ภาพแสดงรายละเอียดของพระวลัยกรพลอยนิลกาฬ (blue sapphire) สมเด็จพระราชินีมาร์เกอริตา ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงที่ข้อพระกรเบื้องขวา ใน พ.ศ. 2539 ขณะกำลังสัมผัสพระหัตถ์กับสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร ใน พ.ศ. 2539 ที่มาของภาพ : Pinterest
วันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 อันเป็นวันพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร ณ มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ กรุงลอนดอน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จฯ ทรงร่วมงาน ฉลองพระองค์ไทยพระราชนิยมแบบไทยบรมพิมานสีน้ำเงินเข้มที่ตัดเย็บจากผ้าไหมยกใหญ่ของจังหวัดลำพูนอันเลื่องชื่อ รวมไปถึงกระเป๋าย่านลิเภาที่ทรงถือ กลายเป็นที่กล่าวขวัญของบรรดาแฟชั่นนิสตาและสื่อมวลชนฝั่งยุโรป ทั้งนี้ยังไม่นับความตื่นตาตื่นใจจากเครื่องอาภรณ์ที่ทรงอยู่ ด้วยความที่เครื่องอาภรณ์ชุดนี้มิได้มีพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์ใดทรงนำมาประดับออกสู่สายตาสาธารณชนเป็นเวลากว่า 2 ทศวรรษ นั่นคือ สร้อยพระศอพลอยนิลกาฬ (blue sapphire ที่ปัจจุบันรู้จักกันในนาม “ไพลิน”) ล้อมเพชร อันเป็นพระราชมรดก พร้อมด้วยจี้พลอยนิลกาฬเม็ดใหญ่ขนาด 109.57 กะรัต ล้อมด้วยเพชรหลากหลายรูปทรง ที่รังสรรค์โดยห้างเพชร Van Cleef & Arpels ถวายแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ราวกลางทศวรรษ 1960 โดยพลอยนิลกาฬบนสร้อยพระศอและจี้ กล่าวได้ว่ามีคุณภาพยอดเยี่ยม ทั้งมีขนาดใหญ่ เนื้อใส สีน้ำเงินเข้มสวยระดับ royal blue พลอยนิลกาฬสีน้ำเงินเข้มสด ตัดกับเพชรไร้สีน้ำงาม โดดเด่นอยู่รอบพระศอสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เป็นที่สนใจของสื่อต่างประเทศเป็นอย่างมาก
สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงสร้อยพระศอพลอยนิลกาฬ (blue sapphire) ล้อมเพชร พร้อมด้วยจี้พลอยนิลกาฬล้อมเพชร ตามเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 วันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 จี้นี้เป็นฝีมือการรังสรรค์จากห้างเพชร Van Cleef & Arpels ถวายแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ราว พ.ศ. 2507 ที่มาของภาพ : หน่วยราชการในพระองค์ [ออนไลน์] [2]
อย่างไรก็ตาม ในชุดเครื่องประดับพลอยนิลกาฬล้อมเพชรนี้ ยังมีอีกชิ้นหนึ่งที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ยังมิได้นำออกมาทรง เป็นชิ้นที่มิได้ออกสู่สายตาสาธารณชนมากว่า 2 ทศวรรษเช่นกัน และยังเป็นชิ้นที่อาจนับได้ว่าเป็นชิ้นประวัติศาสตร์ และยังมีมิติด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศร่วมด้วย นั่นคือ พระวลัยกรนิลกาฬล้อมเพชร
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระวลัยกรพลอยนิลกาฬล้อมเพชรสมเด็จพระราชินีมาร์เกอริตาที่ข้อพระกรด้านขวา ในโอกาสที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร ถวายพระกระยาหารค่ำอย่างเป็นทางการเป็นการตอบแทน (return banquet) แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในวโรกาสที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 และเจ้าชายฟิลิป ดยุคแห่งเอดินเบอระ พระราชสวามี เสด็จฯ เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะพระราชอาคันตุกะ (state visit) เป็นครั้งที่ 2 พ.ศ. 2539 ที่มาของภาพ : Pinterest
