พระรามสีเขียว หนุมานสีขาว และตัวละครสีต่าง ๆ ในเรื่องรามเกียรติ์ คงเป็นสิ่งแรกที่ทุกคนสามารถจินตนาการได้เมื่อนึกถึง “โขน” ที่ตามปกติแล้วจะมีการจัดแสดงอย่างยิ่งใหญ่ทุก ๆ ปี แต่ด้วยการรุกรานของ “โควิด 19” ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้การจัดแสดงโขนอย่างเต็มรูปแบบ เป็นอันต้องถูกระงับและถูกเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด ตามมาตรการควบคุมทางด้านสาธารณสุข

เมื่อการแสดงโขนอย่างเต็มรูปแบบไม่สามารถจัดขึ้นได้ในช่วงเวลาเช่นนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อนุชา ทีรคานนท์ คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และหนึ่งในคณะผู้จัดงาน จึงมีความคิดที่จะจัดนิทรรศการ “วิจิตราภรณ์และประณีตศิลป์แห่งโขน” เพื่อนำเครื่องโขน รวมทั้งงานประณีตศิลป์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับโขน โดยรวบรวมจากหน่วยงาน และเหล่าผู้สะสมศิลปวัตถุ ที่ตามปกติไม่สามารถหาชมได้โดยง่าย มาอวดความแวววาวให้บรรดาแฟนตัวยงของการแสดงโขนได้หายคิดถึงไปพลาง ๆ เสียก่อน

อาจารย์อนุชา ได้ให้ข้อมูลกับเราว่า นิทรรศการครั้งนี้จะมุ่ง

“รวบรวมงานฝีมือที่เป็นแบบอย่างที่ดี เพื่อให้ช่างผู้ได้อยู่เบื้องหลังได้รับการมองเห็น”

ศิลปวัตถุที่จัดแสดงในงานจึงล้วนมีทั้ง “ของเก่า” ที่เป็นฝีมือช่างระดับบรมครู และ “ของใหม่” ที่รังสรรค์โดยช่างในยุคสมัยปัจจุบัน อย่างไรก็ดีผลงานทุกชิ้น ต่างก็เปล่งประกายความงามแบบไม่มีใครยอมใคร ทำให้เราละสายตาไปไม่ได้แม้แต่ชิ้นเดียว หากจะเจียรไนข้อมูล ความสำคัญ และความงดงามของผลงานทุกชิ้นในนิทรรศการคงจะต้องใช้พื้นที่ และระยะเวลาอันยาวนานพอสมควร ดังนั้นเราจึงขอคัดสรร “Masterpieces” บางส่วนในนิทรรศการ มาให้ท่านผู้อ่านได้ชมพอเป็นที่อิ่มใจ

ก่อนที่เราจะชมความวิจิตรของผลงานที่เกี่ยวเนื่องกับตัวละครต่าง ๆ ในการแสดงโขน เราก็ควรจะเริ่มต้นด้วย “การไหว้ครู” เสียก่อน เช่นเดียวกับผู้ที่อยู่ในวงการนาฏยสังคีตไทย เมื่อจะมีการเริ่มต้นศึกษา ฝึกซ้อม หรือประกอบการแสดง ก็จำเป็นต้องบวงสรวงหรือบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจในการทำงาน เมื่อกล่าวถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ศิลปินโขน รวมทั้งบุคคลในวงการบันเทิงในสมัยปัจจุบัน ให้ความสำคัญมากที่สุด ก็คงไม่พ้น “พ่อแก่” หรือพระภรตมุนี เนื่องจากท่านเป็นผู้ที่จดจำท่าร่ายรำของพระศิวะทั้ง 108 ท่า และรวบรวมขึ้นเป็นคำภีร์นาฏยศาสตร์ จึงได้รับการยกย่องให้เป็นบรมครูแห่งการแสดง

เศียรพ่อแก่ที่เก่าแก่และสำคัญมากที่สุดในนิทรรศการ คือ เศียรพ่อแก่ประจำคณะละครของ “เจ้าคุณพระประยุรวงศ์” พระสนมเอกในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ได้รับตกทอดมาสู่ภรรยาของ “ครูมนตรี ตราโมท” ศิลปินแห่งชาติ ผู้เป็นนางเอกละครของคณะเจ้าคุณพระฯ

