อุณหภูมิการเมืองไทยช่วงนี้ร้อนแรงยิ่งกว่าแดดตอนเที่ยงในเดือนเมษายนเป็นไหน ๆ ใครจะเป็นรัฐบาล ใครจะเป็นฝ่ายค้าน ก็ยังเป็นเรื่องที่น่าปวดหัวกันอยู่พอสมควร บรรยากาศทั้งในและนอกรัฐสภาจึงจะยังคุกรุ่นเช่นนี้ต่อไป จนกว่าเราจะได้นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 มาทำหน้าที่รับใช้ประชาชน ตามกลไกประชาธิปไตยของไทย

รัฐธรรมนูญฉบับแรกของสยาม รัชกาลที่ 7 พระราชทานเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 บนพานแว่นฟ้า
ที่มา: หอจดหมายเหตุแห่งชาติ รหัสเอกสาร 65M/15

          แม้ว่าตำแหน่งนายกฯ ยังไม่นิ่ง แต่ตำแหน่งสำคัญในระบอบการเมืองที่นิ่งแน่ ๆ แล้วก็คือตำแหน่ง “ประธานสภาผู้แทนราษฎร” หลายคนที่ติดตามข่าวการเมืองในช่วงนี้ก็คงทราบแล้วว่า ประธานสภาฯ ไม่ได้มีหน้าที่เพียงแค่คอยควบคุมการประชุมและอภิปราย แต่ยังมีอำนาจบางประการสำหรับวินิจฉัยเรื่องต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสภาอีกด้วย บรรดาพรรคการเมืองที่ชนะเลือกตั้งได้เสียงข้างมากจึงจ้องตาเป็นมัน ที่จะส่งคนของตนไปนั่งเก้าอี้ตัวที่อยู่สูงที่สุดในรัฐสภา เพื่อให้อะไร อะไร มันดำเนินการไปได้ง่ายดายมากยิ่งขึ้น

พระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญที่พระที่นั่งอนันตสมาคมซึ่งถูกใช้เป็นรัฐสภาแห่งแรกของสยามเมื่อ พ.ศ. 2475
ที่มา: หอจดหมายเหตุแห่งชาติ รหัสเอกสาร 65M/14

          แต่ในช่วงที่สยามเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นประชาธิปไตย ในปี พ.ศ. 2475 ประธานสภาผู้แทนราษฎรคนแรก กลับมิได้มาจากกลุ่มผู้นำการอภิวัฒน์อย่างคณะราษฎร เพราะผู้ที่ขึ้นดำรงตำแหน่งนี้เป็นคนแรก เคยเป็นถึงขุนนางชั้น “เสนาบดี” ใหญ่โตกว้างขวางอยู่ในการปกครองระบอบเก่า และบุคคลผู้นั้นก็คือ “เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี” (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา)

เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา)
ที่มา: หอจดหมายเหตุแห่งชาติ รหัสเอกสาร 12M/123

          เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เริ่มต้นชีวิตข้าราชการด้วยการเข้าถวายตัวเป็นมหาดเล็กของรัชกาลที่ 5 และด้วยนิสัยใฝ่รู้จึงเข้าศึกษาวิชาครู จนเป็นนักเรียนคนแรกที่ได้รับประกาศนียบัตรครูของกรมศึกษาธิการ ในปี พ.ศ. 2437 จากนั้นก็ทำราชการด้านการศึกษาเรื่อยมาจนขึ้นตำแหน่งสูงสุดเป็น “เสนาบดีกระทรวงธรรมการ” (กระทรวงศึกษาธิการ) ในปี พ.ศ. 2459

          เจ้าพระยาธรรมศักดิ์ฯ มีบทบาทสำคัญในการจัดการศึกษาแผนใหม่หลายด้าน ทั้งการเป็นผู้วางแผนจัดการศึกษาให้ขยายตัวไปสู่พื้นที่ต่าง ๆ เป็นตัวตั้งตัวตีในการสร้างสถาบันการศึกษาแห่งสำคัญขึ้นใหม่ มีบทบาทด้านการเป็นผู้เขียนตำราเรียน และยังเป็นผู้สนับสนุนให้มีกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การเล่นกีฬา เกิดขึ้นในสถานศึกษาอีกด้วย ดังบทเพลงซึ่งคุ้นหูคนไทยของท่านที่ร้องว่า “กีฬา กีฬา เป็นยาวิเศษ ฮาไฮ้! ฮาไฮ้!”

