ปอนด์ – ศรัณรักษ์ สุขศรี | เจ้าของร้านอาหารจีน “จินหลง เฮ้าส์”
ปอนด์ ศรัณรักษ์ สุขศรี จากการใช้ชีวิตที่เต็มเปี่ยมไปด้วยประสบการณ์ สู่การพัฒนาร้านอาหารจีนสไตล์ใหม่ที่คนทั่วไปก็สามารถเข้าถึงได้ "จินหลง เฮ้าส์"
ผู้เขียนคิดว่าท่านผู้อ่านต้องเคยได้ยินคำขวัญนี้มาแล้วอย่างแน่นอน ในด้านหนึ่ง แม้จะเป็นคำขวัญที่ช่วยให้เห็นลักษณะเฉพาะในเชิงบวกของเมืองหลวงแห่งประเทศไทยแห่งนี้ แต่ในอีกด้านหนึ่ง ภาพความสวยงามที่ปรากฏในคำขวัญนี้กลับไม่สะท้อนปัญหานานาประการที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานครแต่อย่างใด
เมือง “เทพ” สร้าง แต่เทพไม่ได้อยู่ไง เทพเขาก็ต้องอยู่บนสวรรค์ชั้นฟ้าสิ
เมือง “เทพ” สร้าง เลยเป็นเมืองที่ตอบโจทย์ “เทพ” เท่านั้น แต่ไม่ได้ตอบโจทย์คนธรรมดาแบบเรา
ฝนตกลงมาหน่อยเดียว อ้าว เกิดสภาวะ “น้ำรอการระบาย” อีกแล้ว น้ำท่วมปุ๊บ รถก็ติดปั๊บ
รถติด เป็นปัญหาโลกแตก (ของประเทศไทย) ที่ไม่เคยมีใครแก้ปัญหานี้ได้ วันหยุดเสาร์-อาทิตย์ก็ยังติด พอเกิดอุบัติเหตุ (แม้จะแค่เฉี่ยวชนเป็นรอยถลอกนิด ๆ หน่อย ๆ) ก็ยิ่งติดหนักขึ้นไปอีก หากเป็นอุบัติเหตุใหญ่ ก็จะไม่ได้เกี่ยวข้องกับประเด็นเรื่องการจราจรเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวพันกับเรื่อง “ความปลอดภัย” ด้วย
ทางเท้าที่แคบบ้าง ขรุขระบ้าง ฝาท่อระบายน้ำปิดบ้างไม่ปิดบ้าง เดิน ๆ ไปท่านอาจล้มคะมำคว่ำหงายได้ ท่านอย่าได้หวังว่าจะสวมรองเท้าส้นสูงสีแดงแบรนด์ดังจากฝรั่งเศสบนทางเท้าของกรุงเทพฯ เชียว เพราะรองเท้าคู่งามของท่านอาจมีอายุการใช้งานที่สั้นกว่าปกติ
สายไฟฟ้า สายสื่อสาร ที่พันกันอีนุงตุงนังบนเสาไฟฟ้า วันดีคืนดี สายเหล่านี้ก็อาจจะทิ้งตัวลงมาให้คนข้างล่างตื่นเต้นเล่น ๆ
ความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน กล้องวงจรปิดที่มีอยู่ก็ไม่ได้ช่วยอะไร เหมือนเป็นของเล่นติดไว้ประดับท้องถนนมากกว่า
ยังไม่นับระบบขนส่งมวลชนที่ไม่ตอบโจทย์ทั้งในแง่คุณภาพและราคา รถไฟฟ้าแม้จะสะดวกแต่ก็ยังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ แถมราคาก็แสนแพง ผู้มีรายได้น้อยไม่อาจเข้าถึงการบริการเช่นนี้ได้ ส่วนรถเมล์นั้น ต้องร้องอุทานว่า สภาพ !!!! เพราะยังมีหลายสาย หลายคัน ที่ควรจะเป็นเศษเหล็กไปแล้ว ไม่ใช่เอามาวิ่งบนท้องถนนแบบนี้ รวมไปถึงความ (ไม่) ครอบคลุมของระบบขนส่งมวลชนในระดับตรอกซอกซอย (เพลงฮิตอมตะนิรันดร์กาลของพี่ใหม่ เจริญปุระดังก้องขึ้นในหัวทันที “กลับดึก อยู่ก็ลึกในซอยเปลี่ยววว…”)