นอกจากพ่อแก่ ผู้เป็นบรมครูแห่งนาฏยสังคีตไทย ยังมีเทพเจ้าอีกองค์หนึ่ง ที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน คือ “พระพิฆเณศ” ผู้มีหน้าที่กำจัดอุปสรรคทั้งหลายมิให้เกิดขึ้นระหว่างประกอบการแสดง

เครื่องแต่งกายข้างต้น เป็นเครื่องทรงของพระพิฆเนศ ที่ใช้ในการแสดงละครดึกดำบรรพ์เบิกโรงเรื่อง “พระคเณศเสียงา” พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ความพิเศษของเครื่องทรงชุดนี้ คือ การออกแบบผ้าที่มีลวดลายเป็น “หัวกะโหลก” เพราะเชื่อกันว่า หน้าที่หนึ่งของพระพิฆเนศ คือการดูแลภูติ ผี ปีศาจ หัวกะโหลกข้างต้นจึงสื่อถึงอมนุษย์ที่เป็นบริวารขององค์พระพิฆเนศ ทั้งนี้ในเชิงของการศึกษาปฏิมากรรม ก็มีข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับลวดลายดังกล่าวว่า ศิลปินได้รับแรงบันดาลใจมาจาก เทวรูปพระพิฆเนศประทับนั่งบนกองกะโหลก ที่รัชกาลที่ 5 ทรงได้รับทูลเกล้าฯ ถวาย มาจากรัฐบาลดัชต์ เมื่อครั้งเสด็จประพาสอินโดนีเซีย

เมื่อไหว้ครูและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายกันพอเป็นพิธีแล้ว ก็ได้ฤกษ์ชมตัวละครต่าง ๆ ที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี หากกล่าวถึงตัวยักษ์ที่โดดเด่นที่สุดรามเกียรติ์ ทุกคนคงนึกถึงตัวละครตัวเดียวกัน คือ ทศกัณฐ์ แห่งกรุงลงกา ผู้มีสิบหน้า ยี่สิบมือ แต่มิใช่แค่หน้าและมือที่ไม่ธรรมดา ทศกัณฐ์ที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ยังมีความพิเศษที่เขี้ยวอีกด้วย

“ทศกัณฐ์เขี้ยวแก้ว” เป็นผลงานฝีพระหัตถ์ ของพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นวรวัฒน์สุภากร ผู้ได้รับการยกย่องจาก “สมเด็จครู” หรือสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ว่าเป็นช่างหัวโขนที่หาตัวจับได้ยาก ที่มาของเขี้ยวแก้วนี้ สันนิษฐานกันว่า กรมหมื่นวรวัฒน์ฯ ทรงได้รับมาจากพ่อตา คือพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนวรจักรธรานุภาพ เจ้ากรมช่างหุงกระจก ในช่วงต้นรัตนโกสินทร์

นอกจากจะมีเขี้ยวเป็นแก้วแล้ว ในส่วนของศีรษะก็ยังใช้ “กระจกเกรียบ” ซึ่งเป็นกระจกแผ่นบางที่สามารถใช้กรรไกรตัดเป็นแผ่นเล็ก ๆ ได้ มาประดับให้ศิราภรณ์มีความแวววาว เนื่องจากเทคนิคดังกล่าวมีความซับซ้อนมาก การทำหัวโขนสมัยใหม่จึงนิยมใช้คริสตัลแบบเม็ดมาประดับแทนที่ ศีรษะทศกัณฐ์เขียวแก้วจึงมีสถานะเป็นแบบอย่างของงานหัวโขนชั้นครู ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ยังคงมีสภาพสมบูรณ์และตกทอดมาถึงยุคปัจจุบัน

