โลหะปราสาท วัดราชนัดดารามวรวิหาร

          “โลหะปราสาท” เป็น “กุฎาคาร” ประเภทหนึ่งที่มีความสำคัญต่อวงการสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมของไทย ศาสตราจารย์หลวงวิศาลศิลปกรรม (เชื้อ ปัทมจินดา) ได้อธิบายว่า กุฎาคาร หมายถึง เรือนยอด ซึ่งจะแปลกันให้ชัด ๆ ก็หมายถึงสิ่งก่อสร้างที่มี “ยอด” ต่อจากหลังคาขึ้นไป โลหะปราสาท เป็นกุฎาคารที่มีเพียง 3 หลังบนโลก หลังแรกอยู่ที่อินเดีย หลังที่สองอยู่ที่ศรีลังกา ส่วนหลังที่สาม อยู่ที่ “วัดราชนัดดารามฯ” กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นเพียงหลังเดียวที่ยังมีสภาพสมบูรณ์งดงาม หากวนไปเวียนมาแถว ๆ ถนนราชดำเนิน ก็คงจะพอได้เห็นอยู่บ้าง

ยอดหลังคาของโลหะปราสาทวัดราชนัดดารามวรวิหาร

          เนื่องจากโลหะปราสาทมิใช่รูปแบบทางสถาปัตยกรรมที่จะเห็นได้ทั่วไป ความน่าสนใจของโลหะปราสาทในฐานะการเป็นสิ่งก่อสร้างทางพระพุทธศาสนาที่แปลกและแตกต่าง จึงทำให้มีผู้กล่าวถึงโลหะปราสาทในเชิงศิลปะไว้มากมาย การพูดถึงประเด็นดังกล่าว ก็อาจจะเป็นเรื่องจำเจ ชวนเบื่อไปเสียแล้ว

“นางวิสาขา : ผู้ริเริ่มการก่อสร้างโลหะปราสาทในสมัยพุทธกาล”

          โลหะปราสาทหลังแรกในสมัยพุทธกาล เกิดขึ้นจากความคิดของ “ผู้หญิง” ที่มีชื่อว่า “นางวิสาขา” ด้วยความที่เป็นชาวพุทธระดับตัวแม่ นางวิสาขาจึงนำเครื่องประดับของตนมาประมูลเพื่อสร้างโลหะปราสาท ที่วัดบุพพาราม ถวายองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อให้บรรดาพระสงฆ์สาวกได้ใช้ประโยชน์ เนื่องจากเวลาก็ล่วงมาแล้วสองพันกว่าปี รูปทรงของโลหะปราสาทหลังแรก จึงไม่มีร่องรอยให้เห็นว่าเป็นอย่างไร

          ทั้งนี้ทั้งนั้น ตามหนังสือ “ตำนานเรื่องวัตถุสถานต่าง ๆ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนา” ที่ราชบัณฑิตยสภารวบรวมขึ้นตามรับสั่งของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 เพื่อพิมพ์พระราชทานในงานพระศพ พระวิมาดาเธอฯ เมื่อ พ.ศ. 2472 ได้ระบุว่า โลหะปราสาทของนางวิสาขา มีความสูงถึง 7 ชั้น อ้างอิงจากอรรถกถาธรรมบท

          เรื่องเล่าของโลหะปราสาทหลังที่ 1 กับนางวิสาขา จึงเป็น “พื้นที่” ที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถ และความคิดริเริ่มของผู้หญิง ที่สามารถทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาได้ด้วยปัญญาและกำลังของตน จนเป็นเรื่องเป็นราวให้ได้เล่าสืบกันมาถึงปัจจุบัน

“ปราสาทนางพรณี : ต้นแบบโลหะปราสาทของพระเจ้าทุษฐคามินีอไภย”

ภาพเสาของโลหะปราสาทหลังที่ 2 ประเทศศรีลังกา
ที่มา : นิทรรศการโลหะปราสาท วัดราชนัดดารามวรวิหาร

          โลหะปราสาทหลังที่ 2 มีร่องรอยให้สืบค้นมากกว่าโลหะปราสาทหลังที่ 1 นอกจากแนวเสาที่ยังหลงเหลืออยู่ที่ประเทศศรีลังกา เรื่องเล่าของโลหะปราสาทหลังที่ 2 ก็ยังมีให้อ่านยาวเหยียดอยู่ในหนังสือ “มหาวงษ์”

