ยุคสมัยที่สยามเผชิญกับการแผ่ขยายอำนาจและอิทธิพลของชาติมหาอำนาจตะวันตกที่แข่งขันกันแสวงหาดินแดนเพื่อเข้าครองเป็นอาณานิคม นอกจากการพัฒนาและปรับปรุงบ้านเมืองให้ทันสมัยแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงพระราชดำริว่าแบบแผนการแต่งกายที่ดีคือเครื่องสะท้อนให้ชาติตะวันตกเห็นว่าชาวสยามเป็นผู้มีอารยะ การปรับแบบแผนการแต่งกายเกิดขึ้นพร้อม ๆ กับการปรับบทบาทของสตรีชนชั้นนำสยามจากแต่เดิมที่มีเฉพาะในเขตพระราชฐานมาสู่พื้นที่สาธารณะมากขึ้น การทรงฉลองพระองค์ที่รับอิทธิพลจากแฟชั่นตะวันตกและผสมผสานแบบแผนดั้งเดิมของสยาม ได้สร้างความประทับใจแก่พระราชอาคันตุกะ อันส่งผลดีต่อการต่างประเทศของสยามในขณะนั้นที่อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ทั้งในแง่การรับมือกับอำนาจจักรวรรดินิยมตะวันตก และการเจริญสัมพันธไมตรีกับนานาอารยประเทศ
หลังจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จนิวัตพระนครจากการเสด็จประพาสยุโรปใน พ.ศ. 2440 พระองค์ได้ทรงนำแบบอย่างการแต่งกายของชาวยุโรปมาดัดแปลงให้เหมาะสมกับสภาพอากาศของสยาม พระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายในและสตรีในราชสำนักจึงเริ่มสวมเสื้อที่ตัดตามแบบแผนยุโรป สวมถุงเท้า รองเท้าหุ้มส้น ผสมผสานไปกับแบบแผนการแต่งกายของสยาม โดยสุภาพสตรีที่ถือเป็น “ผู้นำแฟชั่น” การแต่งกายสตรีในราชสำนักในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทั้งแบบแผนการแต่งพระองค์อย่างขัตติยนารีตามโบราณราชประเพณี และการแต่งพระองค์ตามแบบแผนใหม่ที่รับวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาผสมผสานกับแบบแผนการแต่งกายดั้งเดิมของสยาม คือ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ
สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ โปรดทรงฉลองพระองค์ที่งดงามดังเช่นที่เราจะเห็นได้จากพระฉายาลักษณ์และพระสาทิสลักษณ์ที่เผยแพร่ตามสื่อต่าง ๆ อย่างกว้างขวางในปัจจุบัน แน่นอนว่าสาเหตุที่พระองค์ทรงฉลองพระองค์อย่างงดงามนั้น นอกจากจะเป็นไปด้วยรสนิยมส่วนพระองค์แล้ว อีกเหตุผลหนึ่งก็เป็นไปเพื่อภาพลักษณ์ของสยาม เนื่องจากในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นช่วงเวลาที่ราชสำนักสยามได้มีโอกาสต้อนรับพระราชอาคันตุกะ เจ้าหญิงเจ้าชายหรือผู้แทนพระองค์สมเด็จพระราชาธิบดีและสมเด็จพระราชินีต่างประเทศเข้ามาเจริญพระราชไมตรี รวมทั้งเข้ามาติดต่อด้านการค้าระหว่างประเทศมากกว่าในอดีต ดังนั้น สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถจึงต้องทรงฉลองพระองค์ที่งดงามสำหรับเสด็จออกทรงรับพระราชอาคันตุกะ อันเป็นการประกาศให้ชาวต่างประเทศได้เห็นว่าราชสำนักสยามมีความ “ศิวิไลซ์” ไม่น้อยไปกว่าราชสำนักตะวันตก1
สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ยังทรงเป็นผู้ฟื้นฟูแบบแผนการแต่งกายของสตรีไทยขึ้น ดังมีหลักฐานเป็นพระฉายาลักษณ์และพระสาทิสลักษณ์ที่ปรากฏแก่สายตาประชาชนนับแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน ทรงระมัดระวังในเรื่องพระราชบุคลิกลักษณะเป็นอย่างยิ่ง โดยทรงรังสรรค์แบบ “ชุดออกงาน” ขึ้น