ถ้าท่านผู้อ่านยังจำได้ ก่อนหน้านี้ผู้เขียนเคยกล่าวถึง “พระวลัยกรพลอยนิลกาฬล้อมเพชรควีนมาร์เกอริตา” อันเป็นหนึ่งในเครื่องเพชรชิ้นสำคัญของราชวงศ์จักรี ที่นอกจากจะประเมินมูลค่ามิได้แล้ว ยังเป็นเครื่องเพชรที่มีนัยทางการทูตที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับอิตาลีที่มีมาอย่างยาวนานอีกด้วย

          แต่พระวลัยกรดังกล่าว มิใช่เครื่องประดับพลอยนิลกาฬเพียงองค์เดียวที่โดดเด่น

          ราชวงศ์จักรียังมีพระราชทรัพย์เป็นเครื่องประดับพลอยนิลกาฬที่แสนงดงามชุดอื่น ๆ อีก

          ทั้งนี้ “นิลกาฬ” อาจไม่ใช่คำที่หลายคนคุ้นเคย หรือบางคนอาจจะเพิ่งเคยได้ยินด้วยซ้ำ และผู้เขียนเชื่อว่ามีผู้อ่านหลายท่านที่อาจจะ “เอ๊ะ” ขึ้นมาในใจ พร้อมทั้งคำถามว่าคืออัญมณีชนิดใด เป็นชนิดเดียวกับ “นิล” สีดำ ที่พบมากที่จังหวัดกาญจนบุรีหรือไม่

          แท้ที่จริงแล้ว “นิลกาฬ” นั่นคือพลอย “ไพลิน” (blue sapphire) อัญมณีสีน้ำเงินเข้มที่คนไทยส่วนใหญ่คุ้นเคยกันมาแต่โบราณ และเป็นหนึ่งในมณีนพรัตน์ อัญมณีสิริมงคล 9 ชนิด “สีหมอกเมฆนิลกาฬ” ที่เชื่อกันว่าผู้ใดได้ครอบครองแล้วจะมีแต่ความเจริญรุ่งเรืองในชีวิต

          ที่มาของชื่อ “ไพลิน” เกิดขึ้นจากการที่เมื่อครั้งหนึ่ง พลอยนิลกาฬที่สวยงามมาก มีสีน้ำเงินเข้มกำมะหยี่ มีชื่อเสียงและได้รับความนิยมในวงการอัญมณี มีที่มาจากเหมืองในจังหวัดไพลินที่ตั้งอยู่ทางภาคตะวันตกของประเทศกัมพูชา เมื่อมีการซื้อขาย ผู้ขายก็จะแจ้งว่าอัญมณีชนิดนี้มาจากไพลิน จน “ไพลิน” จึงกลายเป็นชื่อเรียกอัญมณีชนิดนี้ไปในที่สุด

          พลอยนิลกาฬเป็นอัญมณีที่ได้รับความนิยมมาแต่โบราณทั้งในโลกตะวันออกและโลกตะวันตก นอกจากจะเป็นหนึ่งในมณีนพรัตน์แล้ว ยังเป็นอัญมณีที่เป็นพระราชทรัพย์ของแทบทุกราชวงศ์ในโลกตะวันตก ตัวอย่างของชุดเครื่องประดับพลอยนิลกาฬประดับเพชรชิ้นสำคัญทั้งในแง่ความงดงามและในแง่ประวัติศาสตร์ เช่น Leuchtenberg Sapphire Parure (สวีเดน) หรือชุดพลอยนิลกาฬประดับเพชรแห่งราชวงศ์ออเรนจ์ของประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งมีขนาดใหญ่ มีสีน้ำเงินเข้มงดงามมาก

