานรวมกับวิถีชีวิต เกาะทางใต้ที่แฝงไว้ซึ่งกลิ่นอายแห่งชีวิตชีวา
ใครไม่เป๊ะ...หลีเป๊ะ มาเดินเตะคลื่นทะเลด้วยกันที่เกาะสุดสวยในจังหวัดสตูล ทำความรู้จักกับวิถีชีวิตของชาวเลและมนตร์เสน่ห์ของเกาะหลีเป๊ะ
นับจากวันนั้น ไม่น่าเชื่อว่าระยะเวลา 240 ปี ช่างผ่านไปรวดเร็วนัก และด้วยวาระพิเศษครั้งนี้ ทางกระทรวงวัฒนธรรมจึงได้จัดงานเฉลิมฉลองเนื่องด้วยโอกาสฤกษ์ดี ภายใต้ชื่องาน “ใต้ร่มพระบารมี 240 ปีกรุงรัตนโกสินทร์”
ชื่องานสื่อถึงความเป็นไทย สมกับกิจกรรมในงานที่มีทั้งเที่ยววัด ไหว้พระ ยลวัง ซึ่งเราก็เป็นหนึ่งในคนที่สนใจกิจกรรมต่างๆ ที่มีในงาน ตั้งแต่ได้เห็นข่าวสารประชาสัมพันธ์ครั้งแรก เห็นว่ามีให้เที่ยวชมตั้ง 9 โซนรอบพระนคร แต่ถ้าให้เดินทั้งหมดภายในวันเดียวคงไม่ไหว หลังจากนั่งอ่านผังกิจกรรมเพื่อเลือกสถานที่ไป สวนสันติชัยปราการจึงเป็นที่หมายของเราในค่ำคืนนี้ค่ะ
ณ ทิศเหนือสุดของเมือง จากพระราชวัง เดินลัดเลาะแม่น้ำเจ้าพระยามาเรื่อย ๆ เราจะได้พบกับป้อมขาวตระหง่านตั้งเด่นอยู่ริมถนน เป็นที่ประจักษ์แก่ผู้ที่สัญจรไปมา ป้อมแห่งนี้มีชื่อว่า “ป้อมพระสุเมรุ” หนึ่งในป้อมปราการที่ช่วยปกปักรักษาพระนครมาตั้งแต่รัชสมัยรัชกาลที่ 1 ทั้งยังเป็นหนึ่งในป้อมปราการสภาพสมบูรณ์เพียงไม่กี่แห่งที่ยังหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน
อย่างที่เราทราบกันดี (หรืออาจจะพอได้ยินผ่านหูในคาบเรียนประวัติศาสตร์) กรุงเทพมหานครได้ชื่อว่าเป็นเมืองของพระอินทร์ องค์เทวดาผู้สถิตอยู่ ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ บนสวรรค์ชั้นนี้มีภูเขาลูกสำคัญตั้งอยู่ นั่นคือเขาพระสุเมรุ อันเป็นที่ตั้งของนครไตรตรึงษ์ เมืองที่พระอินทร์ท่านทรงพำนักอยู่
แล้วเขาพระสุเมรุกับป้อมพระสุเมรุมีความเกี่ยวข้องกันอย่างไร ?
ป้อมพระสุเมรุคือ สิ่งแทนเขาพระสุเมรุบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์นั่นเองค่ะ ในเมื่อต้องการจะสร้างให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองของพระอินทร์ทั้งที จะขาดสิ่งสำคัญอันเป็นถึงที่พำนักขององค์ท่านได้อย่างไร แต่การจะสร้างภูเขาไว้ในกลางเมืองคงไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้นป้อมปราการจึงเป็นตัวเลือกที่พอจะเข้าท่าที่สุดในสมัยนั้น
ปัจจุบันพื้นที่รอบป้อมพระสุเมรุที่กาลก่อนเคยเป็นกำแพงเมืองได้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะให้ผู้คนทั่วไปได้ใช้งานโดยใช้ชื่อว่า “สวนสันติชัยปราการ” สวนแห่งนี้มีพื้นที่ประมาณ 8 ไร่เศษและเป็นหนึ่งในเก้าโซนท่องเที่ยวของงาน “ใต้ร่มพระบารมี 240 ปี กรุงรัตนโกสินทร์” ที่เราเลือกมาเดินกันในวันนี้
พื้นที่เที่ยวงาน ณ สวนสันติชัยปราการ หากพิจารณาจากเราในฐานะผู้เข้าชมงาน เราได้สรุปแผนผังในหัวคร่าวๆ ว่าภายในสวนแห่งนี้ได้ถูกแบ่งพื้นที่เป็นสามส่วนด้วยกัน ได้แก่ พื้นที่รอบนอกซึ่งเป็นซุ้มขายอาหาร พื้นที่ส่วนกลางเป็นเวทีการแสดง และพื้นที่ส่วนในสุดติดริมแม่น้ำที่เป็นดั่งจุดพักให้เราได้ดื่มด่ำบรรยากาศ เพราะมีศาลาริมน้ำขนาดกว้างขวางที่ใช้สำหรับให้คนทั่วไปได้นั่งกินลมสมชื่อโซน “นั่งกินลม ชมมรดกวัฒนธรรม”
