“พระอาทิตย์” เป็นชื่อถนนสายหนึ่งในเกาะรัตนโกสินทร์ ที่ทอดยาวเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งต้นจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปจนถึงป้อมพระสุเมรุ บริเวณสองฝั่งถนนเป็นที่ตั้งของอาคารสำคัญหลายแห่ง เช่น ทำเนียบท่าช้าง ซึ่งเคยเป็นบ้านพักของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ที่ทำการของยูนิเซฟประเทศไทย (UNICEF Thailand) รวมทั้งอาคารขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) นอกจากนี้ถนน พระอาทิตย์ ยังเป็นเส้นทางสายไหมสำหรับนักกินที่มีร้านอร่อยจำนวนมากมาประชุมกันโดยพร้อมเพรียงอยู่ตลอดทั้งเส้น

          เกือบสุดหัวถนนมีอาคารปูนสองชั้นทรงปั้นยา ทาสีเปลือกไข่ ขลิบขอบประตูหน้าต่างด้วยสีขาว สถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียล (Colonial Style) แอบอยู่ใกล้ ๆ กับป้อมพระสุเมรุ อาคารแห่งนี้ปัจจุบันคือ “หอศิลป์ ณ บ้านเจ้าพระยา”

          “บ้านเจ้าพระยา” สร้างขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แรกเริ่มเดิมทีเป็นตำหนักในวังของพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นสถิตยธำรงสวัสดิ์ หรือพระองค์เจ้าเนาวรัตน์ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้านายพระองค์นี้มีพระปรีชาสามารถในด้านศิลปะหลายแขนง เช่น ด้านวรรณศิลป์ พระองค์ทรงเป็นหนึ่งในกวีที่มีส่วนร่วมในการประพันธ์โคลงภาพพระราชพงศาวดาร วรรณคดีเรื่องสำคัญในสมัยรัชกาลที่ 5 ทั้งนี้ยังทรงแตกฉานในศาสตร์ทางด้านคีตศิลป์และหลักการขับร้องรูปแบบต่าง ๆ จนได้รับความไว้วางใจจากหลวง ให้ว่าราชการในกรมมหรสพตลอดพระชนม์ชีพ

พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นสถิตยธำรงสวัสดิ์
ที่มา : หนังสือ “เรื่องเฉลิมพระยศเจ้านาย ฉะบับมีพระรูป” (ราชบัณฑิตยสภา, 2472 : 150)

          เมื่อกรมหมื่นสถิตยธำรงสวัสดิ์ สิ้นพระชนม์ลงในปี พ.ศ. 2433 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็มีพระราชดำริให้ใช้อาคารดังกล่าวเป็นสถานที่สำหรับต้อนรับแขกเมืองจากต่างประเทศ จนได้กลายมาเป็นสถานที่พักอาศัยของนายมารีโอ ตามัญโญ (Mario Tamagno) นายช่างที่มีบทบาทสำคัญในยุคที่สยามกำลังสร้างบ้านแปลงเมืองให้โก้หรูตามแบบตะวันตก สถาปนิกนายนี้เป็นผู้ออกแบบสถานที่สำคัญมากมาย เช่น พระที่นั่งอนันตสมาคม สถานีรถไฟหัวลำโพง วังปารุสกวัน อาคารในทำเนียบรัฐบาล และบ้านพิษณุโลก

นายพลโท พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าคำรบ
ที่มา : หนังสือ “ลูกแก้วเมียขวัญ” (ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย, 2544 : 180)

          หลังจากเป็นที่พำนักของศิลปินทั้งสอง อาคารดังกล่าวก็เริ่มก้าวข้ามมามีบทบาทเป็นส่วนหนึ่งของหน่วยงานที่ดูแลความมั่นคงของชาติ ในปี พ.ศ. 2459 รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สถานที่แห่งนี้ได้กลายเป็นตำหนักที่ประทับของนายพลโท พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าคำรบ อธิบดีกรมตำรวจภูธรและกรมพลตระเวนพระองค์แรกแห่งสยาม และหลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 อาคารหลังนี้ก็ได้ถูกใช้เป็นที่ทำการศาลรัฐธรรมนูญชั่วคราว สอดรับกับสมัยประชาธิปไตย

