เมื่อครั้งเป็นเด็ก ผู้เขียนมักจะเกิดคำถามไร้เดียงสาชวนขบขัน ทุกครั้งที่ติดสอยห้อยตามผู้ใหญ่ไปทำบุญที่วัด เช่น ทำไมพระไม่มีคิ้ว ? ทำไมพระต้องสวมเสื้อผ้า (จีวร) สีเหลือง ? ผู้เขียนเชื่อว่า ผู้อ่านหลายคนก็คงมีคำถามทำนองนี้เหมือน ๆ กัน หลายคำถามเกี่ยวกับพระสงฆ์อาจคลายข้อสงสัยไปบ้างแล้วจากการสอบถามผู้รู้ ผู้ใหญ่ แต่คำถามที่ยังค้างคาใจอยู่มาตั้งแต่เด็กก็คือ ทำไมพระต้องถือพัดกลมด้ามยาว ที่เรียกว่า “ตาลปัตร” ปักเป็น ลวดลายบ้าง ตัวอักษรบ้าง บางด้ามก็ปักเรียบ ๆ บางด้ามปักจนวิจิตรพิสดารเสมือนว่าเป็นเครื่องบ่งบอกลำดับศักดิ์ของพระสงฆ์ ?

          ผู้เขียนจึงได้ลองไปค้นคว้าข้อมูลที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครในส่วนที่จัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ทางพระพุทธศาสนา บริเวณชั้นบนของพระที่นั่งพรหมเมศธาดาก็พบว่า มีการจัดแสดง ตาลปัตรมากมายหลายรูปแบบ ในขณะที่ย่างเท้าเนิบ ๆ ชมอยู่นานสองนานก็พบว่า ตาลปัตรเหล่านี้มิได้เป็นเพียง “ของควรแก่สมณะ” แต่ยังเป็นงานศิลปะ ที่ร้อยเรียงเรื่องราวประวัติศาสตร์สองร้อยกว่าปีของกรุงรัตนโกสินทร์ได้อย่างน่าสนใจ

          อ่านมาถึงตรงนี้คงทราบแน่ชัดแล้วว่า ผู้เขียนจะมาเล่าเรื่องอะไร ดังนั้นเรามาทำความรู้จักกับ “ตาลปัตร” และศัพท์แปลก ศัพท์ยากต่าง ๆ ที่จะกล่าวถึงในบทความนี้เสียก่อน แล้วจึงจะเข้าประเด็นสำคัญกันในส่วนต่อไป

ตาลปัตรใบพัด

          แต่เดิม ตาลปัตร เป็นพัดไว้สำหรับใช้โบกลมคลายร้อน มิได้คิดขึ้นมาเพื่อใช้เฉพาะเจาะจงสำหรับพระสงฆ์ แต่เนื่องจากพัดที่พระใช้ส่วนมากมักจะทำจาก “ใบตาล” จึงเรียกพัดพระว่า “ตาลปัตร” ตั้งแต่นั้นเรื่อยมา การใช้ตาลปัตรบังหน้าขณะประกอบพิธีกรรมของพระสงฆ์ มีข้อสันนิษฐานต่าง ๆ มากมาย เช่น เพื่อให้พระสงฆ์มีสมาธิในการสวดมนตร์ พระไม่ต้องมองโยม โยมไม่ต้องมองพระ หรือเพื่อป้องกันมิให้กลิ่นเหม็นของศพรบกวนพระสงฆ์ขณะประกอบพิธีในงานฌาปนกิจ

พัดยศพระราชาคณะชั้นราช

          พัดยศ กับพัดรอง เป็นคำที่ใช้เรียกตาลปัตรเพื่อแสดงที่มาอย่างเฉพาะเจาะจง พัดยศเป็นพัดที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้างขึ้นเพื่อถวายพระภิกษุสงฆ์ผู้ทรงสมณศักดิ์ โดยพระสงฆ์จะถือพัดลักษณะนี้งานพระราชพิธี หรือรัฐพิธีสำคัญ ๆ แต่เพียงเท่านั้น

