“ดูหนัง ดูลคร แล้วย้อนดูตัว” เป็นปรัชญาคำสอนจากวรรณกรรมเรื่อง “รุไบยาต” ที่กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ทรงพระนิพนธ์แปลไว้ราว ๆ พ.ศ. 2457 ถ้อยคำดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้มนุษย์มองเห็นคติธรรม ข้อคิด หรือบทเรียนจากบันเทิงคดี และนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันให้เกิดประโยชน์

          นอกจากการกระทำต่าง ๆ ของตัวละครอันเป็นภาพสะท้อนความซับซ้อนของมนุษย์ที่มีบทบาทในการให้แง่คิดกับผู้ชม วิวัฒนาการความบันเทิงของไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ก็ล้วนเป็นภาพสะท้อนความเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรม รสนิยม ละเหตุบ้านการเมืองในแต่ละยุคด้วยเช่นเดียวกัน ในบทความนี้ ผู้เขียนจึงจะเชิญผู้อ่านทุกท่าน มาร่วม “ดูหนัง ดูละคร แล้วย้อนดูเมือง” เพื่อให้เห็นแง่มุมอะไรใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ และไม่อาจค้นหาในกรอบสี่เหลี่ยมของจอภาพยนตร์

คนโบราณเขาดูอะไร ? : การละครของไทยตั้งแต่ยุคแรกเริ่มจนถึงยุคร่วงโรย 

          มนุษย์กับศิลปะและความบันเทิงเป็นของคู่กันมาตั้งแต่สมัยโบราณ เมื่อย้อนกลับไปพิจารณาเอกสารหลักฐานทางประวัติศาสตร์พบว่า ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเริ่มมีการจัดแสดงการละเล่นรื่นเริงต่าง ๆ ที่เรียกว่า “มหรสพ” ถ้อยคำข้างต้นครอบคลุมการแสดงหลายอย่าง ตั้งแต่การละเล่นหวาดเสียว เช่น การละเล่นหัวล้านชนกัน การเล่นชนแรด ชวาแทงหอก หรือลาวไทยฟันดาบ ที่ปรากฏในวรรณคดีอยุธยาอย่าง “สมุทรโฆษคำฉันท์” ไปจนถึงการละครฟ้อนรำที่เริ่มปรากฏเด่นชัดในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ดังมีบันทึกไว้ในวรรณคดีเรื่อง “บุณโณวาทคำฉันท์” ที่กล่าวถึงการเล่นละครเรื่องอุณรุทและอิเหนา เพื่อสมโภชรอยพระพุทธบาทที่จังหวัดสระบุรี ซึ่งคาดว่าเป็นช่วงเวลาปลายรัชกาลของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ความว่า

“ลครก็ฟ้อนร้อง สุรศัพท์ก็ขับขาน ฉับฉ่ำที่ดำนาน
อนิรุทธกินรี … ร้องเรื่องระเด่นโดย บุษบาตุนาหงัน พักพาคุหาบรร พตร่วมฤดีโลม” 

          ในบรรดามหรสพที่กล่าวมาข้างต้น “การละคร” เป็นการแสดงที่มีวิวัฒนาการสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน และเป็นที่นิยมแพร่หลายมากกว่ามหรสพประเภทอื่น ๆ ในช่วงกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เป็นช่วงที่การละครฟ้อนรำมีความเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก เนื่องจากรัชกาลที่ 2 โปรดให้มีการปรับ เสริม เติม แต่งบทละครขึ้นเป็นจำนวนมาก เพื่อใช้ประกอบการแสดงทั้ง “ละครใน” ซึ่งเป็นละครที่มีระเบียบแบบแผนเคร่งครัด เล่นกันแต่ในวัง และ “ละครนอก” ซึ่งเป็นการแสดงที่มีการดำเนินเรื่องฉับไว และมุ่งนำเสนอความตลกขบขันเหมาะสมกับจริตชาวบ้านนอกพระราชฐาน เมื่อในช่วงเวลาดังกล่าว พระมหากษัตริย์ทรงอุดหนุนศิลปะการละครเป็นอย่างมาก แบบแผนการแสดงละครในสมัยรัชกาลที่ 2 จึงเป็นรูปแบบที่สืบเนื่องไปถึงยุคต่อมา ดังเนื้อความในพระราชพงศาวดารที่ว่า