          มหาวงษ์ ปริเฉทที่ 27 เล่าตำนานโลหะปราสาทสมัยหลังพุทธกาลไว้ว่า พระเจ้าทุษฐคามินีอไภย กษัตริย์กรุงอนุราธบูรี ไปค้นเจอคำทำนายซึ่งพระเจ้าเทวานัมปิยดิศ เสด็จปู่ของพระองค์ รับสั่งให้เจ้าพนักงานจารึกเก็บไว้ในกล่องทองคำ คำทำนายได้ระบุไว้ว่า ในอนาคตพระเจ้าเทวานัมปิยดิศจะมีหลานชื่อ พระเจ้าทุษฐคามินีอไภย และหลานผู้นี้จะสร้าง โลหะปราสาทประดับด้วยอัญมณีต่าง ๆ สูง 9 ชั้น ไว้ในอนาคต

          พระเจ้าทุษฐคามินีอไภย ได้อ่านคำทำนายก็เกิดความตื้นตันดีใจ เพราะพระองค์มีชื่อและมีศักดิ์เป็นหลานของพระเจ้าเทวานัมปิยดิศตรงตามคำทำนายแบบเป๊ะ ๆ พระองค์จึงริเริ่มเมกะโปรเจกต์ ที่จะสร้างปราสาทถวายพระพุทธเจ้า โดยอาราธนาพระขีณาสพจำนวน 8 องค์ ให้ไปศึกษาดูงานที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อเลือกวิมานบนสวรรค์มาเป็นต้นแบบของโลหะปราสาท

          เมื่อกลุ่มพระขีณาสพ ขึ้นไปถึงดาวดึงส์ก็ไปเห็นทิพยวิมานของเทพธิดาชื่อ “นางพรณี” กลุ่มหลวงพี่หลวงพ่อก็ไม่รอช้า ร่างแบบใส่ผ้าขาวลงมาถวายบรรดาพระสงฆ์และพระเจ้าทุษฐคามินีอไภย พระองค์เห็นแบบแปลนปราสาทแล้วก็ต้องพระทัยเป็นอย่างมาก จึงสั่งให้สร้างปราสาทตามแบบวิมานของนางพรณี เมื่อสร้างเสร็จในราว พ.ศ. 382 ก็ทรงบัญญัติชื่อปราสาทแห่งนี้ว่า “โลหะปราสาท”

          สาเหตุที่นางพรณี มีปราสาทหลังงามจนพระขีณาสพทั้ง 8 ลงความเห็นว่าควรเอาแบบมาสร้างบนโลกมนุษย์ เนื่องจากในสมัยพุทธกาล นางเป็นทาษีที่ทำสลากภัตร (สังฆทานประเภทหนึ่ง) ถวายพระสงฆ์ 8 รูปทุก ๆ วัน เมื่อนางเสียชีวิต ผลบุญดังกล่าวจึงทำให้นางไปเกิดเป็นเทพธิดา อยู่ในปราสาท “สูง ๑๒ โยชน์ กว้างยาวก็ ๑๒ โยชน์ โดยกลมรอบ ๔๙ โยชน์ กอบด้วยจตุรมุกข์สี่ด้านมีพื้นได้ ๙ ชั้น ประดับด้วยยอดได้ละพัน… ประดับด้วยห้องได้พันหนึ่ง งามไปด้วยข่ายแก้วมุกดาหารแลรัตนไพรที่โดยรอบ… แล้วไปด้วยแก้วแลทอง… ชั้นที่สุดเป็นคำรบ ๙ มีพระที่นั่งบุษบก… ประดับด้วยแก้ว ๗ ประการ”

          ตามหนังสือมหาวงษ์ พระเจ้าทุษฐคามินีอไภย พยายามสร้างโลหะปราสาทให้เหมือนกับปราสาทของนางพรณีมากที่สุด วิมานของนางพรณีประดับประดาอย่างไร พระองค์ก็ใช้เพชรนิลจินดามาประดับด้วยแบบเดียวกัน ในด้านค่าแรงพระองค์ก็ทรงทุ่ม ไม่อั้น ทรงกำหนดให้สร้างประตูทางเข้าของคนงานขึ้น 4 ด้าน แต่ละด้านกองเงินไว้ 8 แสน ผ้านุ่งผ้าห่มนับพัน รวมทั้งน้ำมัน น้ำอ้อย และน้ำผึ้งไว้เป็นสินน้ำใจตอบแทน