          หากทุกท่านยังคงจำได้ อัญมณีที่เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ (สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3) เลือกเป็นแหวนหมั้นพระราชทานแก่เลดี้ไดอานา สเปนเซอร์ ก็เป็นแหวนพลอยนิลกาฬล้อมเพชร 14 เม็ด จากห้างเพชรการ์ราร์ด อันเป็นช่างเพชรประจำราชสำนักอังกฤษ และต่อมา เจ้าชายวิลเลียมแห่งเวลส์ (เจ้าชายวิลเลียม เจ้าชายแห่งเวลส์) ก็ทรงเลือกพระธำมรงค์หมั้นของพระมารดาเป็นแหวนหมั้นพระราชทานแก่นางสาวแคเธอรีน มิดเดิลตัน (แคเธอรีน เจ้าหญิงแห่งเวลส์) จากเหตุการณ์ที่นำมาสู่ความสนใจของชาวโลกที่มีต่อราชวงศ์อังกฤษ ทำให้พลอยนิลกาฬยิ่งเป็นที่รู้จักและได้รับการกล่าวขวัญถึงอย่างไม่รู้จบ

          นอกจากราชวงศ์ในโลกตะวันตกแล้ว ราชวงศ์ในโลกตะวันออกก็นิยมพลอยนิลกาฬสีน้ำเงินงามนี้เช่นกัน รวมไปถึงราชวงศ์จักรีด้วย ดังจะเห็นได้ว่าในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ทรงเป็นเจ้าของเครื่องอาภรณ์เพชรพลอยที่งดงามหลากสีหลายตระกูล ทั้งชนิดที่เป็นเครื่องอาภรณ์แบบดั้งเดิมที่เป็นทองคำฝังเพชรลูก ฝังเพชรซีก ทับทิม มรกต และนพเก้า ซึ่งทรงมีมากถึงขนาดที่แบ่งออกแต่งกายผู้เข้าพิธีโกนจุกได้คราวเดียวกันถึง 7 คนโดยไม่มีอะไรขาดตกบกพร่อง และยังทรงเป็นเจ้าของเครื่องอัญมณีแบบตะวันตก ซึ่งทรงเริ่มสะสมอย่างจริงจังในรัชสมัยนี้ และทรงสะสมเป็นชุดเป็นเถา ไม่ว่าจะเป็นชุดเพชร ซึ่งมีทั้งเพชรรูปกลม เพชรรูปน้ำหยด (pear shape) ชุดทับทิม ชุดมรกตค่าควรเมืองที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นพระราชทรัพย์ของสมเด็จพระจักรพรรดินีเออเฌนีแห่งฝรั่งเศส ชุดไข่มุกซึ่งก็ทรงมีมากและมีความงดงาม

          และอีกชุดหนึ่งที่มีความสำคัญและงดงามไม่แพ้ชุดอื่น นั่นคือ ชุดพลอยนิลกาฬสีน้ำเงินเข้ม

          สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ทรงสะสมชุดพลอยนิลกาฬแบบจัดให้เข้าชุดกันทั้งชุดใหญ่และชุดเล็ก มีทั้งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงซื้อมาพระราชทาน และมีทั้งที่ทรงสะสมเองจากพลอยนิลกาฬที่มีต้นกำเนิดจากในประเทศสยามเอง ทรงสร้างเป็นเครื่องประดับชุดพลอยนิลกาฬเม็ดสี่เหลี่ยมเป็นสร้อยสังวาลชุดขนาดย่อม พลอยนิลกาฬนี้ปรากฏว่าเป็นหนึ่งในอัญมณีทรงโปรดเนื่องจากสีตรงกับวันพระราชสมภพคือวันศุกร์ นอกจากนี้ ยังทรงมีพลอยนิลกาฬที่ประดับอยู่บนพระวลัยกรที่ทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายจากสมเด็จพระราชินีมาร์เกอริตาแห่งอิตาลีอีกด้วย (โปรดอ่านได้ในบทความ “เพชรกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ: พระวลัยกรนิลกาฬล้อมเพชร “ควีนมาร์เกอริตา” หยดหนึ่งในมิติความสัมพันธ์สยาม – อิตาลี” (https://www.arshouse.co/sapphire-diamond-bracelet/)