กรุงเทพมหานครเป็นเมืองใหญ่ มีประชากรอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก มีความสลับซับซ้อน มีปัญหานานาสารพัด แน่นอนว่าการแก้ไขปัญหาของกรุงเทพฯ ต้องใช้บุคลากรที่มีประสบการณ์ ที่มีความเชี่ยวชาญในการแก้ไขปัญหา
ทางรายการได้มีโอกาสสนทนากับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ทวิดา กมลเวชช ผู้ที่นอกจากจะเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านนโยบายสาธารณะ ยุทธศาสตร์ การออกแบบและการวิเคราะห์สังคม รวมไปถึงการบริหารจัดการ และยังเป็นคณบดีสุดแซ่บ เป๊ะปังอลังการ แฟชั่นไอคอนของคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แล้ว ท่านยังเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการจัดทำและขับเคลื่อนแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ซึ่งแน่นอนว่าประเด็นว่าด้วยการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ก็ย่อมเกี่ยวข้องกับแผนพัฒนากรุงเทพมหานครด้วย
อาจารย์ทวิดากล่าวถึงการหาเสียงของผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครว่ามีนโยบายหนึ่งที่คล้ายคลึงกันนั่นคือความปลอดภัยและสาธารณสุข ภายใต้บริบทที่กรุงเทพฯ เป็นมหานครที่มีความหลากหลาย ทั้งพื้นที่เมืองเก่า และพื้นที่เมืองใหม่ ความหลากหลายเช่นนี้ด้านหนึ่งก็เป็นเสน่ห์ แต่อีกด้านหนึ่งก็เป็นความยุ่งเหยิง บริหารจัดการยาก โดยเฉพาะเมืองขนาดใหญ่ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานเช่นกรุงเทพฯ นี้ การบริหารจัดการรวมไปถึงการพัฒนาเมืองเมืองหนึ่งนั้นจะเป็นไปในทิศทางที่ได้รับการกำหนดเอาไว้ได้มากน้อยเพียงใด เมืองทั่วโลกโดยเฉพาะเมืองที่เป็นมหานคร ไม่จำเป็นต้องเป็นเมืองหลวง แต่เป็นเมืองที่มีความสำคัญ เป็นเมืองขนาดใหญ่ มีความหนาแน่นของประชากร มหานครบางแห่งอาจมีพื้นที่ไม่กว้างนักแต่มีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น มหานครนั้นจึงมีความ “ใหญ่” ด้วยกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งกลางวันและกลางคืนก็ถือว่ามีความสำคัญ
อาจารย์ทวิดาย้ำว่า การบริหารจัดการมหานครไม่ใช่เรื่องง่ายมาแต่ไหนแต่ไร การวางแผนที่มีเป้าหมายระยะยาวจึงมีความจำเป็นอย่างมาก ในคำที่เราคุ้นเคยกันคือ “ยุทธศาสตร์” แนวคิดที่มีมาแต่เดิมคือการพัฒนาไปให้ทันสมัย พัฒนาไปให้ไกล แต่เมื่อมีประเด็นปัญหาต่าง ๆ เข้ามาแทรก เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ โควิดระบาด หรือเมื่อพัฒนาไปแล้ว แต่ทำไมคนจนมีจำนวนมากขึ้น จึงกลายเป็นคำถามขึ้นมาว่าการพัฒนาไปให้ทันสมัยนี้ เราลืมประเด็นอะไรที่สำคัญหรือที่จำเป็นไปหรือเปล่า
