“We don’t count carats, we count centuries.”

          พระราชดำรัสประวัติศาสตร์ของควีนมาร์เกรเธอที่ 2 แห่งเดนมาร์กเกี่ยวกับเครื่องประดับของราชวงศ์ที่สะท้อนให้เห็นว่า “คุณค่า” ย่อมเหนือกว่า “มูลค่า” เสมอ

          แม้ว่าพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักรในครั้งนี้ จะมีบรรยากาศที่ “สบายๆ” ขึ้นมาก ความเป็นขนบธรรมเนียม โบราณราชประเพณียังคงอยู่ แต่ความเป็นทางการ ความเต็มยศ ลดลงไปมาก

          สังเกตได้จากฉลองพระองค์สีขาวแบบเรียบ ปักลวดลายละเอียดยิบสีอ่อนหวานของสมเด็จพระราชินีคามิลลา ที่ขนาดเป็นผู้เข้าพระราชพิธีเองและรับการสวมมงกุฎเป็นสมเด็จพระราชินีอย่างเป็นทางการเอง ก็ยังไม่ทรงเครื่องราชวราภรณ์อื่นใด นอกจากสร้อยพระศอเพชร The Coronation Necklace เพียงเส้นเดียวเท่านั้น

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 และ สมเด็จพระราชินีคามิลล่า แห่งราชวงศ์อังกฤษ
ที่มาของภาพ : The Court Jeweller

          หรือแม้แต่เครื่องแต่งกายฝ่ายสตรีส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมพิธี ที่ไม่สวมชุดกระโปรงยาว ไม่สวมเทียร่า การเปลี่ยนจากชุดยาว กลายเป็นชุดกระโปรงเดรสกลางวันเรียบหรู การเปลี่ยนจากเทียร่า กลายเป็นการสวมหมวกตามธรรมเนียมสากลสำหรับการร่วมงานที่เป็นทางการในช่วงกลางวัน ส่วนธรรมเนียมการสวมถุงมือยังคงอยู่ บางท่านสวมไว้ที่มือ/พระหัตถ์ทั้งสองข้าง บางท่านก็ถือไว้ที่มือซ้าย

“เครื่องประดับอัญมณีที่ผู้รับเชิญเลือกสวมใส่ก็เป็นแบบ “ชิ้นเดียวอยู่” ชิ้นเดียวจบ ทั้งสิ้น”

          ในบทความนี้ ผู้เขียนจะนำเสนอฉลองพระองค์และ “เพชร” ของสมเด็จพระราชินีและเจ้าหญิงทั้งสามพระองค์ต่อไปนี้ ที่ทรงเลือกเครื่องประดับแบบ “ชิ้นเดียวอยู่” แต่มี story มีประวัติศาสตร์ เกี่ยวพันกับประเทศอังกฤษมาอย่างยาวนาน

1. สมเด็จพระราชินีเลติเซียแห่งสเปน

          ทรง “สวยแบบตะโกน” ทรงโดดเด่นแบบไม่ต้องพยายาม ในฉลองพระองค์ชุดกระโปรงสีชมพูหมากฝรั่ง ฝีมือการออกแบบตัดเย็บสุดประณีตจากห้องเสื้อ Carolina Herrera และพระมาลาสุดโดดเด่นดึงดูดสายตา พร้อมทั้งพระกุณฑลเพชรเม็ดเป้ง อันเป็นส่วนหนึ่งของชุดเครื่องประดับ Joyas de Pasar ที่ต้องตกทอดรุ่นสู่รุ่น จากสมเด็จพระราชินีแห่งสเปนรัชกาลหนึ่งสู่สมเด็จพระราชินีแห่งสเปนรัชกาลต่อ ๆ ไป

          พระกุณฑลนี้มีประวัติศาสตร์เกี่ยวพันกับราชวงศ์อังกฤษ ด้วยเจ้าของเดิมคือ “สมเด็จพระราชินีวิกตอเรีย ยูจินีแห่งสเปน” พระมเหสีในสมเด็จพระเจ้าอัลฟองโซที่ 13 แห่งสเปน ทั้งสองพระองค์นี้คือพระปัยกา (ปู่ทวด) และพระปัยยิกา (ย่าทวด) ของสมเด็จพระเจ้าเฟลิเปที่ 6 กษัตริย์รัชกาลปัจจุบัน ทั้งนี้ สมเด็จพระราชินีวิกตอเรีย ยูจินีแห่งสเปน เดิมคือเจ้าหญิงวิกตอเรีย ยูจินีแห่งแบตเตนเบิร์ก พระธิดาในเจ้าฟ้าหญิงเบียทริส พระราชธิดาองค์สุดท้องของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งอังกฤษ

