เพิ่งจบไปไม่นานสำหรับศึกนัดแลกหมัดหยุดโลกหยุดใจ ระหว่างบัวขาว บัญชาเมฆ กับไอต้าวโคตะ มิอุระ ที่ผู้คนทั้งเซียนมวยและไม่ใช่เซียนมวยล้วนให้ความสนใจกันเป็นจำนวนมาก เนื่องจากทั้งความดุเดือดในการประลองฝีมือและความหล่อเหลาของนักกีฬา ต่างก็เป็นประเด็นที่ทำให้ผู้คนหันมาจับตาความเคลื่อนไหวในวงการมวยบ้านเรามากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ดี ผู้เขียนมิได้เป็นผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการแม่ไม้มวยไทย ทั้งยังปราศจากความรู้เกี่ยวกับกฎเกณฑ์ และกติกาของกีฬาประเภทดังกล่าวอย่างสิ้นเชิง จึงมิอาจนำผู้อ่านไปพิเคราะห์ความเป็นมาของมวยไทยในเชิงประวัติศาสตร์การกีฬาได้ ผู้เขียนจึงจะขอเกาะกระแสกีฬามวย ด้วยการนำเสนอเรื่องเล่าของมวยไทยที่ปรากฏในเอกสารเก่า ๆ ทั้งพระราชพงศาวดาร วรรณคดี และแม็กกาซีน ที่ปนเปไปด้วยเรื่องราวของวัฒนธรรม การเมือง และความหล่อเหลาของนักมวย ให้ผู้อ่านได้พออิ่มความรู้และเกิดความเพลินเพลินกันไปในเวลาเดียวกัน
“มวยไทยในพระราชพงศาวดาร” : เมื่อพระมหากษัตริย์ปลอมพระองค์เป็นนักมวย
ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาที่ชำระเมื่อครั้งรัชกาลที่ 1 แห่ง กรุงรัตนโกสินทร์ ได้กล่าวถึงพระมหากษัตริย์พระองค์หนึ่งที่โปรดการชกมวยเป็นอย่างมาก คือ สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 หรือที่เรารู้จักกันในนาม “พระเจ้าเสือ”
เนื้อความในพระราชพงศาวดารได้ระบุว่า ในจุลศักราช 1064 ปีมะเมีย พระเจ้าเสือได้เสด็จออกท้องพระโรงและตรัสถามขุนนางว่า ในแถบชนบทบ้านนอก มีการจัดมหรสพที่ใดบ้างหรือไม่ ข้าราชการคนหนึ่งจึงทูลตอบว่า มีการจัดงานฉลองพระอารามที่แขวงเมืองวิเศษไชยชาญ (อ่างทอง) พระเจ้าเสือจึงมีพระราชดำรัสว่า
“แต่เราเปนเจ้ามาช้านาน มิได้เล่นมวยปล้ำบ้างเลย แลมือก็หนักเนือยเลื่อยล้าช้าอ่อนไป เพลาพรุ่งนี้เราจะไปเล่นสนุกชกมวยลองฝีมือให้สบายใจสักหน่อยหนึ่งเถิด”
รุ่งขึ้นพระเจ้าเสือจึงปลอมพระองค์ “ผลัดพระภูษาแปลงเพศเปนคนยาก เสดจปลอมไปแต่กับตำหรวจ มหาดเลก ข้าหลวงเดิมสี่ห้าคนซึ่งเปนคนสนิท” เมื่อถึงเวทีประลองมวยจึงมีพระราขบัญชาให้ข้าหลวงที่ตามเสด็จไปบอกนายสนามว่า มีนักมวยในกรุงคนหนึ่งจะขอร่วมประลองชกมวย เมื่อขึ้นชกเสร็จสรรพ ผลการประลองปรากฏว่า พระเจ้าเสือ ทรงชนะด้วยหมัด Knockout นักมวยชาวอ่างทองไปถึง 2 คน และทรงได้รับรางวัลจากนายสนามเป็นเงินรวม 2 บาท เมื่อ “ค่อยสำราญพระราชหฤไทย” จากการ ชกมวยแล้ว จึงเสด็จกลับพระราชฐานดังเดิม
เรื่องพระเจ้าเสือปลอมพระองค์มาชกมวย อุบลศรี อรรถพันธุ์ (2524: 170) ได้ให้ข้อคิดเห็นไว้ว่า เป็นเหตุการณ์ที่ถูกเพิ่มเติมเข้ามาในพระราชพงศาวดารเมื่อครั้งมี การชำระพระราชพงศาวดารในสมัยรัชกาลที่ 1 เพื่อแสดงให้เห็นว่า พระมหากษัตริย์ในราชวงศ์สุดท้ายของกรุงศรีอยุธยานั้น “มิได้เคร่งครัดในขนบธรรมเนียมประเพณีอันศักดิ์สิทธิ์ของพระมหากษัตริย์”
