ตลาดเวียดนาม
“ตลาด” แหล่งวัฒนธรรมสำคัญของชนชาติ มารู้จักตลาดของเวียดนามผ่านบทความของเวียดทอล์คกัน
ฮอยอัน หรือ โห่ยอาน (Hội An) ตามสำเนียงเวียดนามแท้ ๆ ปัจจุบันเป็นเมืองขนาดเล็กริมฝั่งทะเลในจังหวัดกว่างนาม (Quảng Nam) บริเวณตอนกลางของเวียดนาม ทว่าเมืองเล็ก ๆ ดังกล่าวแห่งนี้ เมื่อครั้งอดีตเคยเป็นเมืองท่าการค้าที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นศูนย์กลางการค้าที่เชื่อมต่อกับเอเชียตะวันออก ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลี
คำว่า ฮอยอัน ในภาษาเวียดนาม แปลว่า สถานที่พบปะอันสงบ (peaceful meeting place) สำหรับชาวตะวันตกแล้วจะรู้จักเมืองดังกล่าวในชื่อว่า ไฟโฟ (Faifo) ซึ่งมาจากคำว่า โห่ย อาน โฟ้ (Hội An phố) ในภาษาเวียดนาม ต่อมาถูกเรียกสั้น ๆ ว่า โห่ย โฟ้ Hội phố และได้เพี้ยนเสียงมาเป็น ไฟโฟ (Faifo) หากย้อนกลับไปเมื่อครั้งอดีตในสมัยอาณาจักรจามปา (Champa) เมืองฮอยอันมีชื่อเรียกว่า เลิม เอิ๊บ โฟ้ (Lâm Ấp phố)
ราวคริสต์ศตวรรษที่ 10 ดินแดนเวียดนามปัจจุบันถูกปกครองโดย 2 อาณาจักร คือ อาณาจักรดั่ยเหวียต (Đại Việt) ปกครองบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำแดง (Red River Delta) ทางตอนเหนือ และอาณาจักรจามปา (Champa) ซึ่งปกครองบริเวณภาคกลางและภาคใต้ บริเวณจังหวัดกว๋างนามในปัจจุบัน แต่เดิมอยู่ภายใต้การปกครองของจาม กระทั่งราวคริสต์ศตวรรษที่ 15 จึงถูกชาวเวียดนามเข้ายึดครอง โดยใน ค.ศ. 1471 จักรพรรดิ เล แถง ตง (Lê Thánh Tông) แห่งอาณาจักรดั่ยเหวียตผนวกอาณาจักรจามปา เมืองฮอยอันจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของเวียดนามและเป็นเมืองเอกของกว๋างนามนับแต่นั้นมา
ค.ศ. 1535 อันโตนีโอ เด ฟาเรีย (António de Faria) นักเดินเรือชาวโปรตุเกสเดินทางจากดานัง (Da Nang) เพื่อที่จะมาตั้งศูนย์กลางการค้ายัง ไฟโฟ (Faifo) ซึ่งเป็นหมู่บ้านริมทะเล
ราวคริสต์ศตวรรษที่ 16 อำนาจจักรพรรดิราชวงศ์เล (Lê Dynasty) ตกต่ำลง อำนาจการปกครองตกอยู่ภายใต้การควบคุมของตระกูลใหญ่ 3 ตระกูล ได้แก่ ตระกูลเหงวียน (Nguyễn) ตระกูล หมัก (Mạc) และตระกูล จิ่งห์ (Trịnh) ค.ศ. 1546 จิ่งห์ เกี๋ยม (Trịnh Kiểm) ควบคุมอำนาจในราชสำนักเล ต่อมาใน ค.ศ. 1556 ได้ส่งขุนพลเหงวียนหว่าง (Nguyễn Hoàng) ยกทัพบุกลงใต้ ทว่าเหวียนหว่างค่อย ๆ ตีตัวออกห่างจาก จิ่งห์ เกี๋ยม อย่างช้า ๆ และตั้งตนเป็นใหญ่อยู่ทางตอนใต้ ต่อมาทายาทของเหงวียนหว่างได้สถาปนาแว่นแคว้นใหม่นามว่า ด่าง จอง (Đàng Trong) เรียกตนเองว่าเป็นผู้ปกครองตระกูลเหงวียน (Nguyễn) และตั้งเมืองหลวงอยู่ที่ ฝู ซวน (Phú Xuân) (3)
ช่วงเวลาที่ผู้ปกครองตระกูลเหงวียนสถาปนาอำนาจของตนนั้น ตรงกับช่วงที่เรียกว่า “ยุคแห่งการค้า” (age of commerce) ที่มีการบุกเบิกเส้นทางการค้าทางทะเลทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยตระกูลเหงวียนนั้นให้ความสำคัญต่อการค้าเมื่อเทียบกับผู้ปกครองตระกูลจิ่งห์ (Trịnh) ที่ปกครองดินแดนตอนเหนือ จึงมีการพัฒนาเมืองฮอยอันเพื่อต้อนรับพ่อค้าจากชาติต่าง ๆ ส่งผลให้เมืองฮอยอันเจริญรุ่งเรืองและกลายเป็นเมืองท่าการค้าที่สำคัญในทะเลจีนใต้
