เครื่องกระเบื้อง (Ceramic) เครื่องลายคราม เครื่องสังคโลก หรือพอร์ซเลน (Porcelain) ล้วนเป็นคำเรียกภาชนะดินเผาที่มีหน้าที่หลากหลาย ทั้งใช้สำหรับบรรจุอาหาร ใช้ประดับตกแต่งสถานที่ ใช้สอยจิปาถะ หรือแม้กระทั่งใช้สำหรับแสดงสถานภาพอันสูงส่งของผู้เป็นเจ้าของ และภาชนะดินเผาเหล่านี้ก็เป็นสิ่งของที่อยู่เคียงคู่กับมนุษยชาติมามากกว่า 5,000 ปี ก่อนคริสต์กาล
ภาชนะดินเผาในประเทศไทยเชื่อกันว่ามีต้นกำเนิดมาตั้งแต่ “สมัยพระร่วง” ราว ๆ พุทธศักราชที่ 500 ดังจะเห็นได้จากตำนานเรื่องพระร่วงอรุณกุมารเมืองสวรรคโลก ในพงศาวดารเหนือ ที่กล่าวถึงการเดินทางไปแผ่บุญญาบารมีของพระร่วง เพื่อทำให้ “กรุงจีน” เข้ามาอยู่ในอำนาจของพระองค์ ในครั้งนั้นพระเจ้ากรุงจีนได้ทรงยกพระราชธิดาให้เป็นพระชายาของพระร่วง และได้พระราชทานชาวจีนจำนวน 500 คน ติดตามมาเป็นบริวาร พงศาวดารเหนือจึงได้บันทึกเรื่องต้นกำเนิดของภาชนะดินเผาที่เกี่ยวข้องกับชาวจีนไว้ว่า
“แลจีนทั้งหลายก็ทำถ้วยชามถวาย จึงเกิดมีถ้วยชามแต่นั้นมา”
อย่างไรก็ตาม มิใช่เพียงชนชาติจีนเท่านั้น ที่มีฝีมือในด้านการสร้างสรรค์เครื่องกระเบื้อง ดินแดนลูกพระอาทิตย์อย่าง “ญี่ปุ่น” ก็มีฝีมือในการทำเครื่องกระเบื้องไม่แพ้กัน เครื่องกระเบื้องของชาวญี่ปุ่นจำนวนมาก ได้เดินทางมาถึงดินแดนลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ทั้งยังแพร่หลายไปทั่วทุกมุมโลกด้วยเช่นเดียวกัน ในบทความนี้ผู้เขียนจึงจะชวนไปส่องรอยแตกลายงาของเครื่องกระเบื้องญี่ปุ่นและไทย ที่สะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองดินแดนในนิทรรศการ “เซรามิกแห่งแหลมทองและแดนอาทิตย์อุทัย” ที่จัดขึ้น ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
การจัดนิทรรศการในครั้งนี้ ได้แสดงให้เห็นกรรมวิธีการสร้างสรรค์ ทั้งยังบอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ความเป็นมาของเครื่องปั้นดินเผาของญี่ปุ่นและไทย รวมทั้งยังจัดแสดงผลงานศิลปะ และบรรดาถ้วยโถโอชามที่มีความสำคัญในแต่ละยุคสมัยมาให้ได้ชมกันอีกด้วย
กรรมวิธีในการผลิตเครื่องปั้นดินเผาของญี่ปุ่น เริ่มให้ความสำคัญตั้งแต่การเตรียมวัตถุดิบ ช่างจะนำ “แร่เกาลิน” ที่ขุดได้จากเหมืองหินในตำบลอาริตะ มาพักไว้ 6 – 12 เดือน จนกว่าจะแห้ง และนำทุบ ร่อน หมักบ่มให้หนืด เพื่อเป็นดินสำหรับปั้น จากนั้นจึงจะนำไปสู่กระบวนการขึ้นรูปให้เป็นทรงของภาชนะตามต้องการ เขียนลวดลาย ชุบเคลือบ และจึงนำไปเผาในเตาไต่ระดับ