จอมพลป. พิบูลสงคราม กำลังยืนอภิปราย ขณะประชุมรัฐสภาหลัง พ.ศ. 2475
ที่มา: คลังพิพิธภัณฑ์รัฐสภา

          แม้การประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกจะมีผู้ได้รับการเสนอชื่อประธานสภาฯ ถึง 3 รายชื่อ คือ นายสงวน ตุลารักษ์ เสนอชื่อเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี และพระยานิติศาสตร์ไพศาลย์ เสนอชื่อพระยาพหลพลหยุหเสนา หนึ่งในสมาชิกสำคัญของคณะราษฎร ร่วมกับพระยามโนปกรณ์นิติธาดา แต่ในท้ายที่สุด พระยาพหลฯ ไม่ขอรับตำแหน่งเนื่องจากเห็นว่าเจ้าพระยาธรรมศักดิ์ฯ เหมาะสมกว่าตน ส่วนพระยามโนฯ ก็แสดงความเห็นว่า ตนนั้นมีความสามารถมากกว่าจะเป็นประธานสภาฯ (ว้าวววว)

การประชุมสภาหลัง พ.ศ. 2475
ที่มา : คลังพิพิธภัณฑ์รัฐสภา

          ที่ประชุมในครั้งนั้นจึงลงมติเลือกเจ้าพระยาธรรมศักดิ์ฯ เป็นประธานสภาฯ โดยปราศจากเสียงคัดค้านแม้แต่เสียงเดียว ด้วยเหตุที่ว่า เจ้าพระยาธรรมศักดิ์ฯ เป็นผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งสำคัญด้านการศึกษา และเป็นผู้ใหญ่ที่มีความรู้ความสามารถดี เหมาะกับหน้าที่ผู้รักษาระเบียบการประชุม

          นอกจากประสบการณ์ในกระทรวงธรรมการและวัยวุฒิของท่านเจ้าพระยา จะเป็นปัจจัยสำคัญให้บุคคลซึ่งมาจากระบอบการปกครองแบบเก่าอย่างท่านได้รับบทบาทสำคัญในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของประชาธิปไตย แต่จริง ๆ แล้วความเข้าใจในเรื่อง “การเมืองการปกครอง” อย่างลึกซึ้งของท่านก็น่าจะเป็นประเด็นสำคัญ ที่ทำให้เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีได้รับการยอมรับนับถือจากผู้มีอำนาจในระบอบใหม่ด้วยเช่นเดียวกัน

          นอกเหนือจากการเป็นข้าราชการและนักจัดการศึกษา เจ้าพระยาธรรมศักดิ์ฯ ยังเป็นนักเขียนคนสำคัญในยุคสมัยนั้นซึ่งมีผลงานมากมายโดยเฉพาะกวีนิพนธ์ที่ท่านเขียนโดยใช้นามปากกาว่า “ครูเทพ” กวีนิพนธ์ของท่านจึงถูกรวบรวมขึ้นภายหลังซึ่งเราเรียกกันว่าหนังสือ “โคลงกลอนของครูเทพ”