พัดรองวันเฉลิมพระชนมายุ หรือวันเกิด ของบรรดาเจ้านาย และเจ้าจอมมารดาต่าง ๆ

          ส่วนพัดรองก็มีความหมายตามชื่อ คือสำคัญเป็น “รอง” จากพัดยศ เป็นพัดที่พระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ ขุนนาง หน่วยงาน ไปจนถึงญาติโยมทุกระดับ จัดสร้างเพื่อถวายพระสงฆ์เป็นที่ระลึกในโอกาสสำคัญต่าง ๆ โดยพระสงฆ์จะใช้พัดรองในการประกอบกิจกรรมทางศาสนาทั่วไป

          เนื่องจากพัดรอง เป็นเสมือนของที่ระลึกในโอกาสสำคัญต่าง ๆ ผู้สร้างจึงมีโอกาสใส่ความคิดสร้างสรรค์ลงไปเต็มที่ ต่างจากพัดยศที่อาจจะต้องมีลวดลายตายตัวเพื่อบ่งบอกลำดับชั้นของพระสงฆ์ ตาลปัตร พัดรอง จึงเป็นงานศิลปะที่มีลูกเล่นแพรวพราว และบอกเล่าเรื่องราวของกรุงรัตนโกสินทร์ไว้ทุกกระเบียดไหมที่ปักลงไปในพัดรองชิ้นนั้น ๆ เรื่องราวเหล่านั้นจะมีอะไรน่าสนใจบ้าง ก็เชิญรับชมกันได้ดังต่อไปนี้

“ตาลปัตรสมัยอยุธยา – รัตนโกสินทร์ตอนต้นกับการตัดสินคดีความที่มีพระภิกษุเป็นพยาน”

          ในปี พ.ศ. 1894 สมัยกรุงศรีอยุธยา รัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) มีการประกาศใช้ “กฎหมายลักษณะพยานฉบับเก่า” มาตรา 20 ว่าด้วยการอ้างพระสงฆ์เป็นพยาน ความว่า

          “ถ้าตระลาการอ่านเผดนข้อความให้ฟังพระสงฆทำกิริยาล้มตาลิปัตรลงท่านว่าข้อนั้นมิสมถ้าอ่านเผดนถึงข้อใดถือตาลปัตรสำรวมนิ่งอยู่ท่านว่าข้อนั้นสม”

          กฎหมายมาตรานี้ใช้สืบเนื่องยาวนานมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และยกเลิกไปในปี พ.ศ. 2437 เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชปรารภว่ากฎหมายเดิมล้าสมัย สมควรยกเลิก จึงทรงตรากฎหมายใหม่ที่ว่าด้วยการสืบพยานที่เป็นพระสงฆ์ โดยมิให้ออกหมายเรียกพระสงฆ์มาให้การในศาล ห้ามบังคับพระภิกษุสงฆ์และสามเณรมาเป็นพยานสาบานเด็ดขาด อนุญาติให้อ่านประเด็นคดีความให้พระสงฆ์ฟังเพียงเท่านั้น หากภิกษุสามเณรไม่ยอมให้การ ศาลก็ไม่มีอำนาจบังคับว่ากล่าวได้ให้ถือว่าภิกษุสามเณรรูปนั้นเป็น “โมกษพยาน” คือพยานที่พ้นความเกี่ยวข้องแล้ว ไม่ต้องสืบความอีกต่อไป

          ตาลปัตรในสมัยอยุธยา – รัตนโกสินทร์ตอนต้น จึงมิใช่แค่พัดสำหรับคลายร้อน หรือเครื่องประกอบพิธีกรรมของพระสงฆ์แต่เพียงเท่านั้น ตาลปัตรยังมีความสำคัญในการเป็นสื่อกลางแสดงความคิดเห็นของพระสงฆ์ในการตัดสินคดีอีกด้วย ผู้เขียนสันนิษฐานว่า การให้พระสงฆ์แสดงความไม่เห็นด้วยโดยการ “ล้มตาลปัตร” ถือเป็นการป้องกันมิให้พระสงฆ์มาข้องเกี่ยวกับเรื่องทางโลกมาเกินควร เพราะการให้การโดยวาจา อาจมีผลอย่างมากต่อรูปคดี นั่นหมายถึงผลการตัดสินย่อมเป็นผลมาจากคำให้การของพระภิกษุ หากเป็นโทษหนักที่มีบทลงโทษด้วยการทรมานหรือประหารชีวิต ก็อาจขัดข้องกับการถือศีลของพระภิกษุสงฆ์ได้