เตาเผาของชาวญี่ปุ่นที่มีรูปทรงแปลกตานี้ จะวางไล่ลงมาตามระดับความสูงชันของไหล่เขา ได้รับอิทธิพลมาจากคาบสมุทรเกาหลีในช่วงปลายของ คริสต์ศตวรรษที่ 16 เตาลักษณะนี้มีประสิทธิภาพดีกว่าเตาเผาแบบอื่น ๆ ที่เคยใช้อยู่เดิมในประเทศญี่ปุ่น ภายในมีพื้นที่แบ่งเป็นหลายช่อง โดยแต่ละช่องจะบรรจุเครื่องปั้นดินเผาเริ่มจากน้อยไปหามากไล่จากล่างขึ้นบน และระหว่างกลางอาจมีช่องสำหรับใส่ฟืนเพื่อกระจายความร้อนให้ทั่วถึง
ส่วนกรรมวิธีการผลิตเครื่องกระเบื้องโบราณของไทย ก็มีลักษณะที่น่าสนใจเช่นเดียวกัน การเผาเครื่องกระเบื้องของไทยที่ต้องอาศัยความประณีตเป็นพิเศษ จะมีอุปกรณ์ช่วยอย่างหนึ่ง คือ “กี๋” ที่ทำจากดินเผาทนไฟใช้รองก้นภาชนะ ผู้เขียนสันนิษฐานว่าอุปกรณ์ดังกล่าว อาจมีหน้าที่สร้างระยะห่างให้กับเครื่องปั้นดินเผาแต่ละชิ้น มิให้เกิดการเบียดเสียดเสียหายในระหว่างการเผา
บรรดาเครื่องกระเบื้องของญี่ปุ่นที่จัดแสดงในนิทรรศการ ส่วนมากมีต้นกำเนิดจากเมืองอาริตะ เพราะเป็นทั้งแหล่งวัตถุดิบและแหล่งผลิตชั้นเยี่ยม มีอายุเก่าแก่ที่สุดตั้งแต่ยุคก่อนส่งออก ไปจนถึงยุคที่มีการผลิตเครื่องกระเบื้องส่งออกไปทั่วโลก ทั้งนี้ภายในพระที่นั่งศิวโมกขพิมานได้จัดแสดงเครื่องกระเบื้องญี่ปุ่นชิ้นสำคัญไว้เป็นจำนวนมาก ผู้เขียนจึงจะ ขอนำเพียงบางส่วนมาอวดเพื่อเรียกน้ำย่อยให้ท่านผู้อ่านไปชมด้วยตนเองก็แล้วกัน
ภาชนะคล้ายขวดผสมกาน้ำนี้เรียกว่า “กุณฑี” ใช้สำหรับใส่น้ำ สันนิษฐานว่าได้รับอิทธิพลมาจากอินเดีย กุณฑีเหล่านี้สร้างขึ้นราวๆ พ.ศ. 2213 – 2242 ในไทยเองก็มีการใช้กุณฑีเช่นเดียวกัน และพบว่าใช้กันอย่างแพร่หลายในพิธีสำคัญมาตั้งแต่สมัยทวารวดี
ปฏิมากรรมเด็กชายจับปลาดุกด้วยน้ำเต้า เป็นผลงานศิลปะที่ค่อนข้างจะสะดุดตาผู้เขียนในขณะเดินชม เหตุเพราะเนื้อกระเบื้องมีความวาวสวยแม้จะเต็มไปด้วยรอยแตกลายงาที่บ่งบอกถึงความเก่าแก่ ทั้งกริยาอาการของตัวเด็กชายก็ยังดูทะมัดทะแมงสมจริงอีกด้วย งานชิ้นดังกล่าวเป็นเครื่องปั้นดินเผาเคลือบเขียนด้วยสีสันหลากหลาย ทำขึ้นราว พ.ศ. 2213 – 2252
การผลิตเครื่องกระเบื้องพื้นขาวเขียนลวดลายหลากสีสัน เรียกว่า “เครื่องกระเบื้องคากิเอมอน” เกิดจากการคิดค้นของตระกูลคากิเอมอน เป็นการผลิตตามคำสั่งซื้อของผู้ปกครอง ชนชั้นสูงชาวซากะ และบรรดาพ่อค้าตะวันตกเท่านั้น
จานกระเบื้องเคลือบเขียนลายคราม รูปหงส์และตัวอักษร VOC ผลิตในราว พ.ศ. 2233 – 2262 การเขียนลายครามนี้จะเริ่มเขียนหลังจากการเผารอบที่ 1 ที่มาของสีน้ำเงินครามดังกล่าวมาจาก “โกสุ” หรือแร่โคบอลต์ที่จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงินเมื่อโดน ความร้อนสูง
การใช้แร่โคบอลต์เพื่อให้สีน้ำเงินในเครื่องกระเบื้องมิได้พบแค่ในเครื่องกระเบื่องของจีนและญี่ปุ่น เครื่องกระเบื้องยี่ห้อดังของจากทางยุโรปและรัสเซียหลายรุ่น ก็นิยมใช้สีน้ำเงินจากแร่ชนิดนี้ด้วยเช่นเดียวกัน
