ตลาดเวียดนาม
“ตลาด” แหล่งวัฒนธรรมสำคัญของชนชาติ มารู้จักตลาดของเวียดนามผ่านบทความของเวียดทอล์คกัน
เดือนเมษาเมใจแบบนี้เทศกาลที่เราจะพูดถึงก็คงไม่พ้นเทศกาลสงกรานต์ เฟสติวัลสุดคึกคักที่ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติให้ความสนใจ หลังจากเงียบเหงากันมาระยะใหญ่ในช่วงที่โควิด 19 ระบาด ปีนี้เทศกาลสงกรานต์ก็เริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้ง หลายพื้นที่มีการจัดกิจกรรมมากมายให้นักท่องเที่ยวได้เข้าร่วมสนุกกันเช่นกิจกรรมไฮไลท์อย่าง “การสาดน้ำสงกรานต์” นอกจากนี้ช่วงเวลาสงกรานต์หรือเทศกาลขึ้นปีใหม่ไทยนี้ยังเป็นช่วงเวลาของครอบครัว เพราะเป็นช่วงเวลาที่ผู้คนได้เว้นว่างจากการทำงานและเดินทางกลับบ้านเพื่อใช้เวลากับครอบครัว
แต่ก็ใช่ว่ามีแต่ประเทศไทยเท่านั้นที่มีประเพณีการสาดน้ำ ประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงเราอย่างประเทศกัมพูชา ประเทศลาว หรือประเทศเมียนมาก็มีเช่นเดียวกันซึ่งการเล่นสาดน้ำนั้นก็จะเป็นกิจกรรมในเทศกาลปีใหม่นั่นเอง สำหรับประเทศกัมพูชาจะสาดน้ำกันในวันขึ้นปีใหม่ของชาวกัมพูชา หรือเรียกว่า โจล ชนำ ทเม็ย (Col Chnam Thmay) หมายถึง ขึ้นปีใหม่ หรือ บน โจล ชนำ ทเม็ย (Bon Col Chnam Thmay) หมายถึง บุญขึ้นปีใหม่ เหมือนกันกับประเทศลาว ที่เรียกวันนี้ว่า บุญปีใหม่ ส่วนประเทศเมียนมา จะมีการเล่นสาดน้ำกันในเทศกาล ตะจาน (Thingyan) เพื่อเฉลิมฉลองปีใหม่เช่นเดียวกัน
หากสงกรานต์คือวันขึ้นปีใหม่แล้วนั้น ก็คงจะพอเดาคำตอบของคำถามนี้ได้ว่าชาวเวียดนามน่าจะไม่มีประเพณีสงกรานต์เหมือนกับบ้านเราหรือสามประเทศที่กล่าวมา เพราะวันปีใหม่ของชาวเวียดนามนั้นคือวันตรุษเวียดนามที่มีขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันกับตรุษจีนนั่นเอง แต่ถ้าจะพูดถึงการเล่นสาดน้ำหรือประเพณีปีใหม่ที่จัดขึ้นช่วงเดือนเมษายนในเวียดนามก็พอมีอยู่แต่มักจะเป็นประเพณีของกลุ่มชาติพันธุ์ลาวที่อาศัยอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศเวียดนามอย่างประเพณี Bun Huột Nặm (บุน หวด หนั่ม) หรือประเพณีสาดน้ำ (Té nước) ของชาวลาวที่จังหวัดเดี่ยนเบียน (หากกล่าวถึงชาวลาวจะหมายถึงกลุ่มชาติพันธุ์ลาวในจังหวัดเดี่ยนเบียน ประเทศเวียดนาม) หรือประเพณี โจล ชนำ ทเม็ย ของชาวกัมพูชาที่อาศัยอยู่ทางตอนใต้ของเวียดนามบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง (หากกล่าวถึงชาวกัมพูชาจะหมายถึงชาวกัมพูชาที่อาศัยอยู่ทางตอนใต้ของเวียดนามบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง) ซึ่งทั้งสองเทศกาลก็จัดขึ้นช่วงเดือนเมษายนเช่นเดียวกับประเพณีขึ้นปีใหม่ของลาวและกัมพูชา
