ช่วงปลายฤดูฝนแบบนี้ หากย้อนไปสมัยรัชกาลที่ 5 บรรดาหญิงสาวข้าหลวงในพระบรมมหาราชวัง คงกำลังง่วนอยู่กับการเตรียมข้าวเตรียมของเพื่อตามเสด็จเจ้านายของตนไปแปรพระราชฐานที่ “พระราชวังบางปะอิน”

          พระราชวังแห่งนี้เป็นที่โปรดปรานของรัชกาลที่ 5 พระองค์จะเสด็จไปที่นั่นทุก ๆ ปี โดยเฉพาะช่วงปลายฤดูฝน เพราะว่าเป็นช่วงที่มีน้ำเหนือหลากมามาก เหมาะสำหรับการเสด็จพระราชดำเนินทางเรือ และการเสด็จพระราชดำเนินด้วยเรือนี้ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร ทรงเล่าว่า “ถือเป็นเวลารื่นเริงบันเทิงใจของชาวบ้าน” เพราะรัชกาลที่ 5 ก็จะทรงเข้าร่วมกิจกรรมของชาวบ้านแถบนั้น เช่น การล่องเรือไปทอดกฐินและผ้าป่าตามวัดต่าง ๆ

ประตูสาครประพาส เป็นประตูไว้สำรับเสด็จเข้าและออกโดยเรือพระที่นั่ง

          เดือนตุลาคมนี้ซึ่งเป็นทั้งช่วงปลายฤดูฝน และเป็นเดือนแห่งการรำลึกถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงเป็นช่วงเวลาอันเหมาะสมที่จะกล่าวถึงความน่าสนใจของพระราชวังแห่งนี้

“ก่อนจะเป็นบางปะอิน”

          พื้นที่บริเวณพระราชวังนี้ เดิมเรียกว่า “เกาะบางอออิน” เพราะมีตำนานเล่ากันมาว่า ในสมัยกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระเอกาทศรถ เสด็จมาประพาสแถวนี้และพบกับหญิงสาวชื่อ “อิน” สมเด็จพระเอกาทศรถ พอพระทัยในตัวนางจึงโปรดให้นางเข้าถวายงาน จากนั้นก็เสด็จกลับ แต่ต่อมานางอินตั้งท้องและคลอดออกมาเป็นบุตรชาย เมื่อบุตรนางอินเจริญวัยขึ้นก็เข้ารับราชการจนได้เป็นพระยามหาอำมาตย์ และได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็น “สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง” พระมหากษัตริย์องค์ที่ 24 ของกรุงศรีอยุธยาในที่สุด พระเจ้าปราสาททองได้ทรงสร้างพระที่นั่งหนึ่งองค์ อยู่บริเวณเกาะซึ่งเป็นที่อยู่เดิมของนางอิน ผู้เป็นพระราชมารดา ผู้คนจึงขนานนามเกาะตรงนี้ว่า เกาะบางอออิน (คำว่า ออ เป็นคำนำหน้าชื่อ คล้าย ๆ ออเจ้า) บ้างก็เรียกว่าเกาะนางอิน

          จนถึงรัชสมัยรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้ามีพระราชดำริว่า ชื่อเดิม “หยาบไป” จึงพระราชทานชื่อใหม่ว่า “เกาะบางปะอิน” (ซึ่งก็คงหมายถึงสถานที่ที่สมเด็จพระเอกาทศรถได้มา “พบปะ” กับนางอิน) และให้สร้างตำหนักหลังน้อย ๆ ไว้ 3 องค์ แทนที่พระที่นั่งเดิมของสมเด็จพระเจ้าปราสาททองที่หลงเหลือเพียงฐานอิฐ

“พระที่นั่งสำคัญในพระราชวังบางปะอิน”