พระวลัยกรองค์นี้มีลักษณะเป็นสร้อยข้อมือพลอยนิลกาฬสีน้ำเงินเข้ม ทรงไข่ (oval) ขนาดใหญ่ ล้อมด้วยเพชรทรงกลม ตัวเรือนประดับด้วยเพชรตลอดเส้น เป็นของขวัญที่สมเด็จพระราชินีมาร์เกอริตาแห่งอิตาลี (Margherita of Savoy) พระมเหสีในสมเด็จพระเจ้าอุมแบร์โตที่ 1 แห่งอิตาลี ทรงฝากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มาถวายสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสทวีปยุโรปครั้งที่ 1
สมเด็จพระราชินีมาร์เกอริตาแห่งอิตาลี เจ้าของเดิมของพระวลัยกรพลอยนิลกาฬล้อมเพชร ที่มาของภาพ : Pinterest
การเดินทางของพระวลัยกรแสนงามองค์นี้ มิได้มีจุดเริ่มต้นที่อิตาลี แต่เริ่มมาจากฝรั่งเศสทีเดียว
“…เม็ดใหญ่ที่สุดในชุดซึ่งเป็นนิลน้ำเอกนั้นเคยเป็นเครื่องประดับพระวรกายของสมเด็จพระนางเจ้าเอ็มเปรสแห่งฝรั่งเศส ครั้งต่อมาได้ตกมาเป็นเครื่องอาภรณ์ของเอ็มเปรสแห่งอิตาลี ซึ่งได้ทรงฝากเป็นของขวัญมาถวายสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ” [3]
พระวลัยกรองค์นี้มีลักษณะตามความในพระราชหัตถเลขาที่รัชกาลที่ 5 ทรงมีถึงสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ดังต่อไปนี้
(ลายพระราชหัตถเลขา วังควิรินะเล กรุงโรม อิตาลี) “…ว่าที่แท้แล้วกวีนเป็นเจ้าของวังโดยแท้ จะเสด็จออกเสด็จขึ้นจะอยู่จะไปแต่กวีนทั้งสิ้น ดูยังสาวกว่าอายุและงามมาก ประทานกำไรของกวีน นิลกลางเม็ดใหญ่งามมากมีเพ็ชรใหญ่ ๆ รอบ เปลี่ยนเป็นเข็มกลัดได้ด้วย ได้ให้พระยาสุริยาไปตีราคาสำหรับจะทำอินชัวรันส์ ช่างทองเขาตีราคากว่าหมื่นแฟรงก์ เพิ่มค่าอินชัวรันส์อีกหมื่นห้าพันแฟรงก์ กวีนนั้นแต่งพระองค์ไข่มุกด์กับเพ็ชรเป็นพื้น มีเม็ดโต ๆ ต่าง ๆ ท่าทางดี สร้อยคอใช้ไข่มุกด์กับเพ็ชรเป็นประคำพันรอบ เหมือนอูมคอ เสื้อปลายเป็นระย้าเพ็ชรหรือตาข่ายเพ็ชรคลุมเนื้อทั้งสิ้น…” [4]
การที่สมเด็จพระราชินีมาร์เกอริตาแห่งอิตาลี ถวายพระวลัยกรองค์นี้แด่สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ ผ่านพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น นอกจากจะแสดงให้เห็นถึงสายสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างสยามกับอิตาลี ผ่านสายสัมพันธ์ในระดับประมุขและพระราชวงศ์แล้ว ยังสะท้อนให้เห็นว่าสยาม ซึ่งในขณะนั้นเป็นเพียงรัฐอธิปไตย (sovereign state) เล็ก ๆ ในดินแดนตะวันออกไกลที่เพิ่งสถาปนาความเป็นรัฐชาติสมัยใหม่ขึ้นมาได้เพียงไม่กี่ปี กำลังเริ่มได้รับการยอมรับในสถานะแห่งความเป็นรัฐที่เท่าเทียมกับรัฐในโลกตะวันตก ดังจะเห็นได้จากการรับเสด็จฯ ที่สมพระเกียรติจากนานาประเทศในการเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 1 รวมไปถึงการทรงรับการถวายของขวัญอันล้ำค่าจากประมุขและพระราชาธิบดี-พระราชินีในยุโรปหลายชิ้น รวมไปถึงพระวลัยกรองค์นี้
ทั้งนี้ สยามกับอิตาลีสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2411 (ค.ศ. 1868) โดยการลงนามสนธิสัญญาว่าด้วยมิตรภาพ การพาณิชย์ และการเดินเรือ (Treaty of Friendship, Commerce and Navigation) เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2411 ต่อมาอิตาลีได้แต่งตั้งกงสุลอิตาลีประจำประเทศสยาม เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2429 [5]