          หากย้อนกลับไปในยุคที่มีเพียงหมึก กระดาษ ปากกา และแท่นพิมพ์ ประกอบกับความนิยมของผู้คนในสังคมยังผูกติดอยู่กับวัฒนธรรมการอ่านหนังสือเล่ม จะสังเกตได้ว่า “กวีนิพนธ์” เป็นเครื่องมือที่สำคัญอย่างหนึ่ง ซึ่งบรรดานักคิดนักเขียนได้เลือกมาใช้เพื่อเผยแพร่ทรรศนะทางการเมือง วิพากษ์วิจารณ์ผู้มีอำนาจ หรือเพื่อใช้โน้มน้าวความคิดเห็นของผู้อื่นให้คล้อยตามตน เพราะกวีนิพนธ์เป็นรูปแบบการเขียนที่มีรสมีชาติ การจัดระเบียบของเสียงสัมผัสและการใช้โวหารอย่างมีชั้นเชิง รวมทั้งการใช้กลวิธีทางวรรณศิลป์เพื่อสร้างอารมณ์สะเทือนใจ ที่ทำให้ผู้อ่านเกิดอารมณ์ร่วม จึงทำให้กวีนิพนธ์ถูกหยิบมาใช้นำเสนออุดมการณ์ทางการเมืองในยุคก่อนได้อย่างแยบยล

          โคลงกลอนของครูเทพบางส่วน จึงเป็นกวีนิพนธ์ที่มีเนื้อหากล่าวถึงสภาพสังคมในช่วงหลัง พ.ศ. 2475 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความคิดความอ่านในเรื่องการเมืองปกครองของเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีฯ ได้เป็นอย่างดี

“วัฏฏโก โลโก”

          คำว่า วัฏฏโก โลโก แปลว่า โลกย่อมหมุนเวียนไป ดังนั้นกวีนิพนธ์บทนี้จึงชี้ให้เห็นว่า การเปลี่ยนผ่านของระบอบการปกครอง เป็นสิ่งที่ทำให้เห็นถึงการหมุนเวียนของโลก เจ้าพระยาธรรมศักดิ์ฯ จึงอธิบายการปกครองในระบอบต่าง ๆ ไว้โดยสังเขป ทั้งระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ระบอบประชาธิปไตย ลัทธิคอมมิวนิสต์ และระบอบเผด็จการ ดังตัวบทที่ว่า

                    Absolute Monarchy เป็นประเพณีโบราณนานหนักหนา มีกษัตริย์เถลิงรัฐวัฒนา พระเดชานุภาพปราบภัยพาล… ”
                    “Democracy เป็นวิธีผันแปรแก้ไข เปลี่ยนจากอัตตาธิปตัย ให้ราษฎรเป็นใหญ่วิไลรัฐ… ”
                    “Communism เป็นทางนำรุดหน้าบ้าบิ่นใหญ่ จะลุโลก ศรีอารย์ในทันใด ใช้วิธีปฏิวัตรตัดตะบม… ”
                    “Dictatorship เพิ่งถูกหยิบขึ้นใช้ใหม่แกมเก่า เกณฑ์อัตตาธิปตัยไม่บันเทา เพียงแต่เอาอำมาตย์เป็นประมุข… ”

          ไม่เพียงเท่านั้น เจ้าพระยาธรรมศักดิ์ฯ ยังแสดงให้เห็นถึงข้อดีและข้อเสียของการปกครองแต่ละแบบ วรรคที่กล่าวว่า “แผนบงการ เคยวิตถานเลิศล้นและป่นปี้” ตัวบทดังกล่าวสื่อถึงการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่หากได้กษัตริย์ที่ดีก็นับว่าเลิศ แต่หากได้กษัตริย์ที่ไม่ดีก็สามารถทำให้บ้านเมืองป่นปี้ได้เช่นเดียวกัน

          ส่วน Democracy แม้กวีจะมองว่า “เป็นวิธีผันแปรแก้ไข” ที่ทำให้อำนาจจากผู้ปกครองซึ่งเป็นส่วนน้อยกระจายไปสู่ราษฎรส่วนมาก แต่ข้อเสียของการปกครองระบอบนี้ ก็ยังคงมี จากวรรคที่กล่าวว่า “เดม็อคราซีดีเกินนัก คณะพรรคครอบงำทำเหลวไหล” กวีชี้ให้เห็นจุดบอดของการเมืองแบบประชาธิปไตย เมื่อพรรคการเมืองเห็นแก่คะแนนเสียงมากเกินไป จนเกิดการครอบงำตัวบุคคลและการเล่นพรรคเล่นพวก บ้านเมืองก็ย่อมเกิดความเสียหายได้ไม่น้อย