ยักษ์อีกตนที่น่าสนใจในนิทรรศการนี้ คือ กุมภกรรณ ผู้ที่ใช้หอกโมกขศักดิ์แผลงฤทธิ์ใส่พระลักษมณ์จนเกือบสิ้นชีพ หากอิงตามท้องเรื่องแล้ว กุมภกรรณ เป็นยักษ์ที่มีผิวกายสีเขียว อย่างไรก็ตาม หัวโขนที่เราเห็นกลับเป็น “กุมภกรรณหน้าทอง” สันนิษฐานว่า ศิลปินเลือกใช้สีทอง เนื่องจากต้องการให้กุมภรรณมีความโดดเด่น เมื่อเข้าฉากร่วมกับเสนายักษ์ตนอื่น ๆ นอกจากสีที่แตกต่างจากในเรื่องแล้ว วัสดุที่ใช้สร้างหัวโขนหัวก็แตกต่างไปจากหัวโขนทั่วไปด้วยเช่นกัน เพราะศิลปินไม่ได้ใช้กระดาษและขี้เลื่อยในการขึ้นรูป แต่กลับใช้ “โลหะ” นำมาตีเป็นแผ่นบาง ๆ และสลักดุนให้มีลวดลายเป็นใบหน้าของกุมภกรรณ

นอกจากนี้ผลงานชิ้นดังกล่าวยังมีการสลัก “จุลศักราช ๑๒๔๙” ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สร้างขึ้นไว้อีกด้วย เมื่อบวก ลบ คูณ หาร เสร็จสรรพ ก็จะพบว่า กุมภรรณหน้าทองนี้มีอายุเก่าแก่ถึง 135 ปี ทั้งนี้เมื่อพิจารณารูปแบบของลวดลายและวัสดุ ก็สันนิษฐานได้ว่า หัวโขนนี้เป็นงานในสกุลช่าง ของเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล) มหาดเล็กในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และผู้ก่อตั้งโรงละครปรินซ์เธียร์เตอร์ โรงละครแห่งแรกของสยาม

ถัดมาทางฝั่งคู่ปรับของยักษ์กันบ้าง หัวโขนหนุมาน ทหารเอกคนสำคัญของพระรามที่เรากำลังชมอยู่นี้ เป็นหัวโขนที่ปิดทับด้วยเปลือกหอยมุกไฟแผ่นบาง ๆ เราจึงเรียกผลงานชิ้นนี้ว่า “หนุมานหน้ามุก” ปัจจุบันหัวโขนหนุมานที่ประดับด้วยมุกไฟ มีเพียง 2 ชิ้นในประเทศไทยเท่านั้น และอยู่ในความดูแลของสำนักงานสังคีต โดยได้รับตกทอดมาตั้งแต่หน่วยงานดังกล่าวยังมีสถานะเป็นกรมมหรสพ การนำวัสดุอื่น ๆ นอกจากกระดาษมาปรับใช้ในงานช่างหัวโขน แสดงให้เห็นถึงความสร้างสรรค์ของช่างไทย ที่พยายามทดลองสิ่งใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา

นอกจากผลงานระดับบรมครูในสมัยโบราณแล้ว นิทรรศการครั้งนี้ยังจัดแสดงผลงานของศิลปินในยุคสมัยปัจจุบันอีกด้วย พัสตราภรณ์ในภาพซ้ายมือ เป็นเครื่องแต่งกายสำหรับตัวละคร “มังกรกัณฐ์” ผลงานของอาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต ศิลปินแห่งชาติ ที่ออกแบบให้รูปแบบของเสื้อมีลายเกล็ด และมังกรคาบแขน โดยได้แบบอย่างมาจากเสื้อเสนากุฎของนักรบสมัยโบราณ

ส่วนผ้าห่มนางในภาพทางขวา เป็นเครื่องแต่งกายของ “นางอังกาศตะไล” ผลงานของอาจารย์วีรธรรม ตระกูลเงินไทย ที่ปักดิ้นทองเป็นลายราชวัตร ถ้าสังเกตดี ๆ จะเห็นว่า ลวดลายแต่ละส่วนของผ้าห่มนางผืนนี้มีลักษณะเป็นรูปหน้าของยักษ์ สอดคล้องกับชาติกำเนิดของตัวละครผู้สวมใส่

เมื่อชม Masterpiece ในส่วนของ “วิจิตราภรณ์” อันได้แก่เครื่องแต่งกายโขนอันสวยงาม ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ลำดับถัดไปที่พลาดไม่ได้ก็คือ “ประณีตศิลป์แห่งโขน” ชิ้นอื่น ๆ ที่โดยส่วนมาก คือ งานจิตรกรรมอันเกี่ยวเนื่องกับฉากในรามเกียรติ์