ผู้เขียนไม่พบหลักฐานที่เป็นภาพถ่ายว่าสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ (สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ) ทรงพระวลัยกรองค์นี้ในโอกาสใดบ้าง แต่ผู้เขียนสังเกตจากพระรูปพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีในรัชกาลที่ 6 ทรงฉายเมื่อครั้งยังทรงเป็นเจ้าจอมสุวัทนา พระสนมเอก ทรงฉลองพระองค์แบบค็อกเทลสายเดี่ยวยาวครึ่งพระชงฆ์ ทรงสร้อยพระศอพลอยนิลกาฬ (blue sapphire) ประดับเพชร โดยแปลงเป็นมงกุฎประดับขนนกกระจอกเทศ ทรงสร้อยพระศอพลอยนิลกาฬระย้าประดับเพชรเข้าชุดกัน [3] ทรงประดับสายสะพายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลจุลจอมเกล้า ชั้นทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ฝ่ายใน) พร้อมประดับเหรียญรัตนาภรณ์รัชกาลที่ 6 ชั้นที่ 1 ประดับเพชรล้วน พร้อมทั้งเข็มพระปรมาภิไธย ราม ร. (ราม รามาธิบดี) ประดับเพชรล้วน เข็มอักษร รร.6 บรรจุเส้นพระเจ้าประดับเพชรและพลอยนิลกาฬ ทรงพระธำมรงค์หมั้นที่พระอนามิกาเบื้องซ้าย ทรงรัดพระโสณี (สะโพก) ด้วยเครื่องประดับแบบระย้าสไตล์ Art Deco ทิ้งชายเป็นสายยาวลงมาด้านหน้า ทรงถุงพระบาท และฉลองพระบาทส้นสูงหุ้มส้น [6]
พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ทรงฉายเมื่อครั้งยังทรงเป็นเจ้าจอมสุวัทนา พระสนมเอก ทรงฉลองพระองค์แบบค็อกเทลสายเดี่ยวยาวครึ่งพระชงฆ์ ทรงสร้อยพระศอพลอยนิลกาฬ (blue sapphire) ประดับเพชร โดยแปลงเป็นมงกุฎประดับขนนกกระจอกเทศ ทรงสร้อยพระศอพลอยนิลกาฬระย้าประดับเพชรเข้าชุดกัน ทรงประดับสายสะพายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลจุลจอมเกล้า ชั้นทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ฝ่ายใน) พร้อมประดับเหรียญรัตนาภรณ์รัชกาลที่ 6 ชั้นที่ 1 ประดับเพชรล้วน พร้อมทั้งเข็มพระปรมาภิไธย ราม ร. (ราม รามาธิบดี) ประดับเพชรล้วน เข็มอักษร รร.6 บรรจุเส้นพระเจ้าประดับเพชรและพลอยนิลกาฬ ทรงพระธำมรงค์หมั้นที่พระอนามิกาเบื้องซ้าย ทรงรัดพระโสณี (สะโพก) ด้วยเครื่องประดับแบบระย้าสไตล์ Art Deco ทิ้งชายเป็นสายยาวลงมาด้านหน้า ทรงถุงพระบาท และฉลองพระบาทส้นสูงหุ้มส้น ที่มาของภาพ : S. Phormma’s Colorizations : https://www.facebook.com/sphormmacolorization
แต่บุคคลสำคัญที่นำพระวลัยกรองค์นี้มาทรงในหลายวาระ คือ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เมื่อครั้งที่ยังทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 โดยทรงเข้าชุดกับเครื่องประดับชุดพลอยนิลกาฬล้อมเพชร ทั้งพระกุณฑล สร้อยพระศอ และเข็มกลัด ในโอกาสต่าง ๆ ต่อไปนี้
– ทรงในงานถวายพระกระยาหารค่ำอย่างเป็นทางการ (state banquet) โดยสมเด็จพระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี และสมเด็จพระราชินีฟาราห์ แห่งอิหร่าน ณ พระราชวังโกเลสตาน เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ เยือนอิหร่านอย่างเป็นทางการ พ.ศ. 2510
– ทรงที่ข้อพระกรด้านขวา ในงานสโมสรสันนิบาต ณ ทำเนียบรัฐบาล ที่รัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร จัดถวายแด่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เจ้าชายฟิลิป ดยุคแห่งเอดินเบอระ พระราชสวามี และเจ้าหญิงแอนน์ ในโอกาสเสด็จฯ เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะพระราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ใน พ.ศ. 2515