สมเด็จพระราชินีเลติเซียแห่งสเปนพร้อมพระกุณฑลเพชรอันเป็นส่วนหนึ่งของชุดเครื่องประดับ Joyas de Pasar
ที่มาของภาพ : The Court Jeweller

2. สมเด็จพระราชินีแม็กซิมาแห่งเนเธอร์แลนด์

          สมเด็จพระราชินีสายแฟชั่น รสนิยมในการแต่งพระองค์แบบ More is more. ยิ่งเยอะยิ่งงามมาก แถมยังทรงเอาอยู่เสียด้วย แต่ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่สหราชอาณาจักรคราวนี้ สมเด็จพระราชินีแม็กซิมากลับทรงฉลองพระองค์แบบเรียบสีขาว มีลูกเล่นที่การฉลุเป็นลวดลายดอกไม้ที่ส่วนบนของฉลองพระองค์ แต่สิ่งที่ไม่เรียบ โดดเด่นดึงดูดสายตาอย่างมาก คือพระกุณฑลเพชร และเข็มกลัดเพชรเม็ดเป้งที่บั้นพระองค์

          พระกุณฑลคู่นี้ เป็นส่วนหนึ่งของเทียร่าเพชรสจ๊วต (Stuart tiara) ที่ทรงดัดแปลงให้นำมาทรงเป็นพระกุณฑลได้ ทั้งนี้ เทียร่าเพชรสจ๊วตมีประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวเนื่องกับราชวงศ์อังกฤษและราชวงศ์ออเรนจ์แห่งเนเธอร์แลนด์ ตั้งแต่เมื่อครั้งพระเจ้าวิลเลียมที่ 3 แห่งออเรนจ์ และพระราชินีนาถแมรี่ที่ 2 แห่งอังกฤษ (ทรงครองราชบัลลังก์ร่วมกันหลังเหตุการณ์การปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ หรือ The Glorious Revolution) อีกด้วย

          พระกุณฑลคู่นี้ เป็นส่วนหนึ่งของเทียร่าเพชรสจ๊วต (Stuart tiara) ที่ทรงดัดแปลงให้นำมาทรงเป็นพระกุณฑลได้ ทั้งนี้ เทียร่าเพชรสจ๊วตมีประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวเนื่องกับราชวงศ์อังกฤษและราชวงศ์ออเรนจ์แห่งเนเธอร์แลนด์ ตั้งแต่เมื่อครั้งพระเจ้าวิลเลียมที่ 3 แห่งออเรนจ์ และพระราชินีนาถแมรี่ที่ 2 แห่งอังกฤษ (ทรงครองราชบัลลังก์ร่วมกันหลังเหตุการณ์การปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ หรือ The Glorious Revolution) อีกด้วย

สมเด็จพระราชินีแม็กซิมาแห่งเนเธอร์แลนด์พร้อมพระกุณฑลเพชรและเข็มกลัดเพชรที่บั้นพระองค์
ที่มาของภาพ : The Court Jeweller

3. เจ้าหญิงแมรี มกุฎราชกุมารีแห่งเดนมาร์ก

          หนึ่งในสุภาพสตรีที่แต่งกายดี มีรสนิยมตลอดมา ทรงมีรสนิยมในการแต่งพระองค์แบบ Quiet Luxury ที่มาก่อนกาล ทรงเน้นความเรียบโก้ ทรงทำให้ราชสำนักเดนมาร์กกลายเป็นหนึ่งในจุดสนใจในด้านแฟชั่น แต่ถ้าทรงหยิบเครื่องประดับชุดทับทิมล้อมเพชรขึ้นมาทรงเมื่อใด เมื่อนั้นก็ทรงสวยงามหรูหราแบบตะโกนโหวกเหวกได้ทันทีเช่นกัน

          ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่สหราชอาณาจักรครานี้ เจ้าหญิงแมรี มาในฉลองพระองค์สีม่วงเหลือบน้ำเงินเนวี่บลู (แล้วแต่มุมของแสงที่ตกกระทบ) เรียบหรูอย่างที่เคย พร้อมพระมาลา ถุงพระหัตถ์ และรองพระบาทเข้าชุดกัน แต่ที่ผู้เขียนชอบในสไตล์ของเจ้าหญิงแมรีคราวนี้ คือ การเลือกสีอัญมณีที่ตัดกับสีชุด ฟ้าเทอควอยซ์ กับตัดม่วง เป็นการเลือกคู่สีที่ทั้งสวยและเก๋

          สีตัดเพียงอย่างเดียวยังไม่พอ ยังมีประวัติศาสตร์อยู่ในเครื่องประดับชิ้นนั้นด้วย

          พระกุณฑลและเข็มกลัดเทอควอยซ์ล้อมเพชรทั้งสองชิ้นนี้ เป็นเครื่องประดับที่สมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอที่ 2 พระราชทานแก่เจ้าหญิงแมรี พระสุณิสา เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันประสูติครบ 50 ปี ทั้งนี้ เครื่องประดับชุดนี้ แต่เดิมเป็นของเจ้าหญิงมาร์กาเร็ตแห่งสวีเดน พระชายาองค์แรกในพระเจ้ากุสตาฟที่ 6 อดอล์ฟแห่งสวีเดน ตั้งแต่เมื่อครั้งยังทรงเป็นเจ้าชายกุสตาฟ อดอล์ฟ มกุฎราชกุมารแห่งสวีเดน ซึ่งทั้งสองพระองค์เป็นพระชนกและพระชนนีของสมเด็จพระราชินีอินกริดแห่งเดนมาร์ก (พระนามเดิม เจ้าหญิงอินกริดแห่งสวีเดน) พระราชชนนีของสมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอที่ 2 กษัตริย์รัชกาลปัจจุบันแห่งเดนมาร์ก

          ทั้งนี้ เจ้าหญิงมาร์กาเร็ตแห่งสวีเดน พระนามเดิมคือ “เจ้าหญิงมาร์กาเร็ตแห่งคอนโนต์” พระธิดาในเจ้าชายอาร์เธอ ดยุคแห่งคอนโนต์ พระราชโอรสพระองค์หนึ่งในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งอังกฤษ

          จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ จะเห็นได้ว่าตัวเลือกในการเลือกเครื่องประดับสักชิ้นหนึ่งนั้น มิได้พิจารณาแต่เพียงว่าเครื่องประดับชิ้นนั้นจะเข้ากันหรือไปกันได้กับเสื้อผ้า หน้า ผม แต่เพียงเท่านั้น แต่ในการเลือกเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับไปร่วมพิธีสำคัญระดับประเทศ อาจต้องเลือกชิ้นที่มีเรื่องราว หรือมีประวัติศาสตร์เกี่ยวเนื่องกับงานหรือพิธีที่จะไปร่วม โดยเฉพาะบุคคลระดับสูง ไม่ว่าจะเป็นพระมหากษัตริย์ ประมุขแห่งรัฐ พระราชินี เจ้าชาย เจ้าหญิง หรือแม้แต่ผู้นำรัฐบาลที่ต้องเป็นผู้แทนประเทศเดินทางไปร่วมงานพิธีสำคัญที่ต้องใส่ใจทุกรายละเอียด ไม่เพียงแต่เรื่องธรรมเนียมทางการทูต การวางตัว การสนทนากับบุคคลอื่น ๆ ที่มาร่วมพิธีเท่านั้น แต่เครื่องแต่งกาย รวมไปถึงเครื่องประดับที่ใช้ ยังต้องมีส่วนช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ที่เป็นทางการ หรือความสัมพันธ์ที่ไม่เป็นทางการก็ตาม

เจ้าหญิงแมรี มกุฎราชกุมารีแห่งเดนมาร์กพร้อมพระกุณฑลและเข็มกลัดเทอควอยซ์ล้อมเพชร
ที่มาของภาพ : The Court Jeweller

Writer