เป็นแบบฉลองพระองค์เหมาะสมแก่ยุคสมัยที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปรับปรุงประเทศสยามให้ก้าวเข้าสู่สมัยใหม่เยี่ยงนานาอารยประเทศและยังเป็นสมัยที่สยามเริ่มติดต่อกับนานาประเทศภายใต้ระเบียบแบบแผนทางการทูตชุดใหม่มากขึ้น ราชสำนักสยามมีโอกาสต้อนรับพระราชอาคันตุกะชาวต่างประเทศที่เสด็จ หรือเดินทางเข้ามาเจริญพระราชไมตรี รวมทั้งเข้ามาติดต่อด้านการค้าระหว่างประเทศมากกว่าในอดีต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรับรองพระราชอาคันตุกะเหล่านี้อย่างสมเกียรติ และในบางครั้งยังได้รับพระราชทานพระราชวโรกาสให้เข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระอัครมเหสีด้วย ดังนั้น สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ที่ทรงอยู่ในฐานะ “สุภาพสตรีหมายเลข 1” ที่เป็น “ภริยาของประมุขแห่งรัฐเอกราช” จึงทรงปรับปรุงแบบแผนการแต่งพระองค์ให้เหมาะสมกับการรับแขกเมือง
นอกจากการเป็น “ผู้นำแฟชั่น” แห่งรัชสมัยแล้ว สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ยังทรงเป็นสมเด็จพระอัครมเหสีที่ทรงสนพระราชหฤทัยสะสมเครื่องประดับเพชรพลอยมาตั้งแต่ครั้งยังทรงดำรงพระอิสริยยศที่พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งส่วนมากเป็นเครื่องแต่งพระองค์ที่ทรงใช้ในการพระราชพิธีโสกันต์ รวมไปถึงเครื่องประดับแบบปกติต่างๆ ที่เป็นที่นิยมในสมัยนั้น ต่อมา เมื่อทรงเจริญพระชนมายุและเจริญพระอิสริยยศขึ้น ก็ทรงมีพระอัจฉริยภาพในการเลือกสรรเครื่องประดับเพชรพลอยไว้มากมายหลายประเภททั้งสำหรับเด็กและผู้ใหญ่ ทั้งแบบใหม่และแบบโบราณ โดยรสนิยมทางแฟชั่นของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถนั้น จะเห็นได้เมื่อทรงได้รับเพชรพลอยมาก็จะทรงจัดแยกประเภทไว้เป็นชนิด ทั้งที่มีมูลค่ามากหรือน้อยตามลำดับ เมื่อทรงกำหนดเครื่องพระภูษาผ้าทรงและฉลองพระองค์แบบใด ก็มักจะทรงคำนึงถึงเครื่องเพชรพลอยสำหรับประดับพระวรกายที่เข้าชุดเข้าสีกับเครื่องแต่งพระองค์ ในวโรกาสการพระราชพิธีสำคัญที่จัดขึ้นในพระบรมมหาราชวัง หรือในโอกาสเสด็จออกทรงรับพระราชอาคันตุกะ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ทรงซื้อเครื่องอาภรณ์เพชรพลอยเหล่านี้ด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์บ้าง ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวบ้าง ทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายจากพ่อค้าคหบดีบ้างในบางโอกาส นอกจากนี้ ยังทรงได้รับเครื่องเพชรพลอยเป็นของทูลพระขวัญจากสมเด็จพระราชาธิบดี และสมเด็จพระราชินีต่างประเทศฝากมาทูลเกล้าฯ ถวายอีกด้วย จึงเป็นที่กล่าวขวัญกันว่าสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ทรงสามารถสะสมอัญมณีงดงามไว้เป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นชุดเพชรทรงกลม ชุดเพชรรูปกลมขนาดใหญ่ ชุดเพชรรูปหยดน้ำ ชุดทับทิม ชุดพลอยนิลกาฬสีน้ำเงินเข้ม แต่ชุดที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นของ “ค่าควรเมือง” และเป็นของ “มีค่าสูงสุดในตะวันออก ไม่มีของผู้ใดเสมอเหมือน” และยังเป็นชุดที่มีนัยทางการทูตแฝงอยู่ด้วย นั่นคือชุดมรกตประดับเพชร
ภาพประกอบ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ทรงเครื่องประดับชุดมรกตประดับเพชร ที่มา : Pinterest