ในทางกายภาพ ความเป็นมหานครมี “speed” ในแง่ที่ว่าสิ่งที่ก่อสร้างไปแล้วก็อาจเสื่อมโทรมลง ส่วนสิ่งที่กำลังจะสร้างขึ้นมาใหม่ก็จะมีความสวยงามขึ้น แต่ในความสวยงามที่เห็นนั้นก็จะไปมีปัญหาต่อไปในอนาคต สิ่งนี้เรียกว่า “speed” ในตัวกายภาพและสิ่งแวดล้อมของเมือง ประการต่อมา คือ speed ในความเป็นคนเมือง เมื่อ speed ในทางกายภาพมีปัญหา ก็จะส่งผลกระทบมาสู่ speed ของความเป็นคนเมือง กลายเป็นว่าคนเมืองสนใจแต่ความอยู่รอดในแต่ละวันของตนเองเท่านั้น แต่กลับไม่ค่อยสนใจในปัญหาของเมือง สนใจแต่เพียง “อาการของเมือง” ผ่านความรู้สึกไม่พอใจ จึงนำมาสู่คำถามต่อไปว่า speed ของผู้บริหารมหานครนั้น ตามทัน speed ของสิ่งแวดล้อมและกายภาพของเมืองมากน้อยแค่ไหน นอกจากนี้ ที่ผ่านมา เมืองมีปัญหาเพราะไม่สามารถพัฒนาไปได้อย่างที่วางแผนไว้ ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครครั้งนี้มีหลายท่านมาก อาจารย์ทวิดาตั้งข้อสังเกตว่า หลังจากการเลือกตั้งในวันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม ผู้สมัครคนใดเก็บป้ายหาเสียงได้หมดก่อนถือว่ามีความรับผิดชอบต่อสังคม
อาจารย์ทวิดายังเน้นให้เห็นถึงความสำคัญของแผนพัฒนากรุงเทพมหานครอีกด้วย ความที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครนั้นไม่ใช่ว่าเมื่อได้รับการเลือกตั้งเข้ามาแล้วก็จะมาทำอะไรตามใจตนเองไม่ได้ แต่ต้องปฏิบัติงานให้สอดคล้องไปกับแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ซึ่งมีหลายเวอร์ชั่น ทั้งแผน 20 ปี โดยมีคณะทำงานจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ร่วมกับคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ด้วยในการช่วยกรุงเทพฯ ดำเนินการพัฒนา ทั้งนี้ นับแต่เมื่อครั้งหม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในปี พ.ศ. 2555 กรุงเทพมหานครเริ่มมองวิสัยทัศน์ 20 ปี โดยมีคณะทำงานจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นผู้ทำแผนแรกขึ้น โดยเป็นแผน 20 ปี จาก พ.ศ. 2556 – 2575 ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะเป็นมหานครแห่งเอเชีย ถ้าพูดเป็นภาษาแซ่บ ๆ คือจะเป็น Asian sweetheart กันเลยทีเดียว เป็นเมืองมีเสน่ห์น่ารัก อบอุ่นน่าอยู่ ใคร ๆ ก็อยากมา โดยเล่มที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นผู้จัดทำขึ้นมีการทำประชาพิจารณ์ถามความเห็นของคนกรุงเทพมหานคร โดยในฉบับ พ.ศ. 2556-2575 ระบุว่าการเป็นมหานครแห่งเอเชียคือต้องเป็นเมืองปลอดภัย เมืองสีเขียว เมืองสำหรับทุกคนไม่ว่าคุณจะเป็นคนกลุ่มใด วัฒนธรรมไหน ศาสนาใด กลุ่มคนจน คนเมือง กลุ่มแรงงาน คนทำมาหากินหรือนักลงทุน ต้องเป็นมหานครที่เชื่อมต่อสาธารณูปโภค สาธารณูปการ และการจราจรได้ดี ต้องเป็นเมืองที่ส่งเสริมประชาธิปไตยอีกด้วย