          แม้ว่าจะไม่ปรากฏพระฉายาลักษณ์สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถที่ทรงเครื่องประดับชุดพลอยนิลกาฬ หรืออาจจะมีอยู่แต่ก็ไม่แพร่หลายเท่ากับพระฉายาลักษณ์ที่ทรงเครื่องประดับชุดเพชร มรกต หรือไข่มุก แต่จากหลักฐานที่ปรากฏก็พบว่าพระองค์ทรงเป็นเจ้าของเครื่องประดับพลอยนิลกาฬสีน้ำเงินเข้มงาม และมีมูลค่าสูงไม่แพ้ชุดอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม ยังมีสุภาพสตรีอีกท่านหนึ่งที่มีโอกาสแต่งเครื่องประดับชุดพลอยนิลกาฬอันเป็นพระราชทรัพย์ในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ นั่นคือ พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีในรัชกาลที่ 6 ดังที่ปรากฏในพระรูปที่เชิญมานี้

พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ทรงฉายเมื่อครั้งยังทรงเป็นเจ้าจอมสุวัทนา พระสนมเอก ทรงฉลองพระองค์แบบค็อกเทลสายเดี่ยวยาวครึ่งพระชงฆ์ ทรงสร้อยพระศอพลอยนิลกาฬ (blue sapphire) ประดับเพชร โดยแปลงเป็นมงกุฎประดับขนนกกระจอกเทศ ทรงสร้อยพระศอพลอยนิลกาฬระย้าประดับเพชรเข้าชุดกัน ทรงประดับสายสะพายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลจุลจอมเกล้า ชั้นทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ฝ่ายใน) พร้อมประดับเหรียญรัตนาภรณ์รัชกาลที่ 6 ชั้นที่ 1 ประดับเพชรล้วน พร้อมทั้งเข็มพระปรมาภิไธย ราม ร. (ราม รามาธิบดี) ประดับเพชรล้วน เข็มอักษร รร.6 บรรจุเส้นพระเจ้าประดับเพชรและพลอยนิลกาฬ ทรงพระธำมรงค์หมั้นที่พระอนามิกาเบื้องซ้าย ทรงรัดพระโสณี (สะโพก) ด้วยเครื่องประดับแบบระย้าสไตล์ Art Deco ทิ้งชายเป็นสายยาวลงมาด้านหน้า ทรงถุงพระบาท และฉลองพระบาทส้นสูงหุ้มส้น
ที่มาของภาพ : S. Phormma’s Colorizations : https://www.facebook.com/sphormmacolorization

          พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ทรงฉายเมื่อครั้งยังทรงเป็นเจ้าจอมสุวัทนา พระสนมเอก ทรงฉลองพระองค์แบบค็อกเทลสายเดี่ยวยาวครึ่งพระชงฆ์ ทรงสร้อยพระศอพลอยนิลกาฬ (blue sapphire) ประดับเพชร โดยแปลงเป็นมงกุฎประดับขนนกกระจอกเทศ ทรงสร้อยพระศอพลอยนิลกาฬระย้าประดับเพชรเข้าชุดกัน สร้อยพระศอพลอยนิลกาฬประดับเพชรทั้งสององค์นี้ เป็นพระราชทรัพย์ในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ โดยที่ในเวลาต่อมา พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แบ่งพระราชทรัพย์ในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ เพื่อเป็นพระราชมรดกเกี่ยวแก่พระทายาทสายตรงในพระองค์นั้น ปรากฏว่าสร้อยพระศอทั้งสององค์นี้ตกทอดไปยังสมาชิกราชสกุลจุฑาธุช ได้แก่ พระโอรสและพระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย โดยสร้อยพระศอที่พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ทรงเป็นมงกุฎในพระรูปข้างต้นนี้ ตกทอดไปยังพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรานนท์ธวัช โดยที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในฐานะพระชายาในพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรานนท์ธวัช ทรงสร้อยพระศอนี้เสด็จออกงานบ่อยครั้ง ส่วนสร้อยพระศอที่พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ทรงในพระรูป ตกทอดไปยังพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุทธสิริโสภา

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในฐานะพระชายาในพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรานนท์ธวัช พระราชนัดดาในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ และเป็นพระโอรสในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย ประสูติแต่หม่อมระวี (สกุลเดิม ไกยานนท์) ทรงสร้อยพระศอพลอยนิลกาฬประดับเพชร พระราชมรดกในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ
ที่มาของภาพ : Pinterest
พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุทธสิริโสภา พระราชนัดดาในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ และเป็นพระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย ประสูติแต่หม่อมลออ (สกุลเดิม ศิริสัมพันธ์) ทรงสร้อยพระศอพลอยนิลกาฬประดับเพชร พระราชมรดกในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ
ที่มาของภาพ : Pinterest

          มีเกร็ดที่น่าสนใจเกี่ยวกับสร้อยพระศอพลอยนิลกาฬประดับเพชร พระราชมรดกในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ องค์ที่พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุทธสิริโสภา ได้รับพระราชทานนั้น เป็นศิลปกรรมที่มีความละเอียด แม้กระทั่งหนามเตยที่เกาะพลอยนิลกาฬแต่ละเม็ดยังฝังเพชรที่หนามเตยแต่ละซี่ และเมื่อสวมบนลำคอหรือวางไปบนสิ่งของใดก็ไหลโค้งไปตามสรีระนั้นอย่างเป็นธรรมชาติอีกด้วย นั่นย่อมหมายความว่า เครื่องเพชรพระราชมรดกในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถนี้ นอกจากจะทรงคุณค่าและความงามในแง่ของอัญมณีแล้ว ยังมีคุณค่าในเชิงศิลปกรรมชั้นสูงอีกด้วย

         นอกจากสร้อยพระศอพลอยนิลกาฬประดับเพชรทั้งสององค์แล้ว ยังมีสร้อยพระศอพลอยนิลกาฬล้อมเพชรขนาดใหญ่อีกองค์หนึ่งที่ประชาชนชาวไทยน่าจะคุ้นตากันเป็นอย่างดี เพราะเป็นหนึ่งในเครื่องประดับชิ้นโปรดที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง นำมาทรงบ่อยครั้งในวโรกาสสำคัญ ๆ นับตั้งแต่ทศวรรษที่ 2500 เป็นต้นมา โดยเฉพาะองค์สร้อยพระศอและพระกุณฑลเข้าชุดที่ผู้เขียนคาดว่าน่าจะเป็นของเดิมของพระราชวงศ์ พิจารณาจากการตัดเหลี่ยมเจียระไนทั้งตัวพลอยและเพชรที่ล้อมอยู่ที่เป็นการตัดเหลี่ยมแบบเก่าเป็นทรงคุชชั่น (cushion cut) และพลอยนิลกาฬบนสร้อยพระศอยังให้สีน้ำเงินสดเข้มชัดเจน และในช่วงทศวรรษเดียวกันนี้เองที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้ทรงซื้อจี้พลอยนิลกาฬสีน้ำเงินเข้มล้อมเพชรงดงามยิ่ง เฉพาะเม็ดพลอยก็มีน้ำหนักมากถึง 109.57 กะรัต จากห้างอัญมณีแวนคลีฟเอต์อาร์แปลส์ (Van Cleef & Arpels) นับได้ว่าเป็นพลอยนิลกาฬที่ทรงคุณค่าทั้งในแง่ขนาด ความงดงาม และความหายาก

          สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเครื่องประดับชุดพลอยนิลกาฬนี้ในโอกาสสำคัญ ๆ หลากหลายโอกาสด้วยกัน ดังภาพประกอบต่อไปนี้