          ในกวีนิพนธ์เรื่อง วัฏฏโก โลโก เจ้าพระยาธรรมศักดิ์ฯ เสนอให้ใช้แนวทางการปกครองที่เรียกว่า “Corporate State” ซึ่งท่านได้กล่าวไว้ในบทประพันธ์ว่า

          Corporate State

ถ้าสำเร็จก็วิเศษประเสริฐศรี

ฟังโดยศัพท์รับว่าสามัคคี

เป็นคุณงามความดีที่พอเพียง

ถ้าแม้ผู้ปกครองลงคลองกับ

ผู้ได้รับปกครองเป็นของเที่ยง

ว่าหันหน้าหากันมิ่งขวัญเวียง

หวังผะเดียงส่วนรวมร่วมกันไป”

          แนวทางการปกครองแบบ Corporate State ตามความเห็นของเจ้าพระยาธรรมศักดิ์ฯ จึงเน้นไปที่การร่วมมือกันระหว่างรัฐบาลกับประชาชน โดยให้ทั้งสองฝ่ายเห็นแก่ประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก

          และในตอนท้ายเจ้าพระยาธรรมศักดิ์ฯ ได้ให้ข้อคิดว่า ระบอบการปกครองก็คงเป็น fashion อย่างหนึ่งของโลก ที่ในบางประเทศก็เปลี่ยนแปลงกันง่ายดาย ราวกับการเปลี่ยนทรงผมของสตรีตามสมัยนิยม ดังนั้น จึงควรค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมตามกาลเวลาและความพร้อมของชาติ มิใช่จะคิดเพียงแต่ว่าจะต้องเปลี่ยนแปลงการปกครองเพื่อให้ทันสมัย หากทำเช่นนั้น ก็คงจะเหมือนผู้หญิงที่เปลี่ยนทรงผมโดยไม่คิดให้ดี ผลที่ตามมาก็คือการเป็นที่น่าขบขันต่อสาธารณะ ดังตัวบทที่ว่า “ตั้งเวลาให้เหมาะเฉพาะอย่าง อย่าถี่ห่างเกินควรด่วนหาญหัก ผมสั้นยาวคราวนั้นขบขันนัก คอยสำดักทางไคลให้จงดี!”

“มัชฌิมาปฏิปทา”

          เป็นกวีนิพนธ์ที่น่าจะนำเนื้อหามาเชื่อมโยงกับเรื่องที่ยกตัวอย่างไปแล้วก่อนหน้านี้ได้ เพราะเรื่องมัชฌิมาปฏิปทาแต่งหลังจากเรื่องวัฏฏโก โลโก เกือบ 2 ปี กวีนิพนธ์บทนี้ก็มีเนื้อหาตามชื่อ เจ้าพระยาธรรมศักดิ์ได้เสียดสีระบอบการปกครองแบบ “โซชัลลิสม์” หรือสังคมนิยม เพราะท่านเห็นว่า การปกครองแบบนี้“สุดโต่ง” เกินไป ตัวอย่างเช่น การปกครองแบบคอมมิวนิสต์ ที่ “รวมสมบัติรวมอาหารรวมภรรยา รวมไร่นาไหนไม่ไหวเลยไม่รวม” และการปกครองแบบเผด็จการ ที่ทำให้ “เกิดละบองหนองกรมโลกบ่มบวม ที่สุดน่วมแพทย์แก้แผลเยียวยา” ซึ่งสื่อถึงความทุกข์ยากแสนสาหัสของประชาชนจากระบอบการปกครองดังกล่าว

          เจ้าพระยาธรรมศักดิ์จึงเสนอว่า การปกครองทุกรูปแบบมีทั้งดีและร้าย อยู่ที่ว่าคณะหรือผู้ปกครองจะทำเพื่อตนเองหรือเพื่อส่วนร่วม ดังวรรคที่ว่า

                    “ทุกทุกสีมีได้ทั้งร้ายดี เช่นเยี่ยงอย่างเคยมีมาแล้วนั่น ทำเพื่อชาติหรือเพื่อตนผลผิดกัน เป็นอุดมคติอันตัดสินเอา”