“พัดรองในสมัยพัฒนาประเทศ : การสร้างสรรค์ศิลปะบันทึกเหตุการณ์ และการพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอของสยาม”

          เดิมทีตาลปัตรของพระสงฆ์ที่สำคัญจะมีพัดยศ ที่บ่งบอกสมณศักดิ์และใช้ในงานพระราชพิธี กับตาลปัตรใบตาลที่ใช้ในโอกาสทั่วไป แต่ในสมัยรัชกาลที่ 4 พบว่า พระสงฆ์นิยมถือ “พัชนี” กันอย่างแพร่หลาย

พัชนีของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว จัดแสดงอยู่ที่ชั้นบนของพระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์

          อย่างไรก็ตาม พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชวิจารณ์ว่า พัชนีนั้นเดิมเป็นเครื่องยศเจ้านาย ใช้พัดโบกแพร่หลายกันในหมู่ฆราวาส ทั้งยังใช้ในการเล่นละครต่าง ๆ นานเข้ามีญาติโยมจำนวนมากทำพัชนีถวายพระสงฆ์ “ฝ่ายพระสงฆ์ได้เครื่องยศของคฤหัศถ์ไปใช้ก็ดีใจว่าได้ของผู้ดี” ทั้งนี้ทรงให้ข้อมูลว่า

          “พระญาณสมโพธิ์ (ด้วง) วัดนาคกลางท่านนั้นแม้นเป็นพระราชาคณะแล้วแต่ไม่ถือพัชนีเลยถือแต่ตาลปัตรใบตาลท่านตอบว่าพัชนีนั้นท่านคิดไปดูรูปร่างเห็นเป็นหน้าบัดสีแล้วท่านจึงว่าไปอิกอย่างหนึ่งว่าเครื่องมือของไทยอีกอย่าง ๑ รูปร่างก็คล้ายพัชนีคือจวักแต่ชื่อแห่งจวักนั้นเป็นของหยาบสำหรับไว้ด่าไว้ว่าจะเอาสับเสี่ยงอะไรเล่า ฤาถ้าเจ้าขุนมุลนายเอาสิ่งนั้นสับโขกตีรันบ่าวไพร่ก็ถือเป็นอัปมงคลใหญ่

          ด้วยเหตุที่ว่า พัชนี เป็นพัดที่ใช้กันทั่วไปตั่งแต่เจ้านาย ยันบุคคลสามัญ มีรูปร่างคล้ายจวักทำกับข้าว และไม่ถูกไม่ต้องกับ “พระรสนิยม” ส่วนพระองค์ของรัชกาลที่ 4 จึงทรงประกาศให้ยกเลิกการใช้พัชนีให้ทำ พัดโครงไม้ขึงๆปิดแพรปิดโหมดถวายให้ใช้เปนอย่างขึ้นมาทดแทน การทำพัดโครงไม้ปิดด้วยผ้าจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการประดิษฐ์ “พัดรอง” ถวายพระสงฆ์นั่นเอง

          พัดรองสมัยแรกเข้าใจว่าเป็นการนำผ้าที่มีตามท้องตลาดมาหุ้มโครงไม้ไผ่ ต่อมาจึงมีการดัดแปลงลวดลายและรูปแบบให้มีความวิจิตรมากขึ้น เพื่อนำมาใช้ถวายพระสงฆ์เป็นที่ระลึกในโอกาสสำคัญต่าง ๆ

          สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงให้ข้อคิดเห็นว่า พัดรองปักอย่างวิจิตรเล่มแรก เป็นพัดที่ทางราชการสั่งเข้ามาจากเมืองจีนในสมัยรัชกาลที่ 5 ปักลวดลาย จ 3 ตัวใต้พระเกี้ยวยอด ปัจจุบันหาชมไม่ได้แล้ว แต่พัดรองที่เก่ารองลงมายังพอหาชมได้ คือ “พัดเอราวัณ” หรือ “พัดไอยราพต” พระราชทานในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ. 2416 โดยพัดรองเล่มนี้ก็สั่งปักด้วยไหมมาจากเมืองจีนเช่นเดียวกัน