ดังนั้น การชกมวยของพระเจ้าเสือในพระราชพงศาวดาร จึงมิใช่เพียงเรื่อง “การมวย” แต่เป็นเรื่อง “การเมือง” ที่เกี่ยวข้องกับสร้างประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยาขึ้น มาใหม่ เพื่อลดทอนคุณสมบัติแห่งพระมหากษัตริย์บางประการของพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย นำไปสู่การขับเน้นความยิ่งใหญ่ และเหมาะสมในการครองเศวตรฉัตรของพระมหากษัตริย์สมัยกรุงรัตนโกสินทร์
“มวยไทยในวรรณคดี” : วัฒนธรรมทางวรรณศิลป์กับความเป็นวีรบุรุษ
ในปี พ.ศ. 2430 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสูญเสีย พระราชโอรส พระราชธิดา และพระอรรคชายาเธอ รวมทั้งสิ้น 4 พระองค์ คือ
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมีพระบรมราชโองการให้จัดสร้างพระเมรุ และตกแต่งด้วยฉากรูปภาพใส่กรอบกระจกจำนวน 92 แผ่น เป็นจิตรกรรมเรื่องราวในพระราชพงศาวดาร และโปรดให้บรรดาเจ้านาย รวมทั้งขุนนางต่าง ๆ ที่มีความสามารถในเชิงกวี แต่งโคลงสี่สุภาพอธิบายไว้ในแต่ละรูปรวม 376 บท จนรวมเป็นวรรณคดีที่เรียกกันในภายหลังว่า “โคลงภาพพระราชพงศาวดาร”
การแต่งวรรณคดีเรื่องดังกล่าวมิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ผดุงฝีมือช่าง หรือไว้ตั้งอวดมหาชนในงานพระเมรุแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังมีจุดมุ่งหมายเพื่อแสดงพระมหากรุณาธิคุณและพระบรมเดชานุภาพของพระมหากษัตริย์ “ครั้งโบราณอโยธยา” และเพื่อบอกเล่าเรื่องราวของ
“… หมู่เสวกามาตย์ ที่องอาจสงคราม แลมีความสุจริต ทอดชีวิตแทนเจ้า ด้วยมูลเค้ากตัญญู ควรเชิดชูความชอบ …”
วรรณคดีเรื่องดังกล่าวจึงอัดแน่นไปด้วยเรื่องราวของพระมหากษัตริย์ และหมู่เสวกามาตย์ (ข้าราชบริพาร ขุนนาง) ที่อาจเรียกได้ว่าเป็น “วีรบุรุษ” ของชาวสยาม ในโคลงภาพลำดับที่ 69 ได้กล่าวถึงฝีมือมวยอันเลื่องลือของชายผู้หนึ่งนามว่า “นายขนมต้ม” ที่เป็นตัวแทนเชลยชาวกรุงศรีอยุธยา ขึ้นประลองมวยในแมตช์ที่พระเจ้ากรุงอังวะทรงเป็นโปรโมเตอร์ ด้วยพระองค์เอง
พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร กวีผู้ทรงพระนิพนธ์โคลงในส่วนนี้ได้ทรงบรรยายลีลาการออกหมัดมวยของนายขนมต้มไว้ว่า
“… ฉับฉวยชกฉกช้ำ ฉุบฉับ โถมทุบทุ่มถองทับ ถีบท้าว เตะตีต่อยตุบตับ ตบตัก หมดหมู่เมงมอญม้าว ม่านเมื้อหมางเมิน ฯ”
คำโคลงข้างต้นกวีได้เล่นเสียง “ฉ” และ “ต” เพื่อนำเสนอความ “รวดเร็ว” และ “รุนแรง” ของแม้ไม้มวยไทยสยาม ที่ทำให้ทั้งมอญ และม่าน (พม่า) ต่างก็รู้สึกขยาดหวาดกลัว หลังนายขนมต้มล้มบรรดานักมวยชาวอังวะได้แล้ว พระเจ้ากรุงอังวะถึงกับเอา “หัตถ์ลูบอก” และกล่าวว่า “ชาติสยามผิยามตก ไร้ยาก ไฉนนา ยังแต่ตัวยังต้อง ห่อนได้ไภยมี” ที่หมายถึง แม้ชาวสยามจะถึงคราวตกยาก เหลือแต่ตัว ปราศจากอาวุธ แต่ก็ยังคงเอาตัวรอดจากภัยอันตรายทั้งหลายทั้งปวงได้