          แม้ในวันนี้โลหะปราสาทที่สร้างตามวิมานของนางพรณีจะเหลืออยู่เพียงเสา แต่เนื้อความในหนังสือมหาวงษ์ ก็ช่วยแสดงภาพโลหะปราสาทที่ชะลอลงมาจากดาวดึงส์ไว้ได้ค่อนข้างละเอียดมากทีเดียว

          เรื่องเล่าของโลหะปราสาทหลังที่ 2 กับนางพรณี จึงเป็น “พื้นที่” ที่แสดงความเท่าเทียมระหว่างชายกับหญิงในการให้ทาน ไม่ว่าคุณจะเป็นชายหรือคุณจะเป็นหญิง หรือแม้จะมีสถานะเป็นเพียงทาสผู้หญิงก็ตาม หากปฏิบัติตามหลักธรรมคำสอนของพระศาสดา ก็ย่อมได้รับผลแห่งทานนั้นในที่สุด

“โลหะปราสาทวัดราชนัดดารามฯ : เกียรติยศแห่งพระราชนัดดาเพื่อประดิษฐานรูปหล่อสมณเพศฝ่ายหญิง”

          โลหะปราสาทหลังแรกสร้างขึ้นจากความคิดของผู้หญิง และโลหะปราสาทหลังที่สองสร้างขึ้นตามแบบปราสาทของผู้หญิง ส่วนโลหะปราสาทหลังที่สาม ก็เป็นกุฎาคารที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นเกียรติยศแก่เจ้านายผู้หญิง

          เมื่อปี พ.ศ. 2389 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริจะก่อสร้าง “วัดราชนัดดาราม” เพื่อเป็นเกียรติยศแก่ พระราชนัดดา (หลาน) พระองค์เดียวที่มีฐานันดรศักดิ์เป็นพระองค์เจ้า คือ “พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าโสมนัสวัฒนาวดี” ในวาระที่พระราชนัดดาพระองค์นี้จะเข้าพิธีโสกันต์ (โกนจุก) โลหะปราสาทจึงเป็นสิ่งก่อสร้างภายในวัดที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีรับสั่งให้ก่อสร้างขึ้นในคราวเดียวกัน

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ที่มา : วิกิพีเดีย เข้าถึงได้จาก : https://th.wikipedia.org/wiki/สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ_กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

          มูลเหตุที่รัชกาลที่ 3 ทรงสร้างโลหะปราสาทขึ้นที่วัดราชนัดดา สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้มีพระราชาธิบายไว้ว่า

“พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นนักเรียนสมัยเก่า ทรงสร้างวัดแปลก ๆ … ที่วัดราชนัดดานี้ ทรงพระราชดำริว่า พระเจดีย์นั้นสร้างกันมากแล้ว อยากจะสร้างที่เขาไม่เคยสร้างกัน จึงโปรดให้สร้างโลหปราสาทขึ้น และทรงคาดว่าที่ลังกาคงทำเป็นรูปอย่างนี้ จึงทำเป็นห้อง ๆ”

ภายในโลหะปราสาท แบ่งเป็นห้อง ๆ ไว้สำหรับเดินจงกรมและนั่งสมาธิ

          พระราชาธิบายของสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ แสดงให้เห็นว่า การสร้างอาคาร แปลก ๆ เป็นพระราชนิยมอย่างหนึ่งของรัชกาลที่ 3 ในขณะเดียวกันอิทธิพลจากโลหะปราสาทของพระเจ้าทุษฐคามินีอไภย ก็เป็นแรงบันดาลใจส่วนหนึ่งให้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างโลหะปราสาทขึ้นที่กรุงเทพฯ ในคราวนั้น หากลองสันนิษฐานเล่น ๆ ก็จะพบว่า การสร้างโลหะปราสาทหลังที่ 2 และ 3 เกี่ยวพันกันอย่างน่าพิลึก เพราะโลหะปราสาทหลังที่ 2 หลานสร้างตามคำทำนายสมัยปู่ ส่วนโลหะปราสาทหลังที่ 3 นี้ปู่ก็สร้างให้เป็นเกียรติยศแก่หลานสาว