พัดรองไอยราพต เป็นพัดที่เก่าแก่ที่สุดในขณะนี้

          โอกาสสำคัญที่มักจะมีการจัดสร้างพัดรอง ได้แก่ งานเฉลิมพระชนมพรรษา พระชนมายุ (วันเกิด) ของพระมหากษัตริย์และเจ้านายทั้งหลาย งานพระเมรุ รวมทั้งงานฉลองต่าง ๆ ที่มีการจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ เช่น การขึ้นพระตำหนักใหม่ พระราชพิธีโสกันต์ (โกนจุก) และงานครบรอบการครองราชสมบัติของพระมหากษัตริย์

          พัดรองที่บอกเล่าประวัติศาสตร์ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้เป็นอย่างดี คือ “พัดงานหมื่นวัน” จำนวน 29 เล่ม ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2438 ในวาระที่พระองค์เสวยราชย์ครบ 10,000 วัน ยาวนานกว่ารัชกาลอื่น ๆ พัดงานหมื่นวันทั้ง 29 เล่ม ล้วนปักเป็นลวดลายที่แสดงถึงพระราชอำนาจในการปกครองของพระมหากษัตริย์ทั้งสิ้น เช่น ตราพระราชลัญจกร (ตราประจำพระองค์)เครื่องราชอิสริยาภรณ์ และตราประจำกระทรวงต่าง ๆ

พัดรองพระราชลัญจกร ตราประจำพระองค์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พัดรองพระราชลัญจกร จุลมงกุฎขนนก ของสมเด็จพระบรมโอสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ
พัดรองพระราชลัญจกร ตราประจำเครื่องราชอิสริยาภรณ์นพรัตน์

          พัดพระราชลัญจกร ถือเป็นพัดรองที่มีความสำคัญเท่าเทียมกับพัดยศ เนื่องจากเมื่อพระราชทานไปแล้ว หากพระสงฆ์เกิดมรณภาพ หรือได้รับเลื่อนสมณศักดิ์ ก็จะมีการสับเปลี่ยนพัดรองพระราชทานตามพระราชอัธยาศัย ถึงขึ้นมีการตั้งหลักการเปลี่ยนพัด พระราชลัญจกร ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา ร.ศ. 122 เลยทีเดียว

พัดรองกระทรวงมุธราธร ตราพระพรหมนั่งแท่น

          ส่วนพัดรองตรากระทรวงต่าง ๆ ที่สร้างขึ้นในงานหมื่นวัน นับเป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่เล่าเรื่องการเมือง การปกครองในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้เป็นอย่างดี เนื่องจากในยุคสมัยนั้น มีการปฏิรูปการปกครองครั้งใหญ่ โดยให้เปลี่ยนระบบบริหารราชการแผ่นดินแบบจตุสดมภ์ “เวียง วัง คลัง นา” เป็นระบบ “กระทรวง” เมื่อ พ.ศ. 2435 เพื่อจัดการปกครองให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

          กระทรวงในสมัยรัชกาลที่ 5 ก็มีความแตกต่างกับกระทรวงในปัจจุบัน ผู้เขียนเลือกนำพัดรองตราพระพรหมนั่งแท่นของ “กระทรวงมุรธาธร” มาให้ชม เนื่องจากในปัจจุบันไม่มีกระทรวงดังกล่าวอีกต่อไปแล้ว กระทรวงมุรธาธร มีหน้าที่กำกับดูแลเกี่ยวกับตราพระราชลัญจกร และหนังสือราชการของพระมหากษัตริย์ ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 กระทรวงมุรธาธร ถูกปรับให้ไปอยู่ในสังกัดคณะรัฐมนตรีและมีสถานะเป็น “กองอาลักษณ์และเครื่องราชอิสริยาภรณ์” จนถึงปัจจุบัน

