หาก “All I want for Christmas is you” ของ Mariah Carey คือ เพลงชาติประจำวันประสูติของพระเยซู ที่เราจะได้ยินทุกครั้งเมื่อจับโทรศัพท์ในช่วงคริสต์มาส เนื้อร้องที่ว่า “วันนี้วันดีปีใหม่ท้องฟ้าแจ่มใสพาใจสุขสันต์ …” หรือ “สวัสดีปีใหม่แล้ว ผองไทยจงแคล้วปวงภัย …” ก็คงเป็นเสียงเพลงที่เราได้ยินแล้วได้ยินอีกตามห้างสรรพสินค้า สถานที่สำคัญ และตามรายการโทรทัศน์ ในช่วงส่งท้ายปีเก่าและต้อนรับปีใหม่ของไทยเช่นเดียวกัน
เพลงประจำเทศกาลต่าง ๆ ที่เราได้ยินกันมาตั้งแต่เด็ก ไม่ว่าจะเพลง ปีใหม่ สงกรานต์ หรือเพลงวันลอยกระทง ล้วนเป็นมรดกตกทอดที่บรรดาครูเพลงของ “วงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์” หรือที่รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า “วงดนตรี สุนทราภรณ์” ได้สร้างสรรค์ไว้เมื่อนานมาแล้ว แต่ถึงอย่างนั้นบทเพลงเหล่านี้ ก็ยังคงถูกขับขานเรื่อยมา จนเป็นที่คุ้นหูของผู้คนในยุคปัจจุบัน
ในช่วงต้นปีแบบนี้ ผู้เขียนจึงจะพาไปชมประวัติความเป็นมาอันน่าสนใจของกรมประชาสัมพันธ์ และชวนไปฟังเพลงปีใหม่ในตำนานจากแผ่นเสียงสุดคลาสสิก ที่พิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุกรมประชาสัมพันธ์
กรมประชาสัมพันธ์ หรือชื่อในยุคแรกเริ่ม คือ กองโฆษณาการ เป็นองค์กรของรัฐที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2476 หลังช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครองหมาด ๆ หน่วยงานนี้จึงมีภารกิจสำคัญ คือการเผยแพร่แนวความคิด “ประชาธิปไตย” ให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายไปทั่วสยามประเทศ เดิมทีกรมประชาสัมพันธ์ตั้งอยู่ที่ถนนราชดำเนิน ใช้อาคารที่เคยเป็นห้างแบดแมน แอนด์ กัมปะนี เป็นที่ทำการ
ต่อมาอาคารดังกล่าวเกิดความทรุดโทรมตามอายุ และโครงสร้างอาคารได้รับการกระทบกระเทือนจากแรงระเบิดในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงมีการทุบอาคารที่เคยเป็นห้างแบดแมนลง และสร้างอาคารขึ้นมาใหม่ อย่างไรก็ตามอาคารใหม่ของกรมประชาสัมพันธ์ก็ได้รับความเสียหายร้ายแรง อีกครั้งจากเพลิงไหม้ในช่วง “พฤษภาทมิฬ” พ.ศ. 2535 กรมประชาสัมพันธ์ จึงได้ย้ายที่ทำการถาวรมาอยู่ที่ซอยอารีย์สัมพันธ์ ดังที่ได้เห็นกันในปัจจุบัน
พิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุกรมประชาสัมพันธ์ ตั้งอยู่บริเวณ ชั้น 2 ของอาคารหอประชุม สถานที่แห่งนี้ได้เก็บรักษาวัตถุทางประวัติศาสตร์ หลายชิ้น เช่น ไมโครโฟน ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงใช้พระราชทานพระปฐม บรมราชโองการ “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” เมื่อครั้งเสด็จขึ้นครองราชสมบัติในปี พ.ศ. 2493
ทั้งนี้พิพิธภัณฑ์ฯ ยังได้จัดแสดงเอกสารหายากต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ความเป็นมาและบทบาทของกรมประชาสัมพันธ์ในอดีต เอกสารเหล่านี้บางส่วนได้รับบริจาคมาจากผู้หลักผู้ใหญ่ของกรมฯ และบางส่วนก็ได้มาจากการเสาะหาตามร้านหนังสือเก่า โดยพี่ ๆ เจ้าหน้าที่ของพิพิธภัณฑ์
มาถึงส่วนสำคัญของพิพิธภัณฑ์ ที่หากไม่ได้แวะก็เหมือนว่าจะมาไม่ถึงที่นี่ คือ “ห้องสมุดแผ่นเสียง” ที่รวบรวมแผ่นเสียงจำนวนมาก ทั้งแผ่นครั่ง ที่เป็นแผ่นเสียงสมัยโบราณ และแผ่นเสียงไวนิล ซึ่งเป็นแผ่นเสียงในยุคที่ใหม่ขึ้นมาหน่อย ไว้หลายหมื่นแผ่น !
