เมื่อสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 8 กันยายน ค.ศ. 2022 เจ้าชายชาร์ลส์ เจ้าชายแห่งเวลส์ รัชทายาทอันดับที่ 1 ทรงสืบราชสมบัติเป็นสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 และยังผลให้คู่อภิเษกสมรส คือ คามิลลา ดัชเชสแห่งคอร์นวอลล์ ดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระราชินีโดยอัตโนมัติ
พระราชกรณียกิจสำคัญของพระมหากษัตริย์และพระราชินีอังกฤษพระองค์ใหม่ นอกจากการจัดพระราชพิธีพระบรมศพถวายสมเด็จพระราชมารดาแล้ว ยังต้องทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในฐานะประมุขแห่งรัฐที่ต้องเสด็จออกรับการเยือนอย่างเป็นทางการของประมุขรัฐต่างประเทศ (state visit) นั่นคือการเสด็จออกทรงรับนาย Cyril Ramaphosa ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ นับได้ว่าเป็นการเยือนในระดับประมุขแห่งรัฐเป็นครั้งแรกในรัชกาล
ในงานพระราชทานเลี้ยงอาหารค่ำอย่างเป็นทางการ (state banquet) ณ พระราชวังบักกิงแฮม สมเด็จพระราชินีคามิลลาทรงสง่างามในฉลองพระองค์ราตรีผ้าลูกไม้สีน้ำเงินโดย Bruce Oldfield ซึ่งเคยทรงมาแล้วก่อนหน้านี้ครั้งหนึ่งในการเป็นแบบฉายพระรูปลงนิตยสาร Vogue ที่พระตำหนักแคลเรนซ์ แต่ที่เป็นที่จับจ้องของบุคคลในงานรวมไปถึงสื่อมวลชนก็คือ ชุดบลูแซปไฟร์ประดับเพชร ที่เคยเป็นของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 อาจกล่าวได้ว่าเป็นเครื่องเพชรชุดแรกในรัชกาลที่สมเด็จพระราชินีคามิลลาเลือกทรงสำหรับเสด็จออกงานอย่างเป็นทางการ
ชุดบลูแซปไฟร์ประดับเพชรนี้ ได้รับการรังสรรค์ขึ้นใน ค.ศ. 1850 แต่เดิมประกอบไปด้วยพระกุณฑลและสร้อยพระศอบลูแซปไฟร์ล้อมเพชร เป็นของขวัญที่สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 พระราชทานแก่เจ้าหญิงเอลิซาเบธ พระราชธิดาพระองค์ใหญ่ผู้ทรงดำรงตำแหน่งรัชทายาทแห่งราชบัลลังก์อังกฤษ ในโอกาสอภิเษกสมรสกับเรือโทฟิลิป เมาทน์แบตแตน ราชนาวี (พระยศเดิมคือเจ้าชายฟิลิปแห่งกรีซและเดนมาร์ก) ใน ค.ศ. 1947 ต่อมาใน ค.ศ. 1952 สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 โปรดให้นำสร้อยพระศอองค์นี้ไปปรับให้สั้นลง โดยนำชิ้นบลูแซปไฟร์ที่ล้อมเพชรที่ใหญ่ที่สุดมาดัดแปลงเป็นจี้ห้อยพระศอ และในช่วงต้นทศวรรษที่ 1960 สมเด็จพระราชินีนาถฯ ก็ทรงสั่งทำสร้อยข้อพระกรบลูแซปไฟร์ล้อมเพชรเพิ่มเข้ามาเพื่อให้เข้าชุดกับเครื่องประดับที่ทรงมีอยู่
ค.ศ. 1963 สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงซื้อสร้อยพระศอบลูแซปไฟร์ล้อมเพชร ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นสมบัติของเจ้าหญิงหลุยส์แห่งเบลเยียม พระราชธิดาในสมเด็จพระเจ้าเลโอโปลด์ที่ 2 และโปรดให้นำไปปรับเปลี่ยนเป็นเทียร่า (หรือรัดเกล้า เป็นเครื่องประดับศีรษะสำหรับสตรีสูงศักดิ์) นับจากนั้นเป็นต้นมา สมเด็จพระราชินีนาถฯ จึงทรงเครื่องประดับชุดนี้ในแบบครบชุด เทียร่าองค์นี้มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “เทียร่าแซปไฟร์วิคตอเรีย” (Victorian Sapphire Tiara) เป็นชิ้นที่ทรงซื้อด้วยพระองค์เอง เครื่องประดับชิ้นนี้ครั้งหนึ่งเคยเป็นทรัพย์ของเจ้าหญิงหลุยส์แห่งซักส์-โคบวร์ก-โกธา (พระนามเดิมคือเจ้าหญิงหลุยส์แห่งเบลเยียม) เจ้าหญิงหลุยส์ทรงประสบปัญหาทางการเงินบางประการ จนพระบิดา คือ สมเด็จพระเจ้าเลโอโปลด์ที่ 2 แห่งเบลเยียม ตัดสินพระทัยนำเครื่องเพชรของเจ้าหญิงซึ่งทรงรับพระมรดกมาจากพระชนนีคือ สมเด็จพระราชินีอองเรียต (Queen Henriette) ออกประมูล ทั้งนี้ ไม่มีความชัดเจนว่าสร้อยพระศอแซปไฟร์ชิ้นนี้รวมอยู่ในบรรดาเครื่องเพชรที่ถูกนำออกประมูลด้วยหรือไม่ แต่ที่แน่ ๆ สร้อยพระศอแซปไฟร์ล้อมเพชรชิ้นนี้ก็ถูกนำออกจำหน่ายด้วยเช่นกัน
ในที่สุด สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงซื้อสร้อยพระศอเส้นนี้มา และโปรดให้นำไปขึ้นโครงกลายเป็นเทียร่าโดยรักษาดีไซน์ดั้งเดิมเอาไว้ และนับแต่นั้นเป็นต้นมา สมเด็จพระราชินีนาถฯ จึงทรงเทียร่ามาโดยตลอดในวโรกาสสำคัญ ๆ และมักโปรดทรงเข้าชุดกันกับชุดแซปไฟร์เดิมที่ทรงรับพระราชทานมาจากสมเด็จพระราชบิดา
Writer
มือถือไมค์ ไฟส่องหน้า ยืนหน้าชั้นเรียน สะสมผ้าไหม สนใจอัญมณี ปรี่เข้าหาหนังสือเก่า