“มาจนถึงรัชกาลที่ 2 การฝึกหัดวิธีรำจึงกวดขันได้ที่ เป็นแบบอย่างของละครมาตราบเท่าทุกวันนี้”

          แม้ว่ารูปแบบการแสดงละครในสมัยรัชกาลที่ 2 จะถูก setting จนได้ที่ แต่เมื่อวันเปลี่ยน เวลาเปลี่ยน คนเปลี่ยน รสนิยมมันก็ต้องเปลี่ยนตาม เมื่อชาวสยามเริ่มรู้จัก “ฝรั่ง” และเริ่มมีความสนใจใคร่รู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมของชาวตะวันตก ทั้งยังมองเห็นภัยจากการล่าอาณานิคมที่ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น บรรดาเจ้านายและขุนนางในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงเริ่มปรับมุมมองและทำความเข้าใจอิทธิพลของชาติตะวันตกมากยิ่งขึ้น จากเดิมที่มีเพียงละครนอกละครใน ก็เริ่มมีการคิดค้นรูปแบบการแสดงละคร ที่มีต้นแบบมาจากตะวันตกมากยิ่งขึ้น เช่น ละครดึกดำบรรพ์ ที่เจ้าพระยาเทเวศรวงศวิวัฒน์ (ม.ร.ว. หลาน กุญชร) ร่วมกันคิดค้นกับกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ดังพระราชาธิบายของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ (2506) ที่ว่า

           “เมื่อในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีเจ้าฝรั่งและชาวต่างประเทศที่สูงศักดิ์มาเฝ้าเนือง ๆ มีพระราชประสงค์จะให้มีละครสำหรับแขกเมือง จึงดำรัสให้เจ้าพระยาเทเวศรวงศวิวัฒน์ ซึ่งเป็นอธิบดีกรมมหรสพ … คิดจัดการเล่นคอนเสิตสำหรับแขกเมือง … เจ้าพระยาเทวศรฯ เคยได้ยินการขับร้องซึ่งสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ได้ทรงจัด … จึงกราบทูลขอให้ทรงช่วยอำนวยการจัดคอนเสิตตามพระราชประสงค์ด้วย”

เจ้าพระยาเทเวศรวงศวิวัฒน์ (ม.ร.ว. หลาน กุญชร)
ที่มาของภาพ : วิกิพีเดีย เข้าถึงได้จาก https://th.wikipedia.org/wiki/ เจ้าพระยาเทเวศรวงศวิวัฒน์_(ม.ร.ว. หลาน กุญชร)
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
ที่มาของภาพ : วิกิพีเดีย เข้าถึงได้จาก https://th.wikipedia.org/wiki/ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ_เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ

          ละครดึกดำบรรพ์ แรกเริ่มเดิมทีเรียกกับว่า “คอนเสิต (concert)” เนื่องจากเป็นการบรรเลงเพลงประกอบการประสานเสียงขับร้องของชายและหญิง จนเมื่อ พ.ศ. 2434 เจ้าพระยาเทเวศร ฯ ได้เดินทางไปยุโรป และได้มีโอกาสชมการแสดงอุปรากร หรือ Opera จึงได้กลับมาทูลชวนกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ให้ทรงร่วมกันสร้างสรรค์ “ออปะราไทย” จากเดิมที่เน้นการร้องประสานเสียง ก็มีการเพิ่มเติมตัวบทที่เอื้อให้ตัวละครออกมาร่ายรำประกอบ เมื่อตกลงได้แบบแผนการแสดงเป็นที่เรียบร้อย เจ้าพระยาเทเวศร ฯ จึงตั้งโรงละครขึ้นที่บ้านชื่อว่า “โรงละครดึกดำบรรพ์” การแสดงละครที่ได้รับอิทธิพลจากตะวันตกข้างต้น จึงเรียกว่าละครดึกดำบรรพ์ตั้งแต่นั้นเป็นต้น