          ดังนั้น ในกวีนิพนธ์เรื่องนี้ท่านจึงเสนอว่าประชาธิปไตยนั้น เป็นระบอบการปกครองที่เป็นกลางที่สุด ผ่านวรรคที่ว่า “อันดิม็อคระซีนี้หว่างกลาง” ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงการปกครองของสยามจึงนับว่า มาถูกทางแล้ว ทั้งนี้ท่านได้เน้นย้ำว่าควรให้ความสำคัญกับรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุด และเป็นหัวใจสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เพราะ “รัฐธรรมนูญหนุนเทอดให้เพริศพราย จะเฉิดฉายชูสยามงามโลกเอย”

          นอกจากการวิพากษ์วิจารณ์ข้อดีข้อเสียและให้ชี้แนะแนวทางในการจัดการปกครอง เจ้าพระยาธรรมศักดิ์ฯ ยังใช้กวีนิพนธ์เพื่อเป็นปากเป็นเสียงให้กับบรรดาแรงงานและเกษตรอีกด้วย

“ประชาสามัญของเรา”

          เป็นกวีนิพนธ์ที่กล่าวถึงการคืบคลานเข้ามาของ “โลกทุนนิยม” ที่ “เงิน” มีความสำคัญเทียบเท่ากับ “พระเจ้า” ดังวรรคที่ว่า

                    “พวงมาลัย พระเจ้ามีชัยแก่เจ้า เงินเป็นใหญ่หรือไม่เล่า เจ้าจำจะต้องบูชาเอย”

          เมื่อเงินสามารถบันดาลให้ชีวิตมีความ “ศิวิไลซ์” มากขึ้น เกษตรกรก็เริ่ม ทิ้งไร่ทิ้งนา ทิ้งที่ดินซึ่งนับเป็นสิ่งมีค่าสูงสุด และทิ้งวิถีชีวิตแบบเรียบง่ายไปเป็นกรรมกร เพื่อหวังจะยกระดับชีวิตของตนให้สูงขึ้น ซึ่งเจ้าพระยาธรรมศักดิ์ก็ได้เล่าไว้ในวรรคที่ว่า

                    “เจ้าพวงมาลัยเอย เจ้าร่วงพรูไป กลับกลายเป็นลูกจ้าง ไร่นาหาไม่ ได้อาศัยเขาบ้าง หรือมิฉะนั้นนายห้าง ก็หาที่ให้อยู่เอง

                    (ลูกคู่) แรงงานไทย เจ้าศีวิลัยสต์ไปจากนา ที่ดินทวีค่า ตัวเจ้าก็น่าจนจริง”

          แต่ชีวิตของแรงงานในยุคนั้นก็ไม่ได้ง่าย เจ้าพระยาธรรมศักดิ์ฯ จึงเล่าปัญหาของแรงงานที่ต้องเผชิญกับการกดขี่ของนายจ้าง ที่ว่า

                    “เจ้าแรงงานเอย ต้องปฏิบัติการ ตามกำหนดของสำนัก เหงื่อไหลไคลย้อย วันละน้อยชั่วโมงพัก นับว่าเป็นงานหนัก ตามศักดิ์ลูกจ้างเอย”

          อิสรภาพของแรงงานจึงผูกมัดอยู่กับนายจ้างอย่างสมบูรณ์ แม้แต่ “เวลา” ชนชั้นแรงงานก็มิอาจจะเป็นเจ้าของมันได้ เพราะหากไม่ทำงานตามเวลาจ้าง ก็จะไม่ได้เงินซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีพ ดังวรรคที่ว่า

                    “เจ้ากรรมกรเอย อยู่ในนคร หรือป่าดอนชนบท เวลาเป็น ของเขา ไม่ใช่ของเจ้าทั้งหมด ขาดเงินทองก็ต้องอด ทุกสิ่งกำหนดค่าเอย”