ทางพิพิธภัณฑ์ได้จัดหมวดหมู่ของแผ่นเสียงไว้อย่างเป็นระบบ แยกเป็นเพลงสากล เพลงไทย และแบ่งย่อยไปอีกเป็นเพลงไทยสากล ลูกทุ่ง ลูกกรุง และเพลงสตริง
เพื่อให้เข้ากับช่วงเทศกาลปีใหม่ ผู้เขียนจึงได้ปรารภกับทางเจ้าหน้าที่ว่า อยากจะดูแผ่นเสียงเพลงปีใหม่ในตำนานสักหน่อย พี่ ๆ จึงได้นำแผ่นเสียงเพลงปีใหม่จำนวนมากมาให้ได้ทดลองฟังจนจุใจ ทำให้เราได้ฟังเพลงที่รู้เนื้อแต่ไม่รู้ชื่อหลายเพลงมาก ๆ เช่น รำวงปีใหม่ สวัสดีปีใหม่ ไชโยปีใหม่ รับขวัญปีใหม่ เก่าไปใหม่มา รื่นเริงเถลิงศก ฯลฯ
เพลงปีใหม่จำนวนมากเป็นเพลงของวงดนตรีสุนทราภรณ์ ภายในปกของแผ่นเสียงบางแผ่นได้ระบุ ชื่อเพลง ศิลปิน คำร้อง และจังหวะของดนตรีไว้ อย่างละเอียด มีทั้งเพลงไว้ใช้ร้องประสานเสียง ลีลาศในงานสังคม รวมทั้ง ไว้สำหรับประกอบการรำวงมาตรฐาน ซึ่งเป็นวัฒนธรรมรัฐนิยมในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่รัฐบาลมีจุดมุ่งหมายในการก่อร่างแบบแผนของการละเล่นประจำชาติไทย เพื่อสร้างความเป็น “ชาตินิยม” ให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชน
เนื่องจากวงดนตรีสุนทราภรณ์ เป็นวงดนตรีที่มีสภาวะกึ่งรัฐ กึ่งเอกชน เนื้อเพลงปีใหม่บางเพลงจึงแสดงให้เห็นบทบาทของเพลงประจำเทศกาล ที่ตอบสนองกับนโยบายการสร้างความเป็นชาตินิยมของรัฐอย่างชัดเจน เช่น เพลงรื่นเริงเถลิงศก ที่ร้องว่า
“ รื่นเริง เถลิงศกใหม่ ช่า รื่นเริง เถลิงศกใหม่
รวมจิตร่วมใจ ทำบุญร่วมกัน
ทำบุญกันตามประเพณี กุศลราศรีบรรเจิดเฉิดฉัน
พี่น้อง ร่วมชาติเดียวกัน
พี่น้อง ร่วมชาติเดียวกัน
ขอให้สุขสันต์ ทั่วกันเอย ”
เราทุกคนย่อมรู้กันเป็นอย่างดีว่า เพลงปีใหม่ ไม่ใช่เพลงที่ไว้เปิดฟัง คนเดียวในบ้าน หรือไว้เปิดคลอยามเช้าขณะจิบกาแฟถ้วยแรกของวัน เพลงปีใหม่ก็ย่อมต้องเปิดในงานปีใหม่ เปิดในงานที่มีคนมาสมาคมกันอยู่มาก ๆ เนื้อร้องที่ว่า “พี่น้องร่วมชาติเดียวกัน” จึงทำหน้าที่กระตุ้นเตือนให้ทุก ๆ คน ตระหนักถึงความเป็นหนึ่งเดียวกันของคนในชาติ ถือเป็นวิธีการใช้เทศกาลและความบันเทิงมาเคลือบแฝงอุดมการณ์ทางการเมืองได้อย่างแยบยล
อย่างไรก็ดี เพลงก็คือเพลง เมื่อใดที่รู้สึกว่าชีวิตต้องการคิดอะไรหนัก ๆ ก็สามารถมองทะลุความบันเทิงเข้าไปวิเคราะห์เนื้อหาและบริบทของเพลงได้ แต่เมื่อใดที่สมองต้องการพักผ่อน ก็จงฟังเพลงให้เป็นเพลง ปล่อยให้เนื้อร้อง ทำนอง เข้าหู ผ่านหัว แล้วลอยออกไป
สุดท้ายนี้ผู้เขียนก็ขอกล่าว “สวัสดีปีใหม่” อย่างเป็นทางการ และ ขอชวนผู้อ่านทุก ๆ คน แวะไปเยี่ยมไปชม พิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุกรมประชาสัมพันธ์ ผู้เขียนเชื่อว่า เสียงเพลงจากแผ่นเสียงทุกแผ่น และความเป็นกันเองของพี่ ๆ เจ้าหน้าที่ จะช่วยผ่อนคลายความตึงเครียด เหนื่อย เหงา เศร้า ซึม ที่เราต้องเผชิญกันในแต่ละวันได้เป็นอย่างดี
เอกสารอ้างอิง
Thailand Ilustrated. 1954. (กันยายน).