เครื่องหลังคาบางส่วนของโลหะปราสาท วัดราชนัดดาวรวิหาร

          โลหะปราสาทวัดราชนัดดา ไม่ได้เป็นกุฎาคารที่สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติเจ้านายผู้หญิงแต่เพียงเท่านั้น พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 ยังมีพระราชประสงค์จะให้กุฎาคารดังกล่าว เป็นที่สำหรับประดิษฐานรูปหล่อของ “สมณเพศฝ่ายหญิง” หรือที่เรียกว่า “ภิกษุณี” อีกด้วย ดังพระราชาธิบายฉบับเดียวกันของสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ความว่า

“การสร้างโลหปราสาทนี้ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงมีเจตนาไปอีกอย่างหนึ่งคือ จะให้ไว้รูปภิกษุณี ให้หล่อรูปภิกษุณีขึ้น หล่อแล้วก็ยังคงอยู่ในวิหารวัดนั้น หาทันได้เอาขึ้นตั้งบนโลหปราสาทไม่

พระวิหารวัดเทพธิดารามวรวิหาร

          เมื่อลองเดินสำรวจในวัดราชนัดดาดูแล้ว ไม่พบรูปหล่อภิกษุณีตามพระราชา ธิบายแต่อย่างใด แต่พอเดินไปวัดข้าง ๆ ที่มีอาณาเขตติดกัน คือ “วัดเทพธิดารามฯ” ก็ได้พบรูปหล่อภิกษุณีจำนวนมากในพระวิหาร ที่หล่อขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 จึงสันนิษฐานได้ว่ารูปหล่อภิกษุณีที่วัดเทพธิดาราม อาจเป็นรูปหล่อที่รัชกาลที่ 3 ตั้งพระทัยจะเอาขึ้นประดิษฐานในโลหะปราสาทก็เป็นได้

รูปหล่อภิกษุณีในวิหารวัดเทพธิดารามวรวิหาร
รูปหล่อภิกษุณีในวิหารวัดเทพธิดารามวรวิหาร

          เรื่องเล่าของโลหะปราสาทวัดราชนัดดาฯ จึงทำให้เราเห็นภาพของสังคมไทยในอดีต ที่ให้ความสำคัญกับ “พื้นที่” ของสมณเพศฝ่ายหญิง จนทำให้โลหะปราสาทหลังที่ 3 นี้ เกือบจะได้เป็นสถานที่ไว้ใช้สำหรับแสดงความสำคัญของ “ภิกษุณี” หนึ่งในบุคลากรที่สำคัญต่อพระศาสนา ตามหลักพุทธบริษัท 4 (ว่าด้วยบุคลากรสำคัญในพุทธศาสนา ประกอบไปด้วย ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา) ซึ่งไม่ใช่ว่าจะพบเห็นได้ง่าย ๆ แล้วในเมืองไทยปัจจุบัน

มุมจากชั้นบนของโลหะปราสาทที่มองเห็นพระวิหารและพระอุโบสถของวัดราชนัดดาฯ

          การพินิจพิเคราะห์เรื่องราวของโลหะปราสาทผ่านเอกสารและคำบอกเล่าต่าง ๆ นอกจากจะทำให้เราได้จินตนาการถึงลักษณะและความงดงามของโลหะปราสาท 2 แห่งแรกที่แทบจะไม่หลงเหลือให้เราได้มองเห็นแล้วในปัจจุบัน ยังทำให้เราได้เข้าใจภูมิหลังของโลหะปราสาทแต่ละแห่ง ซึ่งล้วนแสดงให้เห็นถึง พื้นที่ บทบาท และความสำคัญของสตรี ที่นำไปสู่การตระหนักถึงความเท่าเทียมกันของชายและหญิงภายใต้ร่มเงาของพระพุทธศาสนา

เอกสารอ้างอิง

  • สมภพ ภิรมย์ (2513). ปกิณกะคดีหมายเลข 13 ว่าด้วย กุฎาคาร. พระนคร : กรุงสยามการพิมพ์.
  • มหาวงษ์ พงษาวดารลังกาทวีป เล่ม 2. (2453). กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ไทย.
  • ราชบัณฑิตยสภา. (2472). ตำนานเรื่องวัตถุสถานต่าง ๆ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนา. ม.ป.ท. : โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร.

Writer & Photographer