เครื่องประดับชุดมรกตในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ นับได้ว่าเป็นชุดที่มีผู้กล่าวขานถึงมากที่สุด ทั้งในแง่ความงดงามและในแง่มูลค่า เครื่องมรกตชุดนี้ประกอบไปด้วยมรกตเจียระไนรูปสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่สีเขียวเข้มสดใส พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงซื้อเครื่องประดับชุดมรกตประดับเพชรนี้ในคราวเสด็จประพาสยุโรป ประกอบไปด้วยสร้อยพระศอ พาหุรัด พระวลัยกร พระธำมรงค์ และเข็มกลัด ล้วนแล้วแต่เป็นมรกตประดับเพชรทั้งสิ้น มรกตแต่ละเม็ดมีขนาดใหญ่และงดงามไม่มีอะไรเปรียบ มีที่มาจากเมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 1 ได้ทรงซื้อเครื่องประดับชุดมรกตประดับเพชรซึ่งเคยเป็นพระราชทรัพย์ของสมเด็จพระจักรพรรดิเออเชนี (Empress Eugenie) พระมเหสีในสมเด็จพระจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 (Napoleon III) แห่งฝรั่งเศส มาพระราชทานแก่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ2 เมื่อครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินต่างพระองค์
สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ (สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ) ทรงฉลองพระองค์แบบผสมผสานระหว่างแบบดั้งเดิมของไทยกับแบบที่ได้รับอิทธิพลจากแบบแผนการแต่งกายแบบตะวันตก และทรงเครื่องประดับชุดมรกตประดับเพชร ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นพระราชทรัพย์ของสมเด็จพระจักรพรรดินีเออเชนีแห่งฝรั่งเศส พระมเหสีในสมเด็จพระจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 แห่งฝรั่งเศส ที่มาของภาพและข้อมูล : เจฟฟรี่ ไฟน์สโตน, จุฬาลงกรณราชสันตติวงศ์ : พระบรมราชวงศ์แห่งประเทศไทย = The Royal family of Thailand : the descendants of King Chulalongkorn (กรุงเทพฯ : พิษณุโลกการพิมพ์, 2532)
การที่พระมหากษัตริย์สยามเป็นทั้งเจ้าของเครื่องประดับชั้นสูง (high jewelry) และเครื่องเพชรชุดสำคัญที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นของสมเด็จพระจักรพรรดินีแห่งฝรั่งเศสนี้ นอกจากจะแสดงนัยสำคัญว่าสยามเป็นชาติที่มีอารยะ มีรสนิยมสูงเทียบเท่าพระเจ้าแผ่นดินของประเทศมหาอำนาจตะวันตกแล้ว ยังมีนัยสำคัญทางการทูตที่แสดงให้เห็นว่าแม้ครั้งหนึ่งสยามจะมีความสัมพันธี่ไม่ราบรื่นกับฝรั่งเศสจนถึงขั้นยอมสละพื้นที่ที่ครั้งหนึ่งเคยอยู่ในเขตอำนาจของสยามให้แก่ฝรั่งเศสจากวิกฤตการณ์ที่กระทบกระเทือนเอกราชและอำนาจอธิปไตยของสยาม แต่กลายเป็นว่าพระมหากษัตริย์สยามกลับได้เป็นเจ้าของเครื่องเพชรชุดสำคัญที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นพระราชทรัพย์ของสมเด็จพระจักรพรรดินีแห่งฝรั่งเศส แสดงให้ชาติตะวันตกเห็นความทันสมัยและเป็นอารยะของราชสำนักสยาม ไม่ให้ถูกดูหมิ่นว่าชาวสยามเป็นชนชาติที่ล้าหลัง อันเป็นหนึ่งในข้ออ้างที่ประเทศมหาอำนาจนำมาใช้ในการเข้ายึดครองดินแดนเพื่อสร้างอาณานิคมเสมอมา พร้อมกันนั้นยังเป็นการแสดงพระราชอำนาจและรสนิยมของราชวงศ์สยามผ่านพัสตราภรณ์และการเป็นเจ้าของเครื่องประดับชั้นสูง (high jewelry) เช่นเดียวกับราชวงศ์ของประเทศมหาอำนาจในโลกตะวันตก และยังทรงเป็นเจ้าของเครื่องประดับที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นของราชวงศ์ชั้นสูงของโลกตะวันตก