พัดรองกระทรวงธรรมการ ตราพระเพลิงทรงระมาด

          ส่วนพัดรองเล่มถัดมาเป็นพัดรองตราพระเพลิงทรงระมาด ของ “กระทรวงธรรมการ” แม้ว่าชื่อเรียกจะฟังไม่คุ้นหู แต่กระทรวงดังกล่าวยังคงมีการปฏิบัติงานอยู่ และสำคัญเป็นอย่างยิ่งในปัจจุบัน กระทรวงธรรมการ ในสมัยรัชกาลที่ 5 มีหน้าที่ดูแลครอบคลุมตั้งแต่ การศาสนา การพยาบาล รวมทั้งหอพระสมุด และพิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ จนกระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 6 มีการยกเลิกตราพระเพลิงทรงระมาด ให้ปรับเปลี่ยนตรากระทรวงธรรมการ เป็นตราเสมาธรรมจักร และในปี พ.ศ. 2484 ได้มีการเปลี่ยนชื่อกระทรวงธรรมการ ให้กลายเป็น “กระทรวงศึกษาธิการ” ที่เรารู้จักกันเป็นอย่างดีในปัจจุบัน

          พัดรองตราพระเพลิงทรงระมาด มีเรื่องเล่าสนุก ๆ มากกว่าพัดรองเล่มอื่น ๆ เนื่องจาก สมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ หรือ “สมเด็จครู” ทรงเล่ารายละเอียดเกี่ยวกับพัดนี้ไว้ว่า

          “เรื่องตราพระเพลิงทรงระมาดนั้นมีข้อขันหลวงเพชรกรรม์มาบ่นตุบตับว่าเขียนไปให้เป็นพระเพลิงถือพระขรรค์ก็เอาไปทำเสียเป็นเคียว … คือว่าช่างปักเขากำลังคลั่งอวดฝีมือหนุนรูปภาพให้นูนมากที่สุด … พระขรรค์ที่ถือตอนล่างซึ่งปักกับพื้นก็ตรงดีแต่พอถึงที่พาดทับแขนก็ต้องปักอ้อมแขนที่ซึ่งหนุนไว้สูงนั้นขึ้นไป … ฉะนั้นเมื่อดูเยื้องจึงเห็นพระขรรค์งอดุจเคียว

          ข้อวิจารณ์ทำนองนี้ก็เกิดกับพัดหมื่นวันตราพระรามทรงรถของกระทรวงโยธาธิการ (ปัจจุบันเป็นกรมโยธาธิการ) เช่นเดียวกัน ดังจะเห็นได้จากคำบอกเล่าของสมเด็จครู ที่ว่า

          “พัดพระรามทรงรถของกระทรวงโยธาธิการก็เหมือนกันเรียกว่าพัดพระรามตกรถเพราะหนุนรูปพระรามขึ้นมานูนสูงแต่รถไม่ได้หนุนสูงตามขึ้นมาเห็นเป็นรูปพระรามอยู่นอกรถ”

พัดรองกระทรวงโยธาธิการ ตราพระรามทรงรถ

          การสร้างพัดรองในสมัยรัชกาลที่ 5 นอกจากจะทำให้เห็นบทบาทของศิลปวัตถุในด้านการบันทึกเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์แล้ว ยังทำให้เห็นถึงกระบวนการสร้างงานศิลปกรรมที่คนในยุคนั้นถึงขั้น คลั่งอวดฝีมือและในขณะเดียวกันก็แสดงถึงกระบวนการวิจารณ์งานศิลปะที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมสยามอีกด้วย

          ในปี พ.ศ. 2446 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดให้มีการพัฒนาด้านอุสาหกรรมและศิลปกรรมโปรดฯ ให้ส่งนักเรียกออกไปศึกษาวิชาต่าง ๆ ในหลายประเทศ เช่น การเลี้ยงไหม การทำผ้าลินิน การทำกระดาษ การทอผ้า และการเย็บปักถักร้อย ในขณะเดียวกันก็มีการก่อตั้งโรงทอผ้าในพระตำหนักต่าง ๆ เช่น โรงทอของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ที่พระตำหนักสวนหงส์ แต่นั้นเป็นต้นมา จึงมีการปรับปรุงการปักพัดรองแบบใหม่ ให้ปักเรียบแต่พองาม ไม่ “คลั่ง” การปักนูนจนทำให้ภาพมีความบิดเบี้ยวแบบในยุคก่อน ๆ ดังเช่น พัดรองในงานเฉลิมพระชนมพรรษา 50 พรรษาสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถพระบรมราชชนนีพันปีหลวงฝีพระหัตถ์ของสมเด็จครู