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเครื่องประดับพลอยนิลกาฬประดับเพชร ขณะมีพระราชปฏิสันถารกับสมเด็จพระราชินีฟาราห์แห่งอิหร่าน ในงานถวายพระกระยาหารค่ำที่สมเด็จพระเจ้าชาห์โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี และสมเด็จพระราชินีฟาราห์แห่งอิหร่าน ทรงจัดถวายเพื่อเป็นพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในโอกาสเสด็จฯ เยือนอิหร่านอย่างเป็นทางการ ณ พระราชวังโกเลสตาน
ที่มาของภาพ : หม่อมราชวงศ์ปรียนันทนา รังสิต (บรรณาธิการ), 100 ปีชาตกาล พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต (กรุงเทพฯ : บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), 2563), หน้า 123.

          จากภาพประกอบข้างต้นนี้ ยังมีเกร็ดที่น่าสนใจเกี่ยวกับเครื่องประดับชุดพลอยนิลกาฬที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงในการตามเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เยือนประเทศอิหร่านอย่างเป็นทางการ โดยในวโรกาสที่สมเด็จพระเจ้าชาห์แห่งอิหร่านและสมเด็จพระราชินีฟาราห์ทรงจัดงานมหาสมาคมและถวายพระกระยาหารค่ำเป็นพระเกียรติยศ ณ พระราชวังโกเลสตาน ในเรื่องนี้ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต นางสนองพระโอษฐ์ เมื่อครั้งยังทรงพระยศเป็นหม่อมเจ้าหญิงวิภาวดี รังสิต ทรงบันทึกเกร็ดไว้อย่างน่าสนใจ ดังความต่อไปนี้

          “…คืนแรกที่เสด็จฯ ถึง พระเจ้าชาห์และพระราชินีก็ทรงจัดงานมหาสมาคมและถวายพระกระยาหารค่ำเป็นพระเกียรติยศที่พระราชวังโกเลสตาน …ฯลฯ… เจ้านายผู้หญิงที่เสด็จมาในงานคืนนั้นล้วนแต่ทรงชุดราตรีของคริสเตียนดิออร์ซึ่งปักระยุบระยับทั้งพระองค์ ทรงเต็มยศสายสะพาย ทรงเทียร่าเพชรและประดับเพชรที่พระศอ พระกรกันล้วนเม็ดโป้ง ๆ ที่โป้งที่สุดเห็นจะที่พระราชินีฟาราห์ทรงที่พระเศียรน่ะโตเหลือกำลัง แล้วยังมีย่อม ๆ ฝังเต็มจนวาวไปหมด ที่พระศอยังทรงเพชรเม็ดละสัก 20 กะรัต รอบพระศอ 3 รอบเข้าไปอีก อันที่จริงเพียงรอบเดียวข้าพเจ้าก็แทบจะตาตั้งอยู่แล้ว แถมที่พระกรรณยังมีเม็ดมหึมาข้างละเม็ด และมีเพชรน้ำหยดขนาดหัวแม่มือห้อยตุ้งติ้งต่ำลงมาข้างละเม็ดอีกด้วย รู้สึกดีใจที่สมเด็จฯ พระบรมราชินีนาถของเราเลือกทรงชุดนิล กับฉลองพระองค์ชุดไทยซึ่งเป็นยกสีขาววับ ๆ เลยหรูหรา คนละเรื่องกันไปเลย เพราะวันรุ่งขึ้นได้ตามเสด็จไปดูเครื่องเพชรที่ Crown Jewelry ที่ท้องพระคลัง ซึ่งในปัจจุบันย้ายมาตั้งแสดงให้คนดูที่ธนาคารชาติของเขา เห็นมีแต่เพชร มรกต ทับทิม ไข่นกการเวกกับไข่มุกมากมาย แต่ไม่มีนิลเลย เครื่องเพชรที่พระราชินีและเจ้าหญิงอิหร่านทรงในงานคืนแรกที่เสด็จฯ ถึง ไม่ได้เป็นของส่วนพระองค์ เป็นของรัฐซึ่งเก็บอยู่ที่ธนาคารแห่งชาติของเขา เมื่อเลิกทรงแล้วก็มีรถตำรวจเปิดหวอเชิญไปคืนธนาคารตามเดิม ตอนบ่ายวันรุ่งขึ้นที่เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรสมบัติล้ำค่าที่ธนาคาร ก็ได้ทอดพระเนตรเห็นเครื่องเพชรที่ประดับประดาเจ้านายฝ่ายในอิหร่านเมื่อคืนกลับมาตั้งแสดงอยู่ในตู้ตามเดิม พวกเราเลยรู้สึกสนุกเป็นพิเศษที่จำได้ว่าเครื่องเพชรชิ้นไหนเจ้าหญิงองค์ไหนทรงเมื่อคืน เลยออกจะเออออเกิ้กก้ากเหมือนเจอะเพื่อนเก่า…”