กัปตันวิลเลียม อดัมส์ (William Adams) นักเดินเรือชาวอังกฤษและคนสนิทของโชกุนโตกุงาวะ อิเอยาสึ (Tokugawa Ieyasu) เคยเดินทางมาค้าขายที่เมืองฮอยอันเมื่อ ค.ศ. 1617 โดยเรือสินค้าตราแดง (Red Seal Ship) (8)
ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 16 พ่อค้าชาวญี่ปุ่นเริ่มเข้ามาอาศัยอยู่ที่เมืองฮอยอันและตั้งชุมชนของตนเอง ค.ศ. 1593 พ่อค้ากลุ่มหนึ่งเริ่มต้นสร้างสะพานเพื่อข้ามแม่น้ำทูโบ่น (Thu Bon River) โดยใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 2 ปี แล้วเสร็จเมื่อ ค.ศ. 1595 ทำให้สามารถเชื่อมการติดต่อกับชุมชนชาวจีนที่อยู่อีกฝั่งของแม่น้ำ สะพานดังกล่าวรู้จักกันในชื่อว่า “สะพานญี่ปุ่น” หรือ “จั่ว เกิ่ว” (Chùa Cầu) ในภาษาเวียดนาม
ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17 ฮอยอันกลายเป็นเมืองท่าการค้าที่มีชื่อเสียงสำหรับญี่ปุ่น ระหว่างต้นคริสต์ทศวรรษ 1600 ถึง ค.ศ. 1635 มีเรือสินค้าญี่ปุ่นราว 70 – 86 ลำเดินทางมาค้าขายที่เมืองฮอยอัน โดยสินค้าที่เป็นที่นิยมสำหรับพ่อค้าญี่ปุ่น คือ ผ้าไหมและไม้ นิยมมาซื้อสินค้า กระทั่งเมื่อรัฐบาลญี่ปุ่นห้ามชาวญี่ปุ่นเดินทางออกนอกประเทศและอนุญาตให้เรือสินค้าของจีน เกาหลี และดัตช์เท่านั้นที่สามารถเดินทางไปค้าขายยังญี่ปุ่นได้ ส่งผลให้ชุมชนชาวญี่ปุ่นในเมืองฮอยอันค่อย ๆ เสื่อมโทรมลง ขณะที่ชุมชนชาวจีนในเมืองฮอยอันค่อย ๆ ขยายตัวอันเนื่องมาจากการหลบหนีออกจากแผ่นดินจีนมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของผู้ที่ภักดีต่อราชวงศ์หมิง ภายหลังจากที่ราชวงศ์หมิงล่มสลายลงใน ค.ศ. 1644
คริสต์ศตวรรษที่ 18 เมืองฮอยอันเจริญรุ่งเรืองเป็นเมืองท่าการค้าที่สำคัญระหว่างยุโรปกับจีน อินเดีย และญี่ปุ่น โดยเฉพาะการค้าเครื่องเคลือบ จากหลักฐานทางโบราณคดีพบว่าเครื่องเคลือบเวียดนามและเอเชียจากเมืองท่าฮอยอันได้รับการบรรทุกไปค้าขายไกลถึงอียิปต์ อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา พ่อค้าชาวยุโรปเริ่มเดินทางไปทำการค้าที่ดานังแทนที่เมืองฮอยอัน เนื่องมาจากบริเวณท่าเรือเริ่มตื้นเขินและการสนับสนุนของผู้ปกครองตระกูลเหงวียน ทำให้เมื่อเข้าสู่ช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 เมืองดานังกลายมาเป็นเมืองท่าการค้าที่สำคัญของเวียดนามแทนที่เมืองฮอยอัน ซึ่งเป็นบริเวณท่าเรือน้ำลึกที่เหมาะสมต่อการเดินเรือขนาดใหญ่ของพ่อค้ายุโรป และเมืองฮอยอันก็หมดความสำคัญในฐานะเมืองท่าการค้านับแต่นั้นมา
ที่มา
คนเรียนประวัติศาสตร์และภาษาจีน เขียนบทความยามว่าง นอนตอนสว่างยามเบื่อ
คนอยากจะเขียน นักอ่านและนักเรียน(รู้) ตลอดชีวิต ผู้หลงใหลอะไรเวียด ๆ (เวียดนาม)