          การสร้างสรรค์ละครแบบตะวันตกในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มิได้มีเพียงแค่ละครดึกดำบรรพ์ ยังมีรูปแบบการแสดงละครอีกเป็นจำนวนมากที่ได้คิดค้นขึ้นเพื่อตอบสนองการมีรสนิยมแบบตะวันตกของชาวสยาม ทั้งนี้การสร้างสรรค์ศิลปะโดยได้รับแรงบัลดาลใจจากวัฒนธรรมของชาติตะวันตก คือการแสดงให้เห็นว่า รสนิยมของชาวสยามไม่ได้ผิดแผกแตกต่างไปจากชาวตะวันตก ดังนั้นชาวตะวันตกจะมากล่าวหาว่าสยามเป็นเมืองที่ไร้ความศิวิไลซ์ และจะมาเข้ายึดครองกันง่าย ๆ ไม่ได้

โรงละครสวนมิสกวัน โรงละครแห่งชาติในสมัยรัชกาลที่ 6
ที่มาของภาพ : หนังสือ “งานละครของพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้า เจ้าแผ่นดินสยาม” ของหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล

          การละครของสยามเจริญรุ่งเรืองสืบเนื่องไปจนถึงสมัยรัชกาลที่ 6 เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระมหากษัตริย์ที่โปรดปรานเรื่องของวรรณคดีและการละครเป็นอย่างมาก พระองค์ทรงใช้ศิลปะการละครเป็น “เครื่องมือ” ในการสื่อสารพระบรมราโชบายของพระองค์ให้แพร่หลายในหมู่ราษฎร

          พระองค์ทรงมีบทบาทสำคัญในการคิดค้นการแสดงรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า “ละครพูด” เป็นละครที่มีฉากสมจริง และใช้บทสนทนาเป็นหลักในการดำเนินเรื่อง เนื่องจากการแสดงละครพูดเป็นการแสดงที่ทำให้ผู้ชมเข้าใจถ้อยคำของตัวละครได้อย่างง่าย ๆ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมักจะทรงเพิ่มเติมบทสนทนาที่เป็นพระบรมราโชบายของพระองค์ เช่น ในบทละครพูดสลับลำเรื่อง “วิวาหพระสมุท” มีบทสนทนาของตัวละครทหารเรือที่ว่า

           “ไลออน : ชาติใดมีเรือ เพื่อชาติใดมีเรือ เพื่อประดิยุทธ ท่องถิ่นสมุท คอยยุทธนา เหมือนมีกำลังแรง ขันแขงรักษา ชาติศาสนา กษัตราภูมี … ฉนั้นชวนกัน สวามิภักดิ์ ประนอมพร้อมพรัก และสามัคคีช่วยกันและเรี่ยราย ถวายนาวี เรือพระร่วงมี สิทธิศักดิสมญา”

          บทพูดของตัวละครข้างต้นไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องราวในวิวาหพระสมุทเท่าไหร่นัก อย่างไรก็ตามบทพูดดังกล่าวเป็นวิธีการอันแยบคายของรัชกาลที่ 6 ที่มีพระประสงค์เชิญชวนให้ราษฎรทั้งหลาย ร่วมกันบริจาคเงินสมทบทุนซื้อ “เรือรบหลวงพระร่วง” ถวายพระเจ้าแผ่นดิน เพื่อลับคมเขี้ยวเล็บให้กับประเทศ ในปี พ.ศ. 2463

เรือรบหลวงพระร่วง
ที่มาของภาพ : วิกิพีเดีย เข้าถึงได้จาก https://th.wikipedia.org/wiki/เรือหลวงพระร่วง

          จะเห็นได้ว่าศิลปะการละคร ไม่ได้สะท้อนแค่แง่มุมทางวัฒนธรรม แต่ยังเป็นภาพสะท้อนความคิด รสนิยม และเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองได้อย่างดีเยี่ยม เมื่อถึงช่วงรุ่งเรือง ก็ได้เวลาร่วงโรย เมื่อเทคโนโลยี การฉายภาพยนตร์เริ่มแพร่หลายในสมัยรัชกาลที่ 7 การแสดงละครตามโรงละครต่าง ๆ ก็เป็นอันซบเซาและ ล้มเลิกกันไป อย่างไรก็ตามศิลปะการละครก็ไม่ได้เลือนหายไปไหน แค่ย้ายมวลจากจากบนเวทีไปปรากฏให้หน้าจอก็เท่านั้นเอง ดังนั้นการแสดงละครในยุคปัจจุบันก็น่าจะมีเรื่องราวให้ขบคิดกันได้เยอะอยู่มากทีเดียว