“…โปรดพระราชทานพระราชหัตถเลขาเป็นกระแสพระบรมราชโองการตั้งให้คุณเปรื่อง สุจริตกุล พนักงานราชเลขานุการ บุตรีมหาอำมาตย์โท พระยาพิเชตพิเศษพิสัยวินิจฉัยโกศล (ปลื้ม สุจริตกุล) อธิบดีผู้พิพากษาศาลคดีต่างประเทศ เป็นพระสุจริตสุดา ตำแหน่งพระสนมเอก และโปรดพระราชทานพระราชหัตถเลขาต่างพินัยกรรม พระราชทานเครื่องประดับกายแล้วด้วยเพ็ชรและมรกตทั้งชุดรวม 11 อย่าง แก่พระสุจริตสุดาด้วย…”
สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ทรงเครื่องประดับชุดมรกต ที่มาของภาพ : คุณบุญพีร์ พันธ์วร
นอกจากพระสุจริตสุดาแล้ว สตรีสำคัญอีกท่านหนึ่งที่ได้มีโอกาสประดับพระวรกายด้วยเครื่องมรกตในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ นั่นคือ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ด้วยพระฐานะที่ทรงเป็นทั้งพระภาติยะ (หลาน – ลูกของพี่ชาย) และพระสุณิสาในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ทั้งชุดที่ได้รับพระราชทานเมื่อครั้งอภิเษกสมรสกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และชิ้นที่ทรงนำมาประดับพระวรกายเมื่อครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมราชินีแห่งสยาม ดังจะเห็นได้จากพระฉายาลักษณ์ที่ทรงสร้อยพระศอมรกตเจียระไนทรงสี่เหลี่ยมรอบพระศอประดับด้วยเพชร และมีระย้าเป็นมรกตทรงหยดน้ำล้อมเพชร ทั้งยังทรงเข็มกลัดมรกตขนาดใหญ่ล้อมเพชรอีกด้วย
ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการจัดสรรพระราชมรดกที่เป็นเครื่องเพชรของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระราชทานแก่ทายาทสายต่าง ๆ ได้แก่
สายที่ 1 คือ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระมเหสีเทวีและพระสนมเอก ได้แก่ สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี พระนางเธอลักษมีลาวัณ และพระสุจริตสุดา
สายที่ 2 คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงศ์ พระโอรสในสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ กับหม่อมคัทริน
สายที่ 3 คือ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุทธสิริโสภา พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรานนท์ธวัช พระธิดาและพระโอรสในสมเด็จเจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย และหม่อมเจ้าหญิงบุญจิราธร จุฑาธุช พระชายา
สายที่ 4 คือ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7
โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นประธานในการแบ่งพระราชทรัพย์ และทรงมีพระบรมราโชวาทแก่บรรดาพระทายาทในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ปรากฏอยู่ตอนท้ายของพระบรมราชโองการในการแบ่งสรรพระราชมรดก ดังความต่อไปนี้
“…ทรัพย์สินที่ตกมาเป็นพระราชทรัพย์ของพระองค์นี้ เดิมเป็นพระราชทรัพย์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และที่พระราชทรัพย์นี้อยู่มาได้โดยมิขาดตกบกพร่องก็ด้วยพระมหากรุณาเที่ยงธรรมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทุกพระองค์ที่ได้เสวยราชย์สืบต่อกันมา จึงทรงขอเตือนให้ท่านที่จะได้รับพระราชทานไป ได้ทรงระลึกว่าเป็นของมีค่าอันสูง เป็นเครื่องเตือนพระหฤทัยผู้ได้รับพระราชทาน ให้ทรงปฏิบัติพระองค์ให้สมแก่พระมหากรุณาดังว่ามา…”