เพราะเราเดินทางมาที่นี่ด้วยการเดินเท้าจากฝั่งโรงละครแห่งชาติ สิ่งแรกที่สะดุดตาที่สุดเมื่อมาถึงจึงเป็นภาพของป้อมพระสุเมรุในยามค่ำคืน อาจเพราะป้อมนี้เป็นป้อมก่ออิฐหินปูนฉาบสีขาวแสงสีที่สาดกระทบตัวป้อมจึงดึงดูดสายตาเราเป็นอย่างแรก ตามด้วยเสียงเพลงพื้นเมืองกังวานอันเป็นสัญลักษณ์ของงานรื่นเริง เป็นดั่งใบเทียบเชิญที่ดึงดูดเราให้เข้าไปยังพื้นที่แห่งนี้โดยเร็ว
บรรยากาศแรกยามเดินเข้างานคือลมเย็นพัดโกรก นั่นอาจเป็นเพราะพื้นที่แห่งนี้เป็นสวนสาธารณะติดแม่น้ำเจ้าพระยา ซุ้มขายอาหารด้านหน้าทอดยาวให้เราได้เลือกสรร มีทั้งของทานเล่นไปจนถึงอาหารจานหลักที่กะทานเอาอิ่ม แต่งเติมสีสันด้วยผู้ร่วมงานที่เดินสวนกันไปมาพร้อมอาหารในมือและเด็กๆ นักแสดงที่ใส่ชุดสะดุดตาต่อคิวซื้ออาหารระหว่างรอขึ้นเวที นับเป็นสีสันที่ทำให้งานในค่ำคืนนี้ครึกครื้นไม่น้อย
สำหรับเราผู้เลือกเดินชมงานโซนนี้ เรียกได้ว่าคิดไม่ผิดเพราะพื้นที่กว้างขวางเหมาะแก่การเดินทอดน่องฟังเพลงพื้นบ้านสบายๆ เดินลึกเข้าไปหน่อยก็จะเจอศาลาริมน้ำขนาดใหญ่ไว้นั่งชมวิวแม่น้ำเจ้าพระยายามค่ำคืน สมแล้วที่จะพูดว่าจุดนี้คือจุดสำหรับนั่งกินลม ส่วนกลางของงานมีเวทีขนาดกลางที่มีการแสดงเพลงพื้นบ้านแวะเวียนไม่ขาดสาย ขับกล่อมให้บรรยากาศครึกครื้นไร้ช่วงเงียบ คลอเคล้าด้วยเสียงพูดคุยจอแจของผู้คน สำหรับเราแล้ว จุดแห่งนี้คือจุดเที่ยวงานที่เน้นความผ่อนคลาย ฟังเพลงรับลมชิลๆ ผู้คนไม่ได้เบียดเสียดมากนัก และถ้าหากมาเดินในช่วงใกล้หมดแสงแห่งวัน เชื่อเลยว่าภาพวิวที่ได้คงเป็นความคาบเกี่ยวระหว่างเวลากลางวันและกลางคืนที่งดงามไม่น้อย
หากพูดตามภาษาเรา งานวันเกิดครบรอบอายุ 240 ปีของกรุงรัตนโกสินทร์ในครั้งนี้นับว่าดีกว่าที่คาด ความครึกครื้นที่ไม่ได้สัมผัสมานานยังคงทำให้เรามีความสุขเสมอ ยิ่งได้เห็นเด็กๆ ไปจนถึงผู้ใหญ่หลายท่านสวมชุดไทยเดินชมงาน กอปรกับภาพภูมิหลังที่เป็นตึกนครกรุงเก่า จึงคล้ายกับการได้ย้อนวันวาน หวนนึกถึงวิถีชีวิตไทยเดิมที่ไม่ได้มีโอกาสสัมผัสบ่อยนัก และที่สำคัญคืออาหารอร่อยมาก เดินซื้อเพลินจนเกือบหมดตัวเลยทีเดียว
งานเฉลิมฉลองการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์จัดตั้งแต่วันที่ 20-24 เมษายน 2565 โดยกิจกรรมมีทั้งหมด 9 โซนหลักๆ ได้แก่
ทั้งหมดนี้เราสามารถเลือกเดินได้ตามใจ แต่ละจุดก็จะมีเอกลักษณ์และสถานที่น่าเยี่ยมชมต่างกันออกไป โชคดีที่เราได้รู้ข่าวทันไปเข้าร่วมงานพอดี เพราะนานแล้วที่ไม่ได้พาตัวเองมาพบเจองานครึกครื้น ยิ่งช่วงโรคระบาด covid -19 เรื้อรังที่พาเอาทุกความสุขหยุดชะงักลงมาเป็นเวลานาน งานนี้จึงเป็นดั่งสายฝนชโลมชุ่มจิตใจ ได้ออกมาเปิดหูเปิดตา เดินทอดน่องรับบรรยากาศดีๆ คลอเคล้าด้วยเกร็ดประวัติศาสตร์ที่ซุกซ่อนอยู่ในจุดต่างๆ ให้เราได้ค้นหาและเรียนรู้มัน…คุ้มกว่านี้ไม่มีอีกแล้ว
แต่ถ้าใครที่ไปไม่ทันก็อย่าเพิ่งเสียใจไปนะคะ คาดว่าในโอกาสหน้า งานเฉลิมฉลองการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์จะต้องน่าชมมากขึ้นในทุกๆ ปีแน่นอน
และสุดท้ายนี้
นักเขียนอิสระที่ถนัดด้านการจิบกาแฟ เล่นหมา เลี้ยงแมว และถ่ายทอดสิ่งที่บังเอิญพบผ่านลงบนหน้ากระดาษอิเล็กทรอนิกส์
พื้นที่ถ่ายทอดทุกเรื่องราวอันงดงามด้วยศิลปะแห่งการเรียงร้อยเนื้อหา สร้างสรรค์ทุกชิ้นงานด้วยสุนทรียะ