เมื่อกล่าวถึงประเด็นยุทธศาสตร์ อาจารย์ทวิดากล่าวว่าคนที่ศึกษาทางด้านยุทธศาสตร์ทั่วโลกจะทราบกันดีว่าในการวางยุทธศาสตร์เมือง จะต้องมียุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนากลไกของเมือง ซึ่งก็คือการบริหารจัดการกรุงเทพมหานคร ที่สอง speed แรกจะได้รับการตอบสนองด้วยเมืองมหานครที่เป็นลักษณะของเมือง แต่ยุทธศาสตร์สุดท้ายจะเป็นยุทธศาสตร์ของการที่ประชากรกรุงเทพฯ เรียกร้องว่าต้องมีการบริหารจัดการอย่างมืออาชีพ ในปี พ.ศ. 2555 เป็นที่มีการเรียกร้องในสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ จึงนำมาสู่การจัดทำเป็นแผนยุทธศาสตร์ฉบับที่ 1 ตามลักษณะของแผนยุทธศาสตร์ไม่ใช่แผนที่วางแล้วปรับไม่ได้ อาจาร์ทวิดาย้ำว่าแผนยุทธศาสตร์สามารถปรับเปลี่ยนได้ เพียงแต่เป้าหมายยังคงเหมือนเดิม ทั้งนี้ การที่กรุงเทพฯ จะเป็นมหานครแห่งเอเชียโดยตอบสนองเป้าหมายทั้ง 7 ประการนี้ ไม่ใช่เรื่องที่แย่ มหานครแห่งใด ๆ ในโลกก็อยู่ในแบบแผนเช่นนี้ แต่เราต้องมีการทบทวนแผน จึงเกิดเป็นการทบทวนแผนครั้งที่ 1 เป็นการปรับปรุงเล็กน้อย ที่เรียกว่า minor change เมื่อช่วง พ.ศ. 2560-2561 แผนระยะแรก พ.ศ. 2556-2560 ระยะ 5 ปีแรก ต้องทบทวนแผนว่ามีจุดไหนบ้างที่ทำได้หรือทำไม่ได้ อยากจะมีความปลอดภัย จัดใดที่มีความเสี่ยงทราบหรือไม่ ทำไปแล้วกี่จุด ต่อมาเมื่อ minor change เสร็จแล้ว ก็เกิดแรงกดดันหลายประการขึ้นในช่วงสองปีที่ผ่านมานี้ ประการแรกคือยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ระหว่าง พ.ศ. 2561-2580 โดยในปี 2580 แผนยุทธศาสตร์ชาติกำหนดว่าไทยจะมีความเหลื่อมล้ำน้อยมาก แผนยุทธศาสตร์ชาติยังกำหนดว่าไทยจะต้องเป็นประเทศในกลุ่มโลกที่หนึ่ง ไทยจะต้องเป็น 4.0 หรือ 5.0 ไทยจะต้องมีการศึกษาที่เจริญรุ่งเรือง เมื่อแผนยุทธศาสตร์ชาติกำหนดมาแบบนั้น เมื่อหันกลับมาพิจารณาแผนพัฒนากรุงเทพมหานครแผนที่หนึ่ง ที่จบใน พ.ศ. 2575 ในขณะที่แผนยุทธศาสตร์ชาติไปจบในปี พ.ศ. 2580 ดังนั้น ทางกรุงเทพมหานครจึงต้องดำเนินงานให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ และนับเป็นโอกาสให้ทบทวนแผนพัฒนากรุงเทพฯ ด้วยว่า ในเมื่อยุทธศาสตร์ชาติตั้งเอาไว้ขนาดนั้น แผนพัฒนากรุงเทพฯ ที่ตั้งเอาไว้ จะสามารถไปถึงจุดนั้นได้หรือไม่ ทั้งนี้ ดร. สุรินทร์ พิศสุวรรณ เคยกล่าวไว้ว่า
ถ้าเราเชื่อตามคำพูดนี้ เราต้องทบทวนแผนพัฒนาฯ อันนี้เป็นแรงผลักดันที่หนึ่ง