พัดรองงานเฉลิมพระชนมพรรษา 50 พรรษา สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พ.ศ. 2456 : พื้นสีฟ้าอ่อน อักษรพระนามย่อ ส.ผ. ล้อมด้วยสร้อยจักรีภายใต้เศวตฉัตร
พัดรองงานเฉลิมพระชนมพรรษา 50 พรรษา สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พ.ศ. 2456 สำหรับพระสหชาติ : พื้นสีฝ้าอ่อน มีตรา ส.ผ. ใต้มงกุฎ มีรูปหมู 2 ตัวประดับลายช่อดอกไม้ ด้านล่างเป็นข้อความบอกงานและปี

          ภายหลังการทำพัดรองก็เสื่อมความนิยมลง ดังรับสั่งของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพที่ว่า

          “ถึงเวลาน่าจะเลิกทำพัดรองอย่างแต่ก่อนแล้วด้วยพิธีรีตรองและการศพการเมรุก็เปลี่ยนรูปไปหมดแล้วพระได้ไปไม่มีที่ใช้สักหนการลงทุนทำพัดรองอย่างวิจิตรดูดังภาษิตว่าตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ

          ผู้เขียนคิดว่าเห็นจะจริงดังรับสั่งสมเด็จฯ ท่าน ก็เล่นปักกันจนไม่มีที่ว่าง ปักกันด้วยของดีราคาสูง พระสงฆ์ก็คงไม่กล้าใช้ เมื่อเป็นดังนี้ การทำพัดรองในยุคหลัง จึงเน้นปักแต่ พองาม หรือแค่หุ้มผ้าดี ๆ สวย ๆ ทำโลหะเป็นตราติดบ้าง รวมทั้งอาจมีการใช้เทคนิคอื่น เช่น การวาดรูป เขียนลาย หรือเขียนเป็นตัวอักษรที่ให้ข้อคิด มาทดแทนการปักที่ต้องใช้ความละเอียดละอออย่างสูง

พัดรองงานชนมายุสมงคล พระชนม์ครบ 60 ปี ของกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ พ.ศ. 2464 ลายพระสาทิสลักษณ์ (ภาพเขียน) ของกรมพระนราธิปฯ
พัดรองดำรงธรรม ฉลองพระชันษาครบ 60 ชันษา ของสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ สมเด็จครูทรงสร้างถวาย เมื่อ พ.ศ. 2465

          พัดรองดำรงธรรม ผูกลวดลายเป็นภาษาบาลี แปลความได้ว่า การไม่ทำบาปคือความชั่วทั้งปวงการทำกุศลคือความดีให้พร้อมสรรพการทำจิตให้ผ่องแผ้วเหล่านี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า

พัดรองพระมหาวชิราวุธ ในงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวสมเด็จครู ทรงคิดแบบ หม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรค์ กฤดากร ทรงลงเส้น เมื่อ พ.ศ. 2468
พัดพระนาม งานพระศพสมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข สมเด็จครู ทรงสร้างถวายเมื่อ พ.ศ. 2472

          พัดพระนาม มีการเขียนลายบริเวณกรอบเป็นคาถา ผู้เขียนสันนิษฐานว่า ใช้ตัวอักษรเขมร แบบตัวมูล แปลความได้ว่า ผู้ที่ตั้งมั่นแล้วด้วยดีในธรรมของสัตบุรุษย่อมเป็นผู้เกื้อกูลพระราชาเกื้อกูลญาติมิตรทั้งย่อมเป็นผู้มีความเกื้อกูลแก่คนทั่วไป