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเทียร่าเพชรรัศมีสุริยะ (fringe tiara) ทรงเครื่องประดับพลอยนิลกาฬประดับเพชรครบชุด ทั้งพระกุณฑล สร้อยพระศอและจี้พลอยนิลกาฬขนาดใหญ่ล้อมด้วยเพชร และเข็มกลัดดอกไม้พลอยนิลกาฬประดับเพชร ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ถวายพระกระยาหารค่ำอย่างเป็นทางการเพื่อถวายพระเกียรติ (state banquet) แด่สมเด็จพระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี และสมเด็จพระจักรพรรดินีฟาราห์แห่งอิหร่าน ในโอกาสที่เสด็จฯ เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ในฐานะพระราชอาคันตุกะ
ที่มาของภาพ : Pinterest
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเครื่องประดับพลอยนิลกาฬประดับเพชรครบชุด ทั้งเทียรา พระกุณฑล สร้อยพระศอและจี้พลอยนิลกาฬขนาดใหญ่ล้อมด้วยเพชร ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ถวายพระกระยาหารค่ำอย่างเป็นทางการเพื่อถวายพระเกียรติ (state banquet) แด่สมเด็จพระราชาธิบดีและสมเด็จพระราชินีแห่งมาเลเซีย ในโอกาสที่เสด็จฯ เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ในฐานะพระราชอาคันตุกะ
ที่มาของภาพ : Pinterest
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเครื่องประดับชุดพลอยนิลกาฬประดับเพชร ทั้งพระกุณฑล สร้อยพระศอ และพระธำมรงค์ พระฉายาลักษณ์ฝีพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พ.ศ. 2528
ที่มาของภาพ : คณะทำงานพิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ, ด้วยพลังแห่งรัก (กรุงเทพฯ : พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ, 2563)
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และสมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะแห่งญี่ปุ่น ทรงฉลองพระองค์ชุดกระโปรงยาวแบบสากล ทรงเทียร่าตามธรรมเนียมสากล และประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ในงานถวายพระกระยาหารค่ำอย่างเป็นทางการ (state banquet) แด่สมเด็จพระจักรพรรดิและสมเด็จพระจักรพรรดินีแห่งญี่ปุ่น ในโอกาสที่ทั้งสองพระองค์เสด็จฯ เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานพระราชอาคันตุกะ (state visit) ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง กรุงเทพมหานคร วันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2534
ที่มาของภาพ : Queen Sirikit Museum of Textiles Facebook Fanpage
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพระกุณฑลพลอยนิลกาฬล้อมเพชร พร้อมทั้งทรงสร้อยพระศอเพชรห้อยด้วยจี้พลอยนิลกาฬขนาด 109.57 กะรัต ซึ่งทรงซื้อจากห้างอัญมณีแวนคลีฟเอต์อาแปลส์ (Van Cleef & Arpels) ในช่วงทศวรรษ 1960
ที่มาของภาพ : Pinterest
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเทียร่าเพชร ทรงเครื่องประดับชุดพลอยนิลกาฬล้อมเพชร พร้อมทั้งทรงพระวลัยกรพลอยนิลกาฬล้อมเพชรสมเด็จพระราชินีมาร์เกอริตาที่ข้อพระกรด้านขวา ในโอกาสที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร ถวายพระกระยาหารค่ำอย่างเป็นทางการเป็นการตอบแทน (return banquet) แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในวโรกาสที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 และเจ้าชายฟิลิป ดยุคแห่งเอดินเบอระ พระราชสวามี เสด็จฯ เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะพระราชอาคันตุกะ (state visit) เป็นครั้งที่ 2 พ.ศ. 2539