การฉายภาพยนตร์ครั้งแรกในสยามกับสงครามระหว่างประเทศ

          ผู้อ่านคิดว่า ภาพยนตร์เกี่ยวกับอะไรที่ฉายเป็นครั้งแรกในสยาม ? รัก ? เศร้า ? ขบขัน ? ผิดทั้งหมด การฉายภาพยนตร์ครั้งแรกในสยาม เกิดขึ้นในราวปี พ.ศ. 2447 – 2448 ที่ย่านนครเกษม ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยชาวญี่ปุ่น และภาพยนตร์ที่ฉายขึ้นครั้งแรกเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับ การทำสงครามระหว่างประเทศญี่ปุ่นและรัสเซีย ในช่วงเวลาดังกล่าวยังไม่มีการตั้งโรงภาพยนตร์ ผู้จัดจึงสร้างกระโจมผ้าใบและเก็บค่าเข้าชมคนละ 25 สตางค์ อีกทั้งภาพยนตร์ที่ฉายก็เรียกว่า “หนังเงียบ” ไม่มีเสียงพากย์ ทีมผู้จัดก็ต้องทำเสียงประกอบกันเอง เช่น เมื่อถึงฉากม้าวิ่งก็จะใช้กะลามาโขกกันให้เกิดเสียง หรือเมื่อถึงฉากที่เรือกำลังอยู่กลางทะเล ก็จะใช้ทรายสาดลงบนแผ่นสังกะสีให้เกิดเสียงดังใกล้เคียงเสียงคลื่นสมจริง

          คุณสมชาย พุ่มสอาด (2514) ได้ให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการฉายภาพยนตร์สงครามของชาวญี่ปุ่นไว้อย่างน่าสนใจ ความว่า

           “การที่ญี่ปุ่นได้เอาภาพยนตร์สงครามมาฉายในเมืองไทยครั้งนั้น ก็ด้วยจุดประสงค์ที่จะแสดงแสนยานุภาพอันเกรียงไกรของเขาที่สามารถเอาชนะรุสเซียได้อย่างงดงาม ให้เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาของโลก ทั้งนี้เราจะเห็นได้จากการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้ตั้งแต่ต้นจนจบ ญี่ปุ่นพยายามสร้างอย่างประณีตและแฝงไว้ซึ่งจิตวิทยาชั้นสูง เพื่อให้เป็นที่เกรงขามแก่นานาประเทศนั่นเอง…”

“ยุทธนาวีที่พอร์ตอาเธอร์” หนึ่งในการปะทะสำคัญของสงครามญี่ปุ่น – รัสเซีย
ที่มาของภาพ : หนังสือพิมพ์ Le Patriote Illustré 27 มีนาคม พ.ศ. 2447, วิกิพีเดีย เข้าถึงได้จาก : https://th.wikipedia.org/wiki/ไฟล์:Houang-Chin-San.jpg

          ผู้เขียนคิดว่า สงครามที่เป็นเรื่องราวในภาพยนตร์ดังกล่าว การทำสงครามระหว่างญี่ปุ่นกับรัสเซีย เพื่อแย่งชิงพื้นที่ท่าเรือในคาบสมุทรเกาหลี ผลของสงครามเป็นสิ่งที่ทำให้นานาประเทศล้วนงงตาแตกไปตาม ๆ กัน เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นฝ่ายที่ได้รับชัยชนะ และนับแต่นั้นเป็นต้นมาญี่ปุ่นจึงกลายเป็นเทศมหาอำนาจในภูมิภาคเอเชียที่นานาชาติก็ล้วนให้ความเกรงอกเกรงใจ

          เมื่อเห็นแง่มุมที่น่าสนใจของการฉายภาพยนตร์ครั้งแรกไปเรียบร้อยแล้ว เราไปดูการฉายภาพยนตร์ในยุคสมัยปัจจุบันกันบ้าง ว่าจะมีประเด็นอะไรให้ถกเถียงอภิปรายกันได้บ้างหรือไม่ 

การฟื้นตัวของบ้านเมืองในยุคปัจจุบันจากสภาวะโควิดกับ “กรุงเทพกลางแปลง” 