          ทุก ๆ เส้นไหม และลวดลายของพัดรองในช่วงพัฒนาประเทศ ล้วนมีความสัมพันธ์และสะท้อนภาพสังคมในยุคสมัยนั้นได้เป็นอย่างดี แม้ในช่วงหลัง ๆ จะลดทอนรายละเอียดการปักลงไป หันมาใช้วิธีการเขียน กับการวาดแทน แต่ผู้เขียนกลับรู้สึกว่าความงดงามของพัดรองเหล่านี้ไม่ได้ลดน้อยลงไปแต่อย่างใดเลย ทั้งนี้การใช้เทคนิคการเขียนภาษิตสอนใจอาจเป็นแรงบันดาลใจให้ช่างทำตาลปัตรหลังนำมาใช้สร้างงาน อย่างที่ได้เห็นกันบ่อย ๆ ในงานบำเพ็ญกุศลศพที่พระสงฆ์มักจะถือตาลปัตรมานั่งสวดเรียงกัน และมีข้อความสุด Touch ต่อกันว่า “ไปไม่กลับ หลับไม่ตื่น ฟื้นไม่มี หนีไม่พ้น”

ตาลปัตรพัดรองในสมัยปัจจุบัน : ธรรมเนียมรัฐธรรมเนียมหลวง

          การสร้างตาลปัตร พัดรอง ในยุคสมัยปัจจุบัน มิได้เป็นที่แพร่หลายเท่าใดนักในหมู่ชาวบ้านร้านตลาดแบบเรา ๆ อาจเพราะการบวชในยุคปัจจุบัน มิได้นิยมบวชกันยาวนาน หลายพรรษา แต่เน้นบวชระยะสั้นเพื่อให้พ้นภาระหน้าที่ของ “ความเป็นชาย” การสร้างพัดรองที่ระลึกจึงอาจกลายเป็นเรื่องฟุ่มเฟือยมากเกินกว่าจะรับไหว ผู้คนจึงนิยมซื้อตาลปัตรที่มีขายทั่วไปตามร้านสังฆภัณฑ์ มาให้มีใช้พอเป็นพิธี

          อย่างไรก็ดี การจัดสร้างตาลปัตร พัดรองที่ระลึกยังคงพบเห็นได้จากในงานพระราชพิธี หรือกิจกรรมที่หน่วยงานของรัฐเป็นผู้จัดขึ้น เช่น การพระราชทานพัดรองใน พระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน

ภาพข่าว “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระราชินี เสด็จฯ ในการประกาศพระราชพิธี บรมราชาภิเษก” วันที่ 3 พฤษภาคม 2562 (ที่มา มติชนออนไลน์ เข้าถึงได้จาก : https://www.matichon.co.th/court-news/news_1476887)

          การสร้างสรรค์ตาลปัตร พัดรอง ในยุคสมัยปัจจุบัน จึงมิใช่ธรรมเนียมราษฎร์แต่เป็นธรรมเนียมรัฐและโดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นธรรมเนียมหลวงมากกว่า เนื่องจากพระราชภาระกิจสำคัญของพระมหากษัตริย์ไทยแต่โบราณ คือการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ดังพระราชปรารภของรัชกาลที่ 1 ที่ว่า “ตั้งใจจะอุปถัมภกยอยกพระศาสนา” ดังนั้น การพระราชทานข้าวของเครื่องใช้ทางพระพุทธศาสนาแด่พระภิกษุ จึงเป็นธรรมเนียมที่พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ทรงปฏิบัติสืบทอดกันมา 240 ปี นับตั้งแต่สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์

          “ความงดงามของตาลปัตร พัดรอง ที่บอกเล่าเรื่องราว 240 ปี ของกรุงรัตนโกสินทร์ มิได้สงวนไว้ให้เป็นที่ชื่นชมของพุทธศาสนิกชนแต่เพียงเท่านั้น หากพิจารณาข้าวของเหล่านี้ในฐานะงานศิลปะ ไม่ว่าจะนับถือสิ่งใดเป็นสรณะ มีศาสนา หรือไม่มีศาสนา ก็ย่อมเกิดสุนทรียรส เบิกบานใจด้วยกันทั้งนั้น”

“ขอขอบพระคุณ” เอกสารอ้างอิง

ดวงจิตร จิตรพงศ์. (หม่อมเจ้า). 2502. ตาลปัตร. พระนคร. โรงพิมพ์พระจันทร์. (พิมพ์เป็นที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมราชวงศ์โต จิตรพงศ์ มีนาคม พ.ศ. 2502)

Writer & Photographer