ผลงานชิ้นนี้ คือ ภาพวาดรามเกียรติ์ตอน “พระรามตามกวาง ทศกัณฐ์ลงสวน และพระลพ พระมงกุฎจับม้าอุปการ” ของอาจารย์หทัย บุนนาค จิตรกรไทยแนวประเพณีอันดับต้น ๆ ของประเทศ เทคนิคในการวาดภาพนี้ คือ การผูกลายด้วยหมึกลงบนกระดาษไข ก่อนจะนำมาจัดแสดงในนิทรรศการนี้ เราสืบทราบมาว่า อาจารย์หทัย ได้เก็บภาพวาดรามเกียรติ์ทั้ง 3 ตอน ไว้ที่ “ใต้ถุนเรือน” จนกระทั่งผู้จัดนิทรรศการได้เห็นความละเอียดละออของการผูกลาย จึงได้เชิญผลงานดังกล่าวมาเป็นหนึ่งใน Masterpiece ของนิทรรศการครั้งนี้ด้วย

นอกจากงานจิตรกรรมระดับอาจารย์ นิทรรศการครั้งนี้ก็ได้จัดแสดงผลงานของ “นักศึกษา” ไว้ด้วย เพี่อแสดงให้เห็นว่า ภูมิปัญญาในด้านจิตรกรรมไทย ได้รับการสืบทอดมาสู่ชนรุ่นหลัง ผลงานที่เราเห็นนี้เป็นฝีมือของนักศึกษาจากวิทยาลัยเพาะช่าง ภาพทางซ้ายมือเป็นเรื่องราวในรามเกียรติ์ตอน “ทศกัณฐ์ลงสวน” ที่ศิลปินใช้ปลายพู่กันขนาดเล็กในการรังสรรค์ผลงาน จากลวดลายและการเลือกใช้เฉดสี ล้วนแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจของศิลปินที่พยายามต่อยอดคุณค่าของจิตรกรรมไทยได้เป็นอย่างดี

นิทรรศการ “วิจิตราภรณ์และประณีตศิลป์แห่งโขน” นอกจากจะรวบรวมผลงานระดับบรมครู ที่ส่วนมากเป็นของหวง ของสะสมของแต่ละบ้าน มาจัดแสดงให้คนทั่วไปได้รับชมแล้ว การจัดนิทรรศการดังกล่าวยังถือเป็นการรักษาอนุสัญญาที่องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ “UNESCO” ได้ขึ้นทะเบียนให้โขนเป็น “มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ”

การปฏิบัติตามอนุสัญญาในลักษณะหนึ่ง คือ “การสงวนรักษา” (Safeguarding) อาจารย์อนุชา กล่าวว่า

“การสงวนรักษา ไม่ได้หมายถึงการเอาโขนไปเข้าในพิพิธภัณฑ์แล้วจบ มันหมายถึงการทำอย่างไรให้โขนยังมีชีวิตอยู่ ให้คนมองเห็นและสัมผัสได้ ทั้งในแง่ของการชื่นชม และการทำความเข้าใจกับการแสดงเหล่านี้…”

การจัดนิทรรศการครั้งนี้ จึงมิได้เป็นเพียงการนำศิลปวัตถุมาจัดแสดงในที่สาธารณะเท่านั้น แต่ถือเป็นการสงวนรักษาการแสดงโขน ซึ่งมีฐานะเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ที่พอจะทำได้ในภาวะเช่นนี้

พระพรหมตรัสกับฤๅษีวาลมิกิ ผู้แต่งมหากาพย์ “รามายณะ” อันเป็นต้นธารสำคัญของ “รามเกียรติ์” ว่า

“ตราบใดที่ภูเขาและแม่น้ำบนผืนโลกยังดำรงอยู่ ตราบนั้นเรื่องรามายณะจะเป็นที่กล่าวขานแก่หมู่ชาวโลก….”

วันนี้เราได้เห็นแล้วว่า “โขน” เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เรื่องราวของพระราม ยังคงเป็นที่แพร่หลายและตราบใดที่โขนยังคงดำรงอยู่ ชื่อของบรรดาช่างไทยก็ยังคงเป็นที่กล่าวขานกันในหมู่ชาวโลกด้วยเช่นกัน

Writer & Photographer