          ผู้เขียนเชื่อว่า “ความรู้สึกโหยหาอดีต” (Nostalgia) เป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้ในมนุษย์ทุกคนและทุก ๆ ช่วงวัย บางเวลาเราก็มีความสุขที่จะได้นึกถึงอดีตที่ล่วงเลยผ่านไปแล้ว และผู้เขียนก็เชื่ออีกว่า อดีตที่คนส่วนใหญ่กำลังโหยหาในช่วงเวลาเช่นนี้ คือบรรยากาศในการใช้ชีวิตปกติก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรค Covid – 19

          เมื่อพิจารณาโครงการต่าง ๆ ของท่านผู้ว่าฯ คนใหม่ โดยมองข้ามประเด็นทางการเมืองปัจจุบันอันเผ็ดร้อน “กรุงเทพกลางแปลง” ก็เป็นโครงการการฉายภาพยนตร์ในพื้นที่สาธารณะทั่วกรุงเทพ ที่ทำให้คนกรุง พอจะได้คลายความคิดถึงบรรยากาศปกติ และได้เริ่มกลับมาพบปะรวมกลุ่มกันในที่ชุมชนช่วง เช่นในช่วงก่อนสถานการณ์โรคระบาดไปได้บ้าง

          ภาพยนตร์ในดวงใจของใครหลาย ๆ คน ก็มีการนำมาฉายซ้ำกันในโครงการนี้ และก็ได้รับความนิยมจากมหาชนอย่างแพร่หลาย เช่น “2499 อันธพาลครองเมือง” ภาพยนตร์ยอดนิยมยุคคุณพ่อ คุณแม่ ที่ฉายบริเวณลานคนเมือง ไปเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม และ “รักแห่งสยาม” หนังดังสำหรับกลุ่มวัยรุ่นตอนปลาย ที่ฉายไปเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม

          ภาพที่ทางผู้เขียนได้นำมาฝาก คือการฉายหนังกลางแปลงเรื่อง “School Town King” เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม ที่สวนครูองุ่น ในย่านใจกลางเมือง แม้หลายคนอาจจะเคยรับชมภาพยนตร์ดังกล่าวมาบ้างแล้ว แต่การมาเปลี่ยนบรรยากาศมาดูหนังกลางแปลงก็ให้ความรื่นรมย์ที่แปลกใหม่ในอีกรูปแบบหนึ่ง

          ร้านรวงต่าง ๆ กลับมาค้าขายกันอย่างปกติ รวมทั้งผู้คนทุก ๆ ช่วงวัยก็เริ่มออกมาสมาคมกันในที่สาธารณะ โดยมีหนังกลางแปลงเป็นสื่อกลางดึงดูดความสนใจ “กรุงเทพกลางแปลง” จึงเป็นมหรสพกลางแจ้งที่แสดงให้เห็นถึงสภาวะของเมืองกรุงที่กำลังจะฟื้นตัวและกลับสู่สภาวะปกติอีกครั้ง

          หากมองภาพยนตร์ ละคร และศิลปะการบันเทิงทั้งลาย เป็นเพียงเรื่องราวของความบันเทิง สิ่งเหล่านั้นก็จะเป็นแค่ความบันเทิง แต่หากมองภาพยนตร์ ละคร และศิลปะการบันเทิงทั้งหลาย เป็นองค์ประกอบที่สัมพันธ์กับวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของมนุษย์ ผู้เขียนเชื่อว่า เราจะได้สัมผัสกับคุณค่าของ “เรื่องเล่า” และมิติอันซับซ้อน ของศิลปวัฒนธรรมในแต่ละยุคสมัยได้อย่างไม่รู้จบ

เอกสารอ้างอิง

  • นริศรานุวัดติวงศ์, สมเด็จ กรมพระยา. (2506). ชุมนุมบทละครและบทคอนเสิต. พระนคร : ห้างหุ้นส่วนจำกัด ศิวพร. (กรมศิลปากรจัดพิมพ์ อุทิศถวายในงานฉลองครบรอบร้อยปีแห่งวันประสูติ สมเด็จพระเจ้าบรม วงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เมษายน พ.ศ. 2506).
  • สมชาย พุ่มสอาด. (2514). ภาพยนตร์ในเมืองไทย. พระนคร : ห้างหุ้นส่วนจำกัดไทยอนุเคราะห์ไทย.

Writer & Photographer