          พระราชวังบางปะอิน ถูกสร้างขึ้นอย่างจริงจังในสมัยรัชกาลที่ 5 เพื่อเป็นสถานที่สำหรับทรงพระสำราญของพระมหากษัตริย์เป็นหลัก เนื่องจากบางปะอินเป็นสถานที่ซึ่งมีอากาศบริสุทธิ์ ทั้งยังมีทิวทัศน์เป็นท้องทุ่งเจิ่งน้ำ และอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ จนยากแก่การเดินทาง ทั้งนี้การเปิดกว้างรับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากต่างชาติในยุคนั้น ทำให้พระที่นั่งองค์ต่าง ๆ ในพระราชวังมีความน่าสนใจ เพราะมีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมที่หลากหลาย ทั้งไทย จีน และยุโรป

พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพย์อาสน์

          พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพย์อาสน์ สร้างขึ้นโดยตั้งชื่อตามพระที่นั่งองค์เก่าสมัยพระเจ้าปราสาททองที่ค้นพบฐานอิฐเมื่อครั้งเริ่มสร้างพระราชวัง รูปแบบทางสถาปัตยกรรมเป็นแบบปราสาทจตุรมุข จำลองมาจากพระที่นั่งอาภรณ์ภิโมกข์ปราสาทในพระบรมหาราชวัง ที่กรุงเทพฯ

กระทงรูปแบบต่าง ๆ ของข้าราชการและพระบรมวงศานุวงศ์ที่ลอยประดับสระของพระราชวังบางปะอิน ในงานพระศพกรมขุนสุพรรณภาควดี พ.ศ. 2448
ที่มาของภาพ: หอจดหมายเหตุแห่งชาติ รหัสเอกสาร หวญ 25/32

          พระที่นั่งองค์นี้เคยใช้เป็นที่ประดิษฐาน พระโกศทองเล็กทรงพระศพพระเจ้าลูกเธอ กรมขุนสุพรรณภาควดี พระราชธิดาพระองค์แรกของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่รัชกาลที่ 5 มีรับสั่งให้เชิญพระศพจากพระบรมมหาราชวังมาประกอบพระราชพิธีที่พระราชวังบางปะอินแห่งนี้ หม่อมเจ้าจงจิตรถนอม ดิศกุล ทรงเล่าว่า ในงานพระศพครั้งนั้นโปรดให้มีการแข่งขันทำกระทงรูปต่าง ๆ เพื่อลอยประดับสระน้ำรอบพระที่นั่ง และผู้ชนะรางวัลที่ 1 คือ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงนครราชสีมา ที่ทรงทำกระทงเป็น รูปเรือรบ

พระที่นั่งเวหาศจำรูญ

          สำหรับพระที่นั่งสีแดงสดใส ตัดด้วยกระเบื้องหลังคาสีเหลืององค์นี้ ชื่อพระที่นั่งเวหาศจำรูญ และมีชื่อภาษาจีนว่า “เทียน เหมง เต้ย” ซึ่งมีความหมายแปลได้อย่างเดียวกันว่า พระที่นั่งฟ้าสว่าง

          กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร ทรงเล่าไว้ว่า พระที่นั่งเวหาศจำรูญเป็นพระที่นั่ง ที่โดดเด่นที่สุดในพระราชวังแห่งนี้ ถึงแม้ว่าจะมีสถาปัตยกรรมแบบจีนแต่ก็แตกต่างกับพระราชวังในเมืองจีน เพราะพระราชวังในเมืองจีน ไม่ว่าจะเป็นพระราชวังหลวงแห่งกรุงปักกิ่ง หรือพระราชวังฤดูร้อน ก็ไม่มีพระที่องค์ไหนสร้างเป็นอาคาร 2 ชั้น เหมือนกับพระที่นั่งเวหาศจำรูญ พระที่นั่งองค์นี้สร้างถวายโดยกลุ่มข้าราชการกรมท่าซ้าย ซึ่งล้วนเป็นบรรดาเศรษฐีที่มีหน้าที่กำกับดูแลการค้าระหว่างสยามกับจีน มีพระยาโชฎึกราชเศรษฐี (ฟัก โชติกสวัสดิ์) เป็นตัวตั้งตัวตีในการจัดสร้าง