          หลังจากผ่านร้อนผ่านหนาวมาราวร้อยปีตัวอาคารก็ชำรุดทรุดโทรมลงไปมาก กลุ่ม ปตท. จึงได้เข้ามาบูรณะซ่อมแซม และมอบหมายให้ตึกปั้นหยาแห่งนี้กลับมาทำหน้าที่อันเกี่ยวพันกับศิลปะอีกครั้ง ปัจจุบัน “หอศิลป์ ณ บ้านเจ้าพระยา” ได้เปิดเป็นอาคารไว้สำหรับจัดแสดงผลงานศิลปะของศิลปินที่มีชื่อเสียงไปจนถึงศิลปินรุ่นใหม่ โดยการจัดนิทรรศการก็จะพลัดเปลี่ยนเวียนไปเรื่อย ๆ ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์นี้เอง ทางหอศิลป์ได้จัดนิทรรศการ “ทัศนาไทย” ที่ได้นำศิลปะไทยประเพณีมาจัดแสดงไว้อยู่แน่นขนัด

ภาพวาดสีอะคริลิค “มารผจญ” ของศุภชัย เสริมสุขเจริญชัย
ภาพร่างต้นแบบ “ปราบพญานันโทปนันทและโปรดพุทธมารดา” ของศุภชัย เสริมสุขเจริญชัย

          จิตรกรรมข้างต้นของศุภชัย เสริมสุขศิริชัย ได้หยิบเอาเรื่องราวในพุทธประวัติมานำเสนอ โดยจิตรกรรมเหล่านี้จะไปปรากฏอยู่บนฝาผนังวัดหนองจาน จังหวัดอุบลราชธานี ตามโครงการความร่วมมือระหว่างศิลปินกับชาวบ้านเพื่อทำนุบำรุงพุทธศาสนสถานในท้องถิ่น นอกเหนือจากงานจิตรกรรมก็ยังมีการจัดแสดงงานประติมากรรมไว้บางส่วน เช่น เศียรพระพุทธอินทรปฏิมากร

ต้นแบบเศียรพระพุทธอินทรปฏิมากร ของเวสสุกรรม Thai Art Gallery & Studio

          ไม่เพียงแต่การจัดแสดงผลงานที่ศิลปินได้สร้างสรรค์ขึ้นใหม่ ทัศนาไทยยังได้จัดแสดงภาพเขียนที่เป็นส่วนหนึ่งของการวิจัยการจัดองค์ประกอบของจิตรกรรมฝาผนังเรื่อง “รามเกียรติ์” ในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เพื่อเป็นแนวทางในการฟื้นฟูงานศิลปะโบราณที่เกิดความชำรุดเสียหายอีกด้วย

ภาพร่างที่แสดงรายละเอียดของจิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์

          สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งในทัศนาไทยคือ โต๊ะกลางห้องนิทรรศการซึ่งจัดวางภาชนะใส่สีวาด ตั้งอยู่เรียงราย ทั้งยังมีวัตถุดิบธรรมชาติ สำหรับการผสมสีเหล่านั้นวางประกบอยู่คู่กันด้วย เช่น เปลือกหอยสำหรับทำสีขาว ชาดสำหรับทำสีแดง และหินแร่อีกจำนวนมากที่ให้สีสันหลากหลายเฉด

          “กว่าจะเป็นหอศิลป์” บ้านเจ้าพระยา ได้ทำหน้าที่หลากหลายรูปแบบ ตอบสนองความต้องการของผู้เป็นเจ้าของมาตั้งแต่ระดับพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูง ชาวต่างประเทศ ตลอดจนเจ้าพนักงานที่ดูแลความเป็นอยู่ของประชาชน ในวันนี้ อาคารดังกล่าวก็ยังคงมีภารกิจต่อสังคม โดยเป็นสื่อกลางระหว่างมนุษย์กับศิลปะ ให้คนในสังคมไทยยังมีพื้นที่เพียงพอที่จะเสพสุนทรียรสของสีสัน รูปร่าง และลวดลาย โดยไม่ต้องเสียค่าเข้าชมให้ระคายเงินในกระเป๋า

เอกสารอ้างอิง

  • ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. (2554). ลูกแก้ว เมียขวัญ. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: มติชน.
  • ราชบัณฑิตยสภา. (2472). เรื่องเฉลิมพระยศเจ้านาย ฉะบับมีพระรูป. ม.ป.ท. โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร.

Writer & Photographer