– ทรงที่ข้อพระกรด้านขวา ในโอกาสที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร ถวายพระกระยาหารค่ำอย่างเป็นทางการเป็นการตอบแทน (return banquet) แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในวโรกาสที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 และเจ้าชายฟิลิป ดยุคแห่งเอดินเบอระ พระราชสวามี เสด็จฯ เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะพระราชอาคันตุกะ (state visit) เป็นครั้งที่ 2 พ.ศ. 2539
– ทรงที่ข้อพระกรด้านขวา ในงานพระราชทานเลี้ยงอาหารค่ำและการแสดงแบบเสื้อของห้องเสื้อบัลแมง บนเรือโอเรียนเต็ลควีน วันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2528
นอกจากนี้ ยังทรงเข้าชุดกับเครื่องประดับชุดพลอยนิลกาฬล้อมเพชรในโอกาสงานราตรีอื่น ๆ อีกด้วย
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถทรงพระวลัยกรองค์นี้่ที่พระกรซ้าย ขณะมีพระราชปฏิสันถารกับสมเด็จพระราชินีฟาราห์แห่งอิหร่าน (พระยศในขณะนั้น) ในงานถวายพระกระยาหารค่ำอย่างเป็นทางการ (state banquet) ที่สมเด็จพระเจ้าชาห์โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี และสมเด็จพระราชินีฟาราห์แห่งอิหร่าน ทรงจัดถวายเพื่อเป็นพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ณ พระราชวังโกเลสตาน พ.ศ. 2510 ที่มาของภาพ : หนังสือ 100 ปีชาตกาล พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต หน้า 123 [7]
ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่สหราชอาณาจักรครานี้ เจ้าหญิงแมรี มาในฉลองพระองค์สีม่วงเหลือบน้ำเงินเนวี่บลู (แล้วแต่มุมของแสงที่ตกกระทบ) เรียบหรูอย่างที่เคย พร้อมพระมาลา ถุงพระหัตถ์ และรองพระบาทเข้าชุดกัน แต่ที่ผู้เขียนชอบในสไตล์ของเจ้าหญิงแมรีคราวนี้ คือ การเลือกสีอัญมณีที่ตัดกับสีชุด ฟ้าเทอควอยซ์ กับตัดม่วง เป็นการเลือกคู่สีที่ทั้งสวยและเก๋
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระวลัยกรพลอยนิลกาฬล้อมเพชรที่พระกรขวา ในงานถวายเลี้ยงพระกระยาหารค่ำอย่างเป็นทางการ (state banquet) แด่สมเด็จพระเจ้าชาห์โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี และสมเด็จพระจักรพรรดินีฟาราห์แห่งอิหร่าน ในโอกาสเสด็จฯ เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ในฐานะพระราชอาคันตุกะ ระหว่างวันที่ 22-29 มกราคม พ.ศ. 2511 ที่มาของภาพ : Pinterest
จากซ้าย : สมเด็จพระจักรพรรดินีฟาราห์แห่งอิหร่าน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระวลัยกรพลอยนิลกาฬล้อมเพชรที่พระกรขวา ในงานถวายเลี้ยงพระกระยาหารค่ำอย่างเป็นทางการ (state banquet) แด่สมเด็จพระเจ้าชาห์โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี และสมเด็จพระจักรพรรดินีฟาราห์แห่งอิหร่าน ในโอกาสเสด็จฯ เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ในฐานะพระราชอาคันตุกะ ระหว่างวันที่ 22-29 มกราคม พ.ศ. 2511 ที่มาของภาพ : Pinterest
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระวลัยกรพลอยนิลกาฬล้อมเพชรที่พระกรขวา ในงานสโมสรสันนิบาต ณ ทำเนียบรัฐบาล ที่รัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร จัดถวายแด่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เจ้าชายฟิลิป ดยุคแห่งเอดินเบอระ พระราชสวามี และเจ้าหญิงแอนน์ ในโอกาสเสด็จฯ เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะพระราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ใน พ.ศ. 2515 ที่มาของภาพ : Pinterest