ประเพณี โจล ชนำ ทเม็ยของชาวกัมพูชา และ บุน หวด หนั่ม ของชาวลาวในเวียดนามต่างก็มีกิจกรรม “สาดน้ำ” การสาดน้ำไม่ได้เพียงแต่ให้ความชุ่มฉ่ำท่ามกลางอากาศที่ร้อนจัดของเดือนเมษาเท่านั้น แต่ยังเป็นสัญลักษณ์ของการชำระล้างสิ่งร้ายตามความเชื่อของชาวลาวและกัมพูชาด้วย ชาวกัมพูชาและชาวลาวต่างเชื่อว่าการสาดน้ำถือเป็นการชำระล้างสิ่งไม่ดีที่มีมาตลอดทั้งปีเก่า และผู้ถูกสาดน้ำจะมีโชคลาภ มีความสุขในปีใหม่ ดังนั้นยิ่งถูกสาดน้ำมากเท่าไหร่ก็จะยิ่งมีโชคดี มีความสุขมากเท่านั้น ยิ่งไปกว่านั้นเทศกาลนี้ยังเป็นช่วงเวลาของการขอพรให้ปีใหม่ที่จะมาถึงนั้นฟ้าฝนเป็นใจ ให้ความชุ่มฉ่ำต่อผืนดินและพืชพันธุ์ที่ชาวบ้านปลูกไว้ จะได้มีผลผลิตให้ได้เก็บเกี่ยวกันต่อไป โดยเฉพาะในพิธีบุน หวด หนั่ม ของชาวลาวที่อาศัยอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนาม เพราะในช่วงเดือนเมษายนจะเริ่มเข้าสู่ต้นฤดูฝนแล้วนั่นเอง
นอกจาก “สาดน้ำ” แล้ว ก็ยังมีกิจกรรมอื่นที่จัดขึ้นในเทศกาลนี้ด้วย ถ้าให้นึกภาพตามง่าย ๆ ก็ขอให้ใช้เทศกาลสงกรานต์ของไทยเป็นแนวเทียบเห็นจะสะดวกที่สุด เพราะกิจกรรมต่าง ๆ ก็คล้าย ๆ กับสงกรานต์บ้านเรา เช่น กิจกรรมในประเพณี โจล ชนำ ทเม็ย จะเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนาและเป็นกิจกรรมที่ชาวกัมพูชาให้ความสำคัญอย่าง การก่อเจดีย์ทราย และ การสรงน้ำพระ โดยการก่อพระเจดีย์ทรายนี้ชาวกัมพูชาเชื่อว่าเป็นการสั่งสมบุญบารมี ส่วนการสรงน้ำพระนั้นชาวกัมพูชาจะเก็บเอาน้ำจากที่สรงน้ำพระมาชโลมศีรษะและร่างกายด้วยเชื่อว่าจะแข็งแรง และล้างบาปได้ ส่วนกิจกรรมในวันบุน หวด หนั่ม ของชาวลาวจะมีการไหว้เทพเจ้าประจำหมู่บ้าน (กุ๊ง บ๋าน) เพื่อขอให้ลมและฝนดี พืชผลอุดม ผู้คนแข็งแรงและโชคดี รวมถึงมีการไหว้บรรพบุรุษด้วย
จากกิจกรรมต่าง ๆ ที่จัดขึ้นในวันขึ้นปีใหม่ของทั้งสองชาติพันธุ์ในประเทศเวียดนามแสดงออกถึงความคิด ความเชื่อและความผูกพันต่อธรรมชาติและรากเหง้าของตนเอง อย่างกิจกรรมก่อพระเจดีย์ทรายและสรงน้ำพระ ตลอดจนความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมนี้ของชาวกัมพูชาแสดงให้เห็นถึงศรัทธาที่มีต่อพระพุทธศาสนาที่ยังคงเหนียวแน่น การไหว้เทพเจ้าประจำหมู่บ้านและการไหว้บรรพบุรุษของชาวลาวก็แสดงให้เห็นถึงความรู้คุณและความกตัญญูต่อบรรพบุรุษและเทพเจ้า ทั้งกิจกรรมเหล่านี้ยังเป็นโอกาสให้คนในชุมชนได้รวมกลุ่มทำกิจกรรมนี้ร่วมกัน เป็นการแสดงออกถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคนในชุมชนด้วย เช่นเดียวกับกิจกรรมการเล่นสาดน้ำของชาวกัมพูชาบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงที่ใช้เป็นโอกาสให้ชาวกัมพูชาได้กระชับความสัมพันธ์กับชาวกิง (ชาวเวียดนาม) ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เดียวกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
ประเพณีขึ้นปีใหม่เป็นช่วงเวลาแห่งความสนุกสนาน ทุกกิจกรรมตามประเพณีที่คนรุ่นปู่ย่าตายายปฏิบัติสืบต่อกันมาล้วนแต่เป็นกุศโลบายอันแยบยลของการสร้างความเป็นปึกแผ่น เติมความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคนในชุมชนให้ชุมชนมีความเข้มแข็งและยั่งยืนต่อไปได้ อาจกล่าวได้ว่าสิ่งที่ซ่อนแฝงอยู่ในความสนุกสนานของงานเทศกาลปีใหม่นั้นคือกลไกการทำงานของ “ความเชื่อ” ที่มีส่วนสำคัญในการสร้าง ชี้นำ และช่วยรักษา อัตลักษณ์และวัฒนธรรมของชุมชนไว้ ทั้งยังมีส่วนในการยืนยันการดำรงอยู่และการพัฒนาของชุมชนด้วย
References
คนอยากจะเขียน นักอ่านและนักเรียน(รู้) ตลอดชีวิต ผู้หลงใหลอะไรเวียด ๆ (เวียดนาม)