ส่วนตราสัญลักษณ์ VOC เป็นอักษรย่อมาจากภาษาดัชต์ว่า Vereenigde Oostindische Compagnie ที่หมายถึง Dutch East India Company หรือบริษัทอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์ การตีตราอักษรย่อดังกล่าวจึงแสดงให้เห็นว่าเครื่องกระเบื้องญี่ปุ่นนั้นเป็นสินค้นส่งออกสำคัญ ที่แพร่หลายในหมู่พ่อค้าวาณิช ไปจนถึงกลุ่มขุนน้ำขุนนาง ชนชั้นสูงในยุโรปอีกด้วย
เครื่องกระเบื้องคุณภาพดีจากเมืองอาริตะ มิได้เป็นที่ต้องการของตลาดยุโรปแต่เพียงอย่างเดียว ภาชนะชั้นสูงที่ผลิตจากญี่ปุ่นจำนวนมากก็เป็นที่ต้องการของชาวสยามด้วยเช่นเดียวกัน ดังจะเห็นได้จากเครื่องการเบื้องญี่ปุ่นที่เป็นสมบัติของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร มาแต่เดิม
นอกจากเครื่องกระเบื้องของชาวญี่ปุ่นจำนวนมากจะพบในไทย เครื่องกระเบื้องของไทยจำนวนไม่น้อย ก็ได้รับการขุดค้นพบในอาณาบริเวณของดินแดนอาทิตย์อุทัย ทั้งในจังหวัดเกียวโต โออิตะ โอซากา โอกินาวา โอกะ ซากะ นางาซะกิ และคาโงชิมะ ด้วยเช่นเดียวกัน การค้นพบเครื่องกระเบื้องดังกล่าวของทั้งไทยและญี่ปุ่น จึงแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสองชนชาติที่มีมาตั้งแต่ยุคโบราณได้อย่างชัดเจน
นอกเหนือจากเครื่องกระเบื้องของชาวญี่ปุ่น นิทรรศการครั้งนี้ยังนำเครื่องปั้นดินเผาไทยสมัยโบราณที่หาชมยากมาจัดแสดงควบคู่กัน เพื่อเป็นกำไรให้กับผู้เข้าชมอีกด้วย
ทั้งรอยแตกลายงาและลวดลายต่าง ๆ ที่เกิดจากความประณีตของเครื่องปั้นดินเผาแต่ละชิ้น ล้วนบอกเล่าเรื่องราวของตนเองได้อย่างน่าสนใจ หน้าที่ของสิ่งของเหล่านี้มิได้เป็นเพียงแค่อุปกรณ์บนโต๊ะอาหารหรือเป็นของสำหรับสวยงามไว้อวดความยิ่งใหญ่มั่งคั่งกันแต่เพียงเท่านั้น ภาชนะเหล่านี้ล้วนเป็นสมบัติส่วนรวมของมนุษยชาติ ที่ถ่ายทอดวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ รสนิยม ความคิด วิวัฒนาการ รวมทั้งการปะทะสังสรรค์ทางวัฒนธรรมของผู้คนหลากเชื้อชาติ
ส่วนในนิทรรศการครั้งนี้ เราได้เห็นหน้าที่อีกประการหนึ่งของภาชนะดินเผาต่าง ๆ ทั้งของไทยและญี่ปุ่น คือ การทำหน้าที่เป็นเสมือนทูตสันถวไมตรี ที่เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างสองดินแดนให้แน่นแฟ้นขึ้นกว่าแต่เก่า
แหล่งข้อมูล
นิทรรศการ “เซรามิกแห่งแหลมทองและแดนอาทิตย์อุทัย สานตำนานสายใยไม่เสื่อมคลายในพาณิชยวัฒนธรรมโลก” จัดขึ้นช่วงวันที่ 14 กันยายน – 14 ธันวาคม พ.ศ. 2565 ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
Writer & Photographer
นักเรียนวรรณคดี นักกิน และนักประพันธ์มือสมัครเล่น ผู้หลงใหลอะไรก็ตามที่เป็นของเก่าแก่โบราณ