          ในบทกวีเรื่องนี้เจ้าพระยาธรรมศักดิ์ ได้ขมวดให้เห็นถึงปัญหาของโลกทุนนิยม ที่เข้ามามีผลกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ และส่งผลกระทบถึงอัตราความสุขของผู้คนในส่วนเชิงอรรถ ไว้ว่า “อารยธรรมใหม่ทุกอย่างต้องสำเร็จด้วยเงิน ไม่มีเงินซื้อก็อด เงินจึงมีอำนาจมากมาย จนคนต้องบูชาเป็นพระเจ้าผู้ให้สุขทุกข์ได้แท้จริง” กวีนิพนธ์เรื่องประชาสามัญของเรา จึงชี้ชวนกลับไปมองคุณค่าของการเป็นสังคมเกษตรกรรม ที่เอื้อให้คนมีอิสรภาพในการทำกินมากกว่าการขายแรงงานเพื่อแลกเงิน เพราะมุ่งบูชาเงินเป็นดังพระเจ้า

บ้านเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี

          จากการอ่านบทกวีของ “ครูเทพ” ในเบื้องต้นทำให้เราได้เห็นว่า ขุนนางชั้นสูงผู้นี้ แม้จะสืบเชื้อสายมาจาก “ณ อยุธยา” มีตำแหน่งสูงลิ่วถึงชั้นเสนาบดี รับใช้ใกล้ชิดเจ้าใหญ่นายโตมาก็ไม่น้อย แต่เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี กลับมีความเข้าใจในระบอบการปกครองอย่างลึกล้ำ มีความคิดที่ส่งเสริมไปกับระบอบประชาธิปไตย และยังเข้าใจปัญหาของชาวบ้านตัวเล็ก ๆ ได้อย่างน่าชื่นชม ด้วยเหตุนี้เองท่านจึงเป็นขุนนางที่ก้าวข้ามยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มามีบทบาทที่สำคัญในสังคมประชาธิปไตยได้โดยปราศจากเสียงทัดทาน

          โคลงกลอนของครูเทพ จึงทำให้เราได้เข้าไปสัมผัสมิติทางความคิดของประธานสภาผู้แทนราษฎรคนแรก และยังทำให้เราได้เห็นบทบาทของกวีนิพนธ์ต่อบริบททางประวัติศาสตร์อีกด้วย เพราะกวีนิพนธ์ชุดนี้มีเนื้อหาหลายส่วนที่ทำให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจในระบอบการปกครอง โดยเฉพาะการชี้ให้เห็นถึงข้อดีของสังคมประชาธิปไตย ดังนั้น โคลงกลอนของครูเทพ จึงเปรียบเสมือนฟันเฟืองเล็ก ๆ ที่คอยขับเคลื่อนแนวคิดแบบประชาธิปไตยในยุคเริ่มต้น ให้ดำเนินต่อไปได้เรื่อยมาจนถึงสมัยปัจจุบัน

          สายธารแห่งประชาธิปไตยทุกวันนี้ ไหลทอดยาวมาแล้วเกินกว่า 90 ปี แม้มิใช่สายธารที่ใสสะอาดที่สุด และบางเวลาระดับน้ำก็อาจแห้งขอดลงไปบ้าง แต่ก็เชื่อว่าการตระหนักถึงสิทธิ หน้าที่ เสรีภาพ ร่วมกับความเคารพซึ่งกันและกันในฐานะเพื่อนมนุษย์ของทุกคน จะช่วยเติมสายธารแห่งนี้จนล้นปริ่มและบริสุทธิ์ เพื่อให้สายธารแห่งประชาธิปไตยยังคงหยาดชื่นต่อไปได้อย่างไม่มีวันหมดสิ้น

เอกสารอ้างอิง

  • “ประกาศตั้งเจ้าพระยา.” ราชกิจจานุเบกษา. (2460). 34 (511 – 517).
  • คลังพิพิธภัณฑ์รัฐสภา. เข้าถึงได้จาก https://parliamentmuseum.go.th/object.html.
  • ธรรมศักดิ์มนตรี, เจ้าพระยา. (2556).โคลงกลอนของครูเทพ รวมเล่ม 1 – 3. กรุงเทพฯ: ผีเสื้อ.
  • รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 1 สมัยสามัญ. (2475). ม.ป.ท.: กองการพิมพ์ สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร.

Writer & Photographer