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระวลัยกรพลอยนิลกาฬล้อมเพชรที่พระกรขวาในงานถวายพระกระยาหารค่ำอย่างเป็นทางการ (state banquet) แด่สมเด็จพระราชาธิบดีและสมเด็จพระราชินีแห่งมาเลเซีย ในโอกาสเสด็จฯ เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะพระราชอาคันตุกะ ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง ราวทศวรรษ 1970-1980 ที่มาของภาพ : Pinterest
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระวลัยกรพลอยนิลกาฬสมเด็จพระราชินีมาร์เกอริตา ในงานพระราชทานเลี้ยงอาหารค่ำและการแสดงแบบเสื้อของห้องเสื้อบัลแมง บนเรือโอเรียนเต็ลควีน วันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2528 ที่มาของภาพ: หนังสือ ราชศิลป์พัสตราภรณ์ : พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ หน้า 76-77 [8]
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระวลัยกรพลอยนิลกาฬสมเด็จพระราชินีมาร์เกอริตาเข้าชุดกับสร้อยพระศอและพระกุณฑล ในโอกาสเสด็จฯ ไปในงานราตรีสโมสรแห่งหนึ่ง ที่มาของภาพ : Pinterest
References
[1] บทความนี้ปรับปรุงจากสเตตัสในเฟสบุ๊ค Sibodee Nopprasert : https://www.facebook.com/profile.php?id=100074947608219 อย่างไรก็ตาม บทความนี้เขียนขึ้นจากแหล่งข้อมูลและภาพประกอบเท่าที่ผู้เขียนสืบค้นพบ ถ้าท่านผู้อ่านพบข้อมูลอื่นหรือภาพประกอบเพิ่มเติม สามารถนำเสนอเพิ่มเติมหรือโต้แย้งผู้เขียนได้
[2] หน่วยราชการในพระองค์, “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จ ฯ ไปทรงร่วมพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 และสมเด็จพระราชินีคามิลลา ณ มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร,” หน่วยราชการในพระองค์
[3] อุทุมพร, สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง (กรุงเทพฯ : นำอักษรการพิมพ์, 2540), หน้า 94-95.
[4] อุทุมพร, สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง (กรุงเทพฯ : นำอักษรการพิมพ์, 2540), หน้า 95.
[5] กระทรวงการต่างประเทศ, “ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐอิตาลี” [ออนไลน์] แหล่งที่มา : https://www.mfa.go.th/th/content/5d5bcc2215e39c306000a22a [เข้าถึงเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2566]
[6] ศิบดี นพประเสริฐ และรัชตพงศ์ มะลิทอง, สัตตมรัช พัสตราภรณ์ : สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 กับแบบแผนการแต่งกายของสตรีสยาม (กรุงเทพฯ : สถาบันพระปกเกล้า, 2563), หน้า 143-144.
[7] หม่อมราชวงศ์ปรียนันทนา รังสิต (บรรณาธิการ), 100 ปีชาตกาล พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต (กรุงเทพฯ : บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), 2563), หน้า 123.
[8] คณะทำงานพิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ, ราชศิลป์พัสตราภรณ์ : พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ (กรุงเทพฯ : พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ, 2555), หน้า 76-77.
Vincent Meylan, “Sirikit de Thaïlande : La Reine des Rubis,” Point De Vue Images Du Monde Special Joaillerie, No. 56 – Trimestriel (Décembre 2016 – Janvier – février 2017) : 24 , 31.
Writer
มือถือไมค์ ไฟส่องหน้า ยืนหน้าชั้นเรียน สะสมผ้าไหม สนใจอัญมณี ปรี่เข้าหาหนังสือเก่า