แรงผลักดันที่สอง คือ โควิด
เพราะฉะนั้น หลายประเด็นที่อาจจะไม่ได้ถูกปรับใน minor change จึงเป็นเหตุให้นำมาสู่ “major change” ผ่านแผนพัฒนากรุงเทพมหานครระยะ 20 ปี พ.ศ. 2561-2580 นัยของแผนฉบับนี้คือเพิ่งจัดทำเสร็จเมื่อต้นปี พ.ศ. 2565 ดังนั้นจึงมีระยะการบังคับใช้ระหว่าง พ.ศ. 2566-2580 แต่ในความเป็นจริง ไม่สามารถบังคับใช้ได้ยาวขนาดนั้น ดังนั้นจึงมีแผนพัฒนากรุงเทพมหานครระยะ พ.ศ. 2566 – 2570 ซึ่งเรียกว่าเป็นฉบับ “ถอดร่างทรง” นั่นคือ แผนพัฒนากรุงเทพมหานครฉบับปี พ.ศ. 2580 เป็นการวางเป้าหมายแบบกว้าง ๆ นั่นคือ ต้องมีการทบทวนแผนพัฒนาฯ ทุก ๆ 5 ปี ส่วนแผนปฏิบัติราชการฉบับ พ.ศ. 2566 เป็นรูปแบบของระบบราชการว่าต้องทำให้มี
อาจารย์ทวิดายังย้ำถึงความสำคัญของยุทธศาสตร์ 7 ประการ โดยที่มีการปรับกระบวนทัศน์ของ 7 ยุทธศาสตร์นี้เสียใหม่ วิชาการความรู้ของทั้ง 7 มุมมองนี่เปลี่ยนแปลงไป ได้แก่
ประเด็นทั้งหมดนี้จะมีการวางเป็นเป้าหมาย จึงเป็นที่มาของการสนทนากับอาจารย์ทวิดาในวันนี้
ส่วนเรื่องแผนที่ควรเริ่มทำก่อน ในทัศนะของอาจารย์ทวิดามองว่าผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ไม่ว่าจะเป็นท่านใดก็ตาม เมื่อเข้ารับตำแหน่งแล้ว ถามว่าแผนพัฒนากรุงเทพมหานครทั้งหมดที่พูดถึงนี้จะใช้ได้ทั้งหมดไหม ในความเป็นจริงคงใช้ไม่ได้ทั้งหมด ประเด็นนี้ต้องยอมรับ เพราะว่าสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปหลาย ๆ ประการ คนที่เขาหาเสียงมา เขาก็มีนโยบายเร่งด่วนของเขา แต่ทุกคนที่หาเสียงพูดเรื่องความปลอดภัย สุขภาพ การศึกษา การจราจร และเศรษฐกิจ แสดงว่ามีความเร่งด่วนในแง่ของการบีบรัด ก็คือสถานการณ์หลังโควิด ซึ่งนโยบายเร่งด่วนก็คือการทำให้สุขอนามัย การท่องเที่ยว การคืนพื้นที่ให้มีการทำงานเต็มที่ ให้มีการหารายได้เต็มที่ คนที่มาดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ เองก็ต้องหันมาพิจารณาแล้วว่าจะทำอย่างไรให้กิจการด้านสาธารณสุขดีขึ้น ในทัศนะของอาจารย์ทวิดาคิดว่าเรื่องแรกที่ควรจะทำคือเรื่องความปลอดภัยกับเรื่องเศรษฐกิจ โดยผู้ว่าฯ ควรอ่านแผนพัฒนากรุงเทพมหานครเป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน เพื่อดูว่านโยบายเร่งด่วนของตัวเองนั้นสอดคล้องกับประเด็นใดที่ได้ดำเนินการมาแล้ว แม้ว่าแผนพัฒนากรุงเทพมหานครนั้น ในด้านหนึ่งอาจจะไม่ใช่เอกสารที่สมบูรณ์แบบ แต่ก็มีข้อมูลที่คณะทำงานได้รวบรวมมาให้ว่าเมืองมีข้อมูลหรือแง่มุมใดบ้าง ดังนั้น เมื่อผู้ว่าฯ เข้ารับตำแหน่ง และยังมีสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เข้ามาด้วย ไม่ว่าจะมาด้วยกันหรือไม่ก็ตาม แต่สิ่งที่ต้องทำคือการนำข้อมูลพื้นที่มาตรวจสอบว่าข้อมูลที่คณะทำงานได้ทำมาก่อนหน้านี้พร้อมกับหน่วยงานและภาคประชาชนนั้นตรงกันหรือไม่ ถ้าไม่ตรงกันก็ปรับเลย และดำเนินการได้เลย