ป้ายไม้ 17 แผ่น ในท้องพระโรงชั้นล่าง พระที่นั่งเวหาศจำรูญ

          พระที่นั่งองค์นี้มีจุดที่น่าสนใจคือ ป้ายไม้ยาว 17 แผ่น สลักเป็นอักษรภาษาจีน กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร ทรงบันทึกไว้ว่า ป้ายเหล่านี้เดิมเข้าใจว่าสร้างขึ้นพร้อมกับ พระที่นั่ง แต่สืบไปสืบมาก็ทรงทราบว่า ป้ายทั้ง 17 แผ่น สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 การแปลภาษาจีนในป้ายทั้ง 17 แผ่น ก็ทรงเล่าไว้ว่า แปลได้ยากอยู่พอสมควร อย่างไรก็ตาม ทรงได้รับความร่วมมือจาก ดร. ฮันลีวู เอกอัครราชทูตจีน นายยม ตันฑเศรษฐี และนายบรรเจิด อินทุจันทร์ยง ที่ช่วยกันตรวจทานเอกสารจนแปลออกมาสำเร็จ

          เนื้อหาของป้ายทั้ง 17 แผ่น เป็นโคลงภาษาจีนจำนวน 9 บท มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเมืองการปกครอง เช่น โคลงบทที่ 4 และบทที่ 5 มีที่มาจากโคลงของชาวจีนชื่อ ซกก๋วงมุ้ย แต่งถวายองค์ฮ่องเต้ กล่าวถึง ความสงบสุขของบ้านเมืองที่ต้องอาศัยความสามารถของผู้ปกครอง และความร่มเย็นของประชาชนที่ย่อมมีบ่อเกิดมาจากองค์พระมหากษัตริย์

พระที่นั่งวโรภาษพิมาน

          พระที่นั่งวโรภาษพิมาน เป็นพระที่นั่งสไตล์ยุโรปที่สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นท้องพระโรงสำหรับเสด็จออกขุนนาง พระที่นั่งองค์นี้สร้างขึ้นแทนที่พระตำหนักซึ่งรัชกาลที่ 4 มีรับสั่งให้สร้างไว้ในช่วงแรก เมื่อแรกสร้างพระที่นั่งวโรภาษพิมานนั้นมี 2 ชั้น แต่ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็โปรดให้รื้อลงทำเป็นอาคารชั้นเดียว ภายในพระที่นั่งมีภาพเขียนตกแต่งเป็นเรื่องราวในพระราชพงศาวดารของไทย

พระที่นั่งอุทยานภูมิเสถียร

          พระที่นั่งอุทยานภูมิเสถียรที่เห็นตามภาพนี้ เป็นพระที่นั่งที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 9 นี่เอง เพื่อทดแทนพระที่นั่งอุทยานภูมิเสถียรองค์เดิมที่ถูกไฟไหม้ไปในช่วง พ.ศ. 2481 สถาปัตยกรรมของพระที่นั่งอุทยานภูมิเสถียรองค์ใหม่ ต่างไปจากพระที่นั่งองค์เดิมซึ่ง สร้างด้วยไม้ 2 ชั้น สไตล์ชาเลต์ ของประเทศสวิสเซอร์แลนด์

          ด้วยทำเลที่ตั้งและรูปแบบสถาปัตยกรรมที่สวยงามหลากหลาย ทำให้พระราชวังแห่งนี้ ไม่ได้เป็นสถานที่ไว้สำหรับทรงพักผ่อนของพระมหากษัตริย์แต่เพียงเท่านั้น พระราชวังบางปะอินยังเป็นสถานที่ไว้สำหรับพระราชทานเลี้ยงรับรองอาคันตุกะจากต่างประเทศอีกด้วย เช่น การรับรองทูตฝรั่งเศสในช่วงวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 และการรับเสด็จพระเจ้าซาร์ นิโคลัสที่ 2 แห่งรัสเซีย เมื่อครั้งยังเป็นมกุฎราชกุมาร ในปีพ.ศ. 2434 ซึ่งนับเป็นงานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์สยามงานหนึ่ง สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ถึงขั้นทรงกล่าวยกย่องความงามของบางปะอินและพระราชวังแห่งนี้ไว้ว่า “เป็นที่แห่งหนึ่งซึ่งผู้มาเที่ยวประเทศสยามควรไปดู”