ในโคลงบทสุดท้ายของภาพ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ได้ทรงกล่าวถึงเหตุการณ์นายขนมต้มชกมวยว่า เป็นเหตุการณ์ที่สมกับสุภาษิต “กรุงศรีอยุธยา ไป่ขาด ดีเลย” โดยตามปกติคงหมายถึงคำกล่าวที่ว่า กรุงศรีอยุธยาไม่สิ้นคนดี แต่ในที่นี้ก็อาจตีความได้ว่า พระองค์ทรงหมายถึง “กรุงศรีอยุธยาไม่สิ้นคนฝีมือดี” ได้อีกด้วยเช่นเดียวกัน
การนำเรื่องราวนายขนมต้มชกมวย มานำเสนอในวรรณคดีเรื่องนี้ร่วมกับ พระราชกรณียกิจอันยิ่งใหญ่ของพระมหากษัตริย์อยุธยา และวีรกรรมต่าง ๆ ของบุคคลสำคัญ จึงเปรียบเสมือนการแสดงคุณประโยชน์ของมวยไทย ที่ทำให้ชาวไทยมีชัยชนะเหนือชาวพม่าผู้เป็นคู่อริทางประวัติศาสตร์ของชาวไทยมาช้านาน และตัวบทดังกล่าวก็เป็นเครื่องบ่งชี้ว่า แม้ไม้มวยไทยถือเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ชาวบ้านสุดแสนจะธรรมดา อย่าง นายขนมต้ม ได้กลายเป็น “วีรบุรุษ” ที่ได้รับการขนานนามในพระราชพงศาวดารและวรรณคดีราชสำนัก มวยไทยในโคลงภาพพระราชพงศาวดาร จึงเป็นการผูกโยงระหว่าง ศิลปะการต่อสู้ประจำชาติ กับความเป็นวีรบุรุษของชาติ และนำเสนอด้วยวรรณคดีซึ่งเป็น “วัฒนธรรมทางวรรณศิลป์ของไทย” รูปแบบหนึ่ง
“มวยไทยในแม็กกาซีน” : ปรากฏการณ์ความหล่อของนักมวยไทยที่มีมาก่อนกาล
เขยิบจากพระราชพงศาวดาร และวรรณคดีโบราณ มาส่อง “แม็กกาซีน” สมัยเก่า ๆ ดูบ้าง แล้วจะพบว่า ไอต้าวโคตะ ไม่ใช่นักมวยคนแรกที่มีความหล่อเป็นอาวุธซึ่งอันตรายต่อผู้พบเห็นพอ ๆ กับมือและเท้า
ใน “สยามสมัย” แม็กกาซีนข่าวรายสัปดาห์ ฉบับที่ 145 วันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2493 ได้ลงข่าวที่มีพาดหัวชื่อว่า “เกียรตินักมวยไทยในอ๊อสเตรเลีย” ของนักเขียนนามปากกา เสือสมิง ที่กล่าวถึงการเดินทางของนักมวยไทยสองคน คือ “ศิษย์ผล เดชศักดา” และ “หลุยส์ เดชศักดา” ไปแข่งขันชกมวยที่เมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย
นอกจากความลำบากยากเย็นในการเดินทาง อาหารการกิน และรายละเอียดเกี่ยวกับการนัดชกมวยแล้ว ศิษย์ผลและหลุยส์ ยังได้เล่าเรื่องราวที่แสดงถึงความนิยมชมชอบหนุ่มไทยที่เกิดขึ้นในหมู่สาว ๆ ออสเตรเลียไว้อีกด้วย ดังความว่า
“โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกแหม่มที่ทำความสอาด และเสิฟอาหารแล้ว ดูรู้สึกนิยมพวกเราเสียจริง ๆ ว่าง ๆ เจ้าหล่อนมักจะย่องเข้ามาคุยในห้องพักพวกเรา 2 ต่อ 2 เสมอ ใช่แต่เท่านั้น เจ้าหล่อนยังเป็นฝ่ายปลุกปล้ำกอดจูบเราเสียอีก เล่นเอาพวกเราใจสั่นตัวแข็งไปตาม ๆ กัน…” (สยามสมัย, 2493 : 22)
จากข้อความสัมภาษณ์ดังกล่าว จะเห็นได้ว่าความหล่อเหลาของนักมวยไทยก็คงไม่เป็นสองรองใคร อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนคิดว่า การกอด การจูบ ต่าง ๆ คงเป็นวัฒนธรรมแบบฝรั่งที่อาจทำให้คนไทยเกิด Culture shock เพราะอาจยังไม่ทันตั้งเนื้อตั้งตัว