ที่มาของภาพ : Pinterest
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพระกุณฑลพลอยนิลกาฬระย้าล้อมด้วยเพชร ทรงสร้อยพระศอเพชรประดับด้วยจี้พลอยนิลกาฬล้อมด้วยเพชร ฝีมือการรังสรรค์จากห้างอัญมณีแวนคลีฟเอต์อาแปลส์ (Van Cleef & Arpels) โดยเม็ดพลอยนิลกาฬเม็ดนี้มีน้ำหนักมากถึง 109.57 กะรัต
ที่มาของภาพ : Pinterest
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงกลัดเข็มกลัดรูปดอกไม้ประดับพลอยนิลกาฬและเพชร เข็มกลัดองค์นี้ สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี ทรงใช้กลัดสายสะพายเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมวงศ์ไว้ที่เบื้องพระปฤษฎางค์ ในโอกาสที่ตามเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ไปทรงร่วมพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 และสมเด็จพระราชินีคามิลลาแห่งสหราชอาณาจักร ณ มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร วันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2566
ที่มาของภาพ : Pinterest
สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี ทรงเครื่องประดับชุดพลอยนิลกาฬประดับเพชรครบชุด ในโอกาสที่ตามเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ไปทรงร่วมพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 และสมเด็จพระราชินีคามิลลาแห่งสหราชอาณาจักร ณ มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร วันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2566
ที่มาของภาพ : หน่วยราชการในพระองค์ [ออนไลน์]
สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงสร้อยพระศอพลอยนิลกาฬ (blue sapphire) ล้อมเพชร พร้อมด้วยจี้พลอยนิลกาฬล้อมเพชร ตามเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 วันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 จี้นี้เป็นฝีมือการรังสรรค์จากห้างเพชร Van Cleef & Arpels ถวายแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ราว พ.ศ. 2507
ที่มาของภาพ : หน่วยราชการในพระองค์ [ออนไลน์]

References

  1. หน่วยราชการในพระองค์, พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จ ฯ ไปทรงร่วมพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 และสมเด็จพระราชินีคามิลลา ณ มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร, หน่วยราชการในพระองค์ [ออนไลน์] แหล่งที่มา : https://www.royaloffice.th/2023/05/07/พระราชพิธีบรมราชาภิเษก-5/
  2. หม่อมราชวงศ์ปรียนันทนา รังสิต (บรรณาธิการ), 100 ปีชาตกาล พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต (กรุงเทพฯ : บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), 2563)
  3. “อัญมณี ‘รฤกแห่งที่รัก’ ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลกฯ ตกทอดสืบกันถึง 5 รุ่นถึงสุชาดา ภิรมย์ภักดี,” HELLO ! Jewelry Collector’s Edition (10 / 2015)
  4. อุทุมพร, สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง (กรุงเทพฯ: นำอักษรการพิมพ์, 2540)
  5. Vincent Meylan, “Sirikit de Thaïlande : La Reine des Rubis,” Point De Vue Images Du Monde Special Joaillerie, No. 56 – Trimestriel (Décembre 2016 – Janvier – février 2017) : 24 , 31.

Writer