“พระราชวังบางปะอิน: พื้นที่กับการสร้างความทรงจำของชาติ”

          การสร้างพระราชวังบางปะอินในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อิงอยู่กับประวัติศาสตร์ของพื้นที่ในสมัยกรุงศรีอยุธยา นอกจากการเลือกพื้นที่ซึ่งเคยเป็นพระราชวังของพระมหากษัตริย์อยุธยามาแต่เดิม ยังมีการตั้งชื่อพระที่นั่ง คือ พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพย์อาสน์ ให้เหมือนกับชื่อพระที่นั่งองค์เก่าสมัยอยุธยา และมีการสร้างเทวสถาน คือ หอเหมมณเฑียรเทวราช ซึ่งประดิษฐานรูปเคารพของพระเจ้าปราสาททองขึ้นมาบริเวณพระราชวังแห่งนี้อีกด้วย

หอเหมมณเฑียรเทวราช

          การสร้างพระราชวังบางปะอิน จึงเปรียบเสมือนการรื้อฟื้นความทรงจำและประวัติศาสตร์สมัยกรุงศรีอยุธยาขึ้นมาใหม่อีกครั้งหนึ่ง การสร้างพระราชวังของพระมหากษัตริย์กรุงรัตนโกสินทร์ ในพื้นที่พระราชวังของพระมหากษัตริย์กรุงศรีอยุธยา นอกจากจะแสดงให้เห็นถึงพระราชสถานะที่สูงส่งทัดเทียมกัน และแสดงให้เห็นถึงการมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานเป็นของตนเองของชาวสยาม ยังแสดงให้เห็นว่า พระราชวังบริเวณนี้ในสมัยกรุงศรีอยุธยาที่เคยชำรุดทรุดโทรมลงไปจากสงครามเสียกรุง ได้ถูกทำขึ้นใหม่ให้งดงามยิ่งกว่าเดิมในยุคสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดังนั้นพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีจึงมีความเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยาในฐานะผู้กอบกู้และทำนุบำรุงบ้านเมือง

          การใช้พระราชวังแห่งนี้ซึ่งสิ่งก่อสร้างส่วนมากมีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมแบบยุโรป และมีการเขียนภาพเล่าเรื่องพระราชพงศาวดารในท้องพระโรง ไว้สำหรับรับเสด็จอาคันตุกะต่างประเทศ จึงขับเน้นให้เห็นว่า ชาวสยามเป็นชนชาติที่มีรากเหง้า มีวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์เป็นของตนเอง และในขณะเดียวกันก็มีความทันสมัยศิวิไลซ์ทัดเทียมกับชาติมหาอำนาจในยุโรปขณะนั้น

          พระราชวังบางปะอิน จึงมิได้เป็นพระราชวังที่ใช้ประทับเพื่อพักผ่อนในช่วงปลายฤดูฝนเพียงเท่านั้น แต่พระราชวังแห่งนี้นับเป็นสถานที่สำคัญที่แสดงให้เห็นถึงการสร้างชาติในช่วงการเผชิญหน้ากับลัทธิจักรวรรดินิยม ที่ต้องอาศัยองค์ความรู้ทางประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรมเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาและปกป้องบ้านเมืองจากการรุกราน

เอกสารอ้างอิง

  • ทิพากรวงศ์, เจ้าพระยา. (2507). พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4. ม.ป.ท.: การพิมพ์เกื้อกูล.
  • พิทยลาภพฤฒิยากร, พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นฯ. (2512). พระราชวังบางปะอิน. พระนคร: โรงพิมพ์แพร่การช่าง.
  • จงจิตรถนอม ดิศกุล, หม่อมเจ้า. (2521). บันทึกความทรงจำ ของหม่อมเจ้าจงจิตรถนอม ดิศกุล. กรุงเทพฯ: วัชรินทร์การพิมพ์.
  • ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา. (2498). เที่ยวตามทางรถไฟ. พระนคร: โรงพิมพ์ ตีรณสาร.

Writer & Photographer