ผู้เขียนไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่าพระทายาทแต่ละสายได้รับพระราชทานเครื่องเพชรพระราชมรดกองค์ใดไปบ้าง แต่ในสายของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี และพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ทรงได้รับพระราชทานเครื่องเพชรชุดใหญ่มาเป็นจำนวนไม่น้อย เช่น ชุดเพชร ซึ่งประกอบไปด้วยสร้อยเพชรลูกกลมขนาดเขื่องเรียงกันรอบพระศอ ชาววังเรียกกันว่า “สร้อยเพชรแม่เศรษฐี” และยังมีศิราภรณ์เพชรแบบรัศมีเป็นแฉกแหลมตลอดองค์ ที่เรียกกันว่า fringe tiara ฝีมือช่างราชสำนักฝรั่งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงซื้อมาเมื่อครั้งเสด็จประพาสยุโรป และยังมีศิราภรณ์เพชรเป็นรัดเกล้าแบบไทยประดับเพชรลูกสีออกเหลืองทอง ทั้งยังมีพระปั้นเหน่งหรือหัวเข็มขัดฝังเพชรลูกขนาดเขื่องนับสิบเม็ด แต่ละเม็ดสามารถหมุนเกลียวถอดออกมาได้ พร้อมทั้งรัดพระองค์ทองคำฝังเพชรลูกเป็นระยะ เข้าชุดกับพระวลัยกรประดับเพชรลูกขนาดใหญ่อีกสององค์ นอกจากชุดเพชรแล้ว ยังมีเครื่องประดับชุดสำคัญที่เป็นที่เลื่องลือมาแต่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่าเป็นชุดที่งดงามอย่างยิ่ง นั่นคือชุดมรกต ประกอบไปด้วยเข็มกลัดมรกตสีเขียวขจีสดใส มีระย้าตุ้งติ้งเป็นมรกตเจียระไนและเพชรรูปหยดน้ำ ล้อมด้วยดอกไม้และริบบิ้นเพชร สามารถประกอบเข้ากับสร้อยพระศอมรกตคั่นด้วยเพชรสีเหลืองก็ได้ หรือจะถอดออกเพื่อทรงแยกชิ้นกันก็ยังได้ ดังภาพประกอบต่อไปนี้
สร้อยพระศอมรกตคั่นด้วยเพชรสีเหลือง พระราชมรดกในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ที่มา : นิตยสาร LIPS ฉบับเครื่องประดับในสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี (2548)
เข็มกลัดมรกตประดับเพชร พระราชมรดกในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ที่มา : นิตยสาร LIPS ฉบับเครื่องประดับในสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี (2548)
สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ทรงเครื่องประดับชุดมรกตประดับเพชร พระราชมรดกในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ที่มา : นิตยสาร LIPS ฉบับเครื่องประดับในสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี (2548)
เครื่องประดับอันเป็นพระราชมรดกทั้งหมด รวมไปถึงชุดมรกตประดับเพชรนี้ พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ทรงถือเป็นของสูงสำหรับพระบรมราชจักรีวงศ์ พระองค์จะไม่นำมาประดับพระวรกาย แต่จะทรงจัดถวายให้สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ในฐานพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวและเป็นพระราชนัดดาสายตรงในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ทรงประดับพระองค์ในโอกาสอันควร
ปัจจุบัน เครื่องประดับพระราชมรดกในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ รวมไปถึงชุดมรกตประดับเพชรในส่วนที่สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี และพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ได้รับพระราชทานจัดสรรมานั้น ได้กลับคืนสู่พระราชวงศ์ตามพระประสงค์ของทั้งสองพระองค์