เรื่องที่ยากแต่ว่าต้องทำอีกเรื่องหนึ่งคือการปรับกลไกการบริหารจัดการของกรุงเทพมหานคร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกฎหมายที่เก่าเกินไป ไม่สอดคล้องกับสภาพปัจจุบัน พระราชบัญญัติกรุงเทพมหานครที่บังคับใช้มาตั้งแต่ พ.ศ. 2528 ระบบการเงิน การทำงาน การพัฒนาบุคลากร การคัดบุคลากรรุ่นใหม่เข้าไป ทำอย่างไรให้เข้าไปทำงานแล้วมีไอเดียในการทำงานบริหารจัดการได้มากขึ้น ทั้งนี้ อำนาจที่ผู้ว่าฯ มีสูงสุดคือการจัดการกับกลไกการบริหารจัดการภายในกรุงเทพมหานคร
อีกเรื่องหนึ่งที่อาจารย์ทวิดาอยากจะเห็นที่สุด คือ ระบบข้อมูลที่ทำให้การตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ ของกรุงเทพมหานคร ทั้งแบบ snapshot แบบ sudden และแบบระยะยาวดีขึ้น กรุงเทพมหานครเป็นมหานครที่ข้อมูลเยอะมาก มีรายละเอียดต่าง ๆ เต็มไปหมด ข้อมูลเหล่านี้ยังกระจัดกระจาย แต่ละหน่วยงานก็เก็บข้อมูล โดยมีศูนย์ข้อมูลกลางที่สำนักยุทธศาสตร์ของกรุงเทพฯ แต่ไม่เคยสามารถนำมาซ้อนชั้นเพื่อช่วยในการตัดสินใจในการบริหารจัดการเมืองได้ แต่ถ้าถามในประเด็นที่อาจารย์ทวิดาอยากได้จริง ๆ คือข้อมูลด้านความปลอดภัย เช่น ตรงไหนที่เป็นพื้นที่เสี่ยง ข้อมูลด้านความเสี่ยงนั้นดำเนินการได้ไม่ง่าย แต่อยากจะขอให้เสร็จภายใน 5 ปี ซึ่งจะทำให้เราสามารถบริหารจัดการกับประเด็นเร่งด่วนที่ตรงจุดมากขึ้น เพราะว่าการทำข้อมูลความปลอดภัยจะทำให้เราได้ข้อมูลภูมิสังคมมาด้วย แล้วเราก็มาวางเป็น rolling plan ว่าปีนี้เราทำเรื่องอะไรได้ก่อน ทั้งนี้ เมืองทุกเมืองมีข้อจำกัด ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณหรืออัตรากำลัง แต่พอเราทำแล้วเห็นผล ประชาชนจะรู้สึกได้เองว่าเราได้ยินเสียงของเขา เขารู้สึกว่าได้รับการดูแล ประชาชนจะหันกลับมามองว่านี่คือเมืองของเขา แล้วกลไกจะเริ่มทำงาน
อาจารย์ทวิดายังให้ความเห็นเกี่ยวกับผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครว่านโยบายหลักของผู้สมัครแต่ละท่านมีความคล้ายคลึงกัน จุดที่ต่างคือวิธีการ อาจารย์ชัชชาติจะพูดติดปากเรื่องเส้นเลือดฝอย หมายถึง ซอก หลืบ มุม เพราะฉะนั้นคุณชัชชาติก็จะได้ข้อมูลตรอกซอกซอยมาเป็นจำนวนมาก ส่วนอาจารย์สุชัชวีร์จะออกมาในรูปแบบภาพใหญ่ว่าเมืองต้องการการปรับทางกายภาพจริง ถามว่าเมืองต้องการการมองกายภาพในองค์รวมหรือไม่ แน่นอนว่าคำตอบคือต้องการ แต่ไม่ใช่เรื่องที่สามารถดำเนินการได้รวดเร็วแน่นอน ไม่ว่าจะมาแบบเส้นเลือดฝอยหรือมาแบบมหภาค เราต้องการทั้งสองแบบ แต่ต้องมีการวางแผนให้ดี ส่วนคุณอัศวินเองก็มีนโยบายที่สอดคล้องกับนโยบายเดิมที่ทำมา ก็จะมีความได้เปรียบในเรื่องความต่อเนื่อง ส่วนคุณวิโรจน์ก็เน้นประเด็นการบริหารจัดการ การรื้อกลไกอำนาจ การรื้อกลไกกฎระเบียบ สร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้น ไม่มีอำนาจใดมาบังคับ ส่วนคุณรสนาที่จะเน้นเรื่องการเอาตัวแปรคอร์รัปชั่นออกไป ก็จะสามารถตอบสนองเป้าหมายของเราในแต่ละช่วงเวลา ส่วนคุณศิธาจะพูดเรื่อง agility บ่อย การจะทำให้กรุงเทพฯ มีลักษณะ “อัตโนมัติ” ทั้งนี้ ความเป็นอัตโนมัติหมายถึงการจัดการกับข้อมูลข่าวสารที่ครบวงจร ถ้าระบบข้อมูลครบวงจรจริง และข้อมูลก็ดีจริง ความโปร่งใสจะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ เพราะฉะนั้น จุดเด่นของแต่ละท่าน
อาจารย์ทวิดายังทิ้งท้ายเป็นการฝากชาวกรุงเทพมหานครไว้ว่า เนื่องจากนโยบายที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ นำมาหาเสียงนั้น แท้ที่จริงแล้วมีเป้าหมายที่คล้ายคลึงกัน ก็นับเป็นข้อดีที่เราจะได้กรุงเทพฯ ที่ดีขึ้นในสิ่งที่เราคิด เราเห็น เราฝันกัน แต่ในขณะเดียวกันเรายังต้องดูวิธีการ ผู้สมัครทุกคนพูดเหมือนกันหมดว่าจะรับฟังประชาชน ตรงนี้ ถ้าคนไหนที่ไม่ทำ มีปัญหาแน่นอน เพราะถือเป็นสัญญาประชาคม หาเสียงไว้แล้ว
กว่าจะถึงวันที่บทความชิ้นนี้ได้เผยแพร่บนเว็บไซต์ Arshouse เราชาวกรุงเทพฯ ก็คงจะได้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนใหม่แล้ว อาจจะตรงใจ หรือไม่ตรงใจ อาจจะเป็นคนที่เราเลือก หรือไม่ใช่คนที่เราเลือก ประเด็นนี้ก็มีความสำคัญประมาณหนึ่ง แต่ประเด็นที่มีความสำคัญยิ่งไปกว่านั้น คือ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนใหม่นี้ จะสามารถปฏิบัติตามนโยบายที่หาเสียงไว้ได้หรือไม่ และที่สำคัญยิ่งขึ้นไปอีกก็คือ การปฏิบัติตามนโยบายนั้นจะสอดคล้องกับแผนพัฒนากรุงเทพมหานครหรือไม่ อย่างไร เป็นเรื่องที่เรา ๆ ชาวกรุงเทพมหานครต้องติดตามกันต่อไป
ศึกษาแผนพัฒนากรุงเทพมหานครได้ที่ https://webportal.bangkok.go.th/pipd/page/sub/5026/แผนพัฒนากรุงเทพมหานคร
ชมวิดีโอการสัมภาษณ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทวิดา กมลเวชช
มือถือไมค์ ไฟส่องหน้า ยืนหน้าชั้นเรียน สะสมผ้าไหม สนใจอัญมณี ปรี่เข้าหาหนังสือเก่า
พื้นที่ถ่ายทอดทุกเรื่องราวอันงดงามด้วยศิลปะแห่งการเรียงร้อยเนื้อหา สร้างสรรค์ทุกชิ้นงานด้วยสุนทรียะ