ทั้งนี้นักมวยทั้งสองก็ได้ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า บรรดาแหม่มชาวออสทั้งหลายชื่นชอบพวกตนมาก จนถึงขนาดก็ได้จัดปาร์ตี้และเชิญนักมวยทั้งสองไปร้องเพลง แต่ในที่สุดการขับร้องครั้งนั้นก็ร้องกันไปอย่างผิด ๆ ถูก ๆ เพราะจำเนื้อไม่ได้ และ “ภาษาที่พูดกันก็ว่ากันเลอะเทอะไปหมด … ในที่สุดก็ต้องรับสารภาพกับเขาตรง ๆ ว่า เราพูดไม่ได้เลย นอกจาก Yes ๆ No ๆ เท่านั้น” (สยามสมัย, 2493 : 39)
เรื่องเล่าของมวยไทยในแม็กกาซีน อาจจะมีความแตกต่างไปจากในพระราชพงศาวดาร และวรรณคดีไทยอยู่มาก อย่างไรก็ตาม เรื่องราวดังกล่าวก็มีความน่าสนใจ ไม่แพ้กัน เพราะนอกจากจะแสดงให้เห็นปรากฏการณ์การหวีดนักมวย ที่เป็นสิ่งที่มีมาตั้งนมตั้งนานแล้ว ยังแสดงให้เห็นอีกว่า การดูกีฬา ดูอย่างไรก็สนุก ต่อให้ดูกีฬาไม่เป็น ก็สามารถดูนักกีฬาทดแทนได้ และเรื่องราวของเขาเหล่านั้น ก็ทำให้เกิดความสนุกสนานเพลิดเพลินไม่น้อยไปกว่าการรับชมเกมกีฬา ในท้ายที่สุดเราอาจนำเรื่องราวของนักกีฬาบางคนมาสร้างแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตให้กับตัวเราเองก็ได้ ไม่วันใด ก็วันหนึ่ง
“ประวัติศาสตร์และความเป็นมวย” จึงเป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของการกีฬา ที่ทำให้เราได้เห็นความสัมพันธ์ของแม้ไม้มวยไทยกับมิติทางสังคมและวัฒนธรรมในรูปแบบต่าง ๆ ในส่วนท้ายนี้ผู้เขียนก็ขอฝากข้อคิดอย่างเตือนใจให้กับแฟนกีฬาไว้อย่างหนึ่งว่า
การดูมวยไทย ที่ดูกันอย่างเอาเป็นเอาตาย ถึงขั้นแบ่งฝักแบ่งฝ่าย สร้างความเกลียดชัง หรือการเกาะขอบเวทีมวยเพื่อใช้เป็นเครื่องมือแสวงหาความมั่งคั่งที่ไม่มั่นคง ในวงการพนัน อาจเป็นการดูกีฬาที่ให้โทษมากกว่าคุณ แต่การดูกีฬาเพื่อให้มีหัวใจนักกีฬา เพื่อสอนให้ชีวิตรู้จักรับมือกับความพ่ายแพ้ และไม่หลงใหลไปกับชัยชนะต่างหาก คือ การดูกีฬาที่เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง
เอกสารอ้างอิง
- โคลงภาพพระราชพงศาวดาร. (2465). กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร. (พิมพ์ในงานพระราชทาน เพลิงศพ พระตำรวจโท พระยาอนุชิตชาญไชย และคุณหญิงเชย อนุชิตชาญไชย 2465).
- พระราชพงษาวดารกรุงเก่า เล่ม 2. (2407). กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ป้อมปากคลองบางหลวง.
- สถาบันอนุรักษ์ศิลปะมวยไทย กรมพลศึกษา. (2558). ศิลปะมวยไทย. ม.ป.ท.: ม.ป.พ.
- เสือสมิง. (2493). “เกียรตินักมวยไทยในอ๊อสเตรเลีย.” ใน สยามสมัย 145, 3 (กุมภาพันธ์) 22 – 41.
- อุบลศรี อรรถพันธุ์. (2524). “การชำระพระราชพงศาวดารในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬา โลก”. วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภาควิชา ประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร.
Writer
นักเรียนวรรณคดี นักกิน และนักประพันธ์มือสมัครเล่น ผู้หลงใหลอะไรก็ตามที่เป็นของเก่าแก่โบราณ