อย่างที่เราท่องกันมาตั้งแต่สมัยยังเป็นนักเรียนประถม วันวิสาขบูชาเป็นวันที่พระพุทธเจ้า ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ดังนั้นพุทธศาสนานิกชนจึงให้ความสำคัญกับวันนี้มากกว่าวันพระปกติ ธรรมเนียมในวันวิสาขบูชาที่เราคุ้นชินกันในปัจจุบัน ก็คงไม่พ้นการเข้าวัด ฟังธรรม และเวียนเทียนในช่วงหัวค่ำก่อนกลับบ้าน อย่างไรก็ตาม หากย้อนไปมองอดีตเราจะพบว่า ธรรมเนียมวันวิสาขบูชาของคนสมัยก่อนมิได้เป็นสิ่งที่ตายตัว แต่การพิธีต่าง ๆ นั้นล้วนแปรผันไปตาม “พระราชนิยม” ของพระมหากษัตริย์ ซึ่งสัมพันธ์อยู่กับบริบททางสังคมในแต่ละช่วงเวลาได้อย่างน่าสนใจมากทีเดียว
การพิธีวิสาขบูชา เพิ่งจะเริ่มมีในสมัยรัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ของเรานี่เอง ดังจะเห็นได้จากเนื้อความใน พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 2 ฉบับเจ้าพระยาทิพพกรวงศ์ (ขำ บุนนาค) ซึ่งสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเป็นผู้ชำระ ที่กล่าวว่า
“ในปีฉลูนพศก จุลศักราช ๑๑๗๙ พ.ศ. ๒๓๖๐ นี้ ทรงพระราชดำริห์ด้วยสมเด็จพระสังฆราช (มี) ให้ทำพิธีวิสาขบูชาเมื่อกลางเดือน ๖ เปนครั้งแรกที่ได้ทำในกรุงรัตนโกสินทร”
สืบเนื่องมาจากพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ทรงปรึกษาสมเด็จพระสังฆราชและพระราชาคณะต่าง ๆ ว่า พระองค์ควรจะทำอย่างไรดี เมื่อการบำเพ็ญพระราชกุศลที่ผ่าน ๆ มา แม้จะทรงทำอยู่อย่างสม่ำเสมอ แต่ก็ยังทรงรู้สึกว่ายังไม่ “เต็มพระราชศรัทธา”
สมเด็จพระสังฆราชและพระราชาคณะ จึงกราบบังคมทูลว่า การทำบุญวันวิสาขบูชาซึ่งเป็นวันที่พระพุทธเจ้า ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน เป็นสิ่งที่พระมหากษัตริย์ในยุคโบราณ ทรงนิยมทำเพื่อสืบพระชนมายุ การพิธีดังกล่าวนั้นเสื่อมสูญไปนานแล้วเพราะไม่มีพระมหากษัตริย์พระองค์ไหนทรงกระทำ หากรัชกาลที่ 2 จะทรงรื้อฟื้นการพิธีนี้ขึ้นมา ก็จะได้รับอานิสงส์มากจนประมาณมิได้
นับแต่นั้นเป็นต้นมาจึงเกิดการทำบุญในวันวิสาขบูชาขึ้นโดยเริ่มต้นมาจากในราชสำนัก รัชกาลที่ 2 จึงทรงริเริ่มจัดแบบแผนกิจกรรมในวันสำคัญดังกล่าว โดยจะทรงรักษาศีล ปรนนิบัติพระสงฆ์ ปล่อยสัตว์ รับสั่งมิให้ผู้ใดฆ่าสัตว์และดื่มสุรา ถวายดอกไม้ไฟ ถวายทาน ฟังธรรม เวียนเทียน และตั้งประทีปโคมแขวน เป็นเวลา 3 วัน ทั้งนี้ทรงขอให้ข้าราชการและราษฎรได้นำไปปฏิบัติตามต่อไปในทุก ๆ ปี เพื่อความเป็นสิริมงคลโดยทั่วกัน ถ้าหากฆราวาสและพระสงฆ์สามเณรรูปใด ประพฤติชั่วร้ายคึกคะนองในช่วงนี้ก็จะทรงให้จับกุมมาลงพระอาญาถึงขั้น “หลาบจำ” เลยทีเดียว
อาจกล่าวได้ว่าในสมัยรัชกาลที่ 1 การก่อตั้งพระนครใหม่ยังไม่เรียบร้อยนัก ยังคงมีศึกสงครามติดพันอยู่บ้าง พระมหากษัตริย์จึงสามารถทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาตามพระราชศรัทธาได้ตามสมควร แต่ในแผ่นดินรัชกาลที่ 2 บ้านเมืองเริ่มเข้าสู่สภาพปกติ พระมหากษัตริย์จึงทรงให้ความสำคัญกับการพระศาสนาได้เต็มที่มากยิ่งขึ้นนั่นเอง
แบบแผนการพิธีวิสาขบูชาเช่นนี้ มีการปฏิบัติสืบต่อมาถึงสมัยรัชกาลที่ 3 แต่เมื่อขึ้นแผ่นดินรัชกาลที่ 4 ก็เริ่มมีการเพิ่มเติมธรรมเนียมบางอย่างขึ้นใหม่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีรับสั่งให้เกณฑ์พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการต่าง ๆ มาช่วยกันตั้ง “เครื่องโต๊ะบูชา” รอบเฉลียงพระอุโบสถ บรรดาชาววังทั้งหลายได้ทราบพระราชกระแสก็รีบเตรียมการตั้งโต๊ะสนองพระบรมราชโองการกันอย่างสนุกสนาน
เครื่องโต๊ะบูชา เป็นธรรมเนียมการตั้งของบูชาด้วยของลายครามที่ได้รับมาจากจีน โดยสามารถจัดได้หลากหลายแบบ แต่ที่สำคัญ ๆ ซึ่งขาดไม่ได้ เครื่องบูชาจะต้องประกอบไปด้วย ขวดปักดอกไม้ 1 คู่ เชิงเทียน 1 คู่ และกระถางเผาเครื่องหอม 1 ใบ รวม 5 ชิ้น เรียกว่า “โหงวส่าย” กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงให้ข้อสันนิษฐานไว้ว่า สาเหตุที่นำเครื่องลายครามมาใช้ตั้งโต๊ะบูชานี้ คงเพราะเป็นการตั้งโต๊ะที่เหมาะสำหรับพิธีพุทธ ซึ่งไม่ควรจะบูชาด้วย “เครื่องเซ่น” (จำพวกหมู เห็ด เป็ด ไก่ สิ่งมีชีวิตต่าง ๆ) เครื่องลายครามนี้ถือเป็นของดีของงาม และมิได้เป็นวัตถุสิ่งของซึ่งมีที่มาจากการเบียดเบียนชีวิตผู้ใด จึงนิยมนำมาใช้ตั้งโต๊ะบูชาแทน
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีกุศโลบายที่จะทำให้กิจกรรมการจัดเครื่องโต๊ะนี้น่าตื่นเต้นมากยิ่งขึ้น เพราะหากเครื่องโต๊ะบูชาของผู้ใดไม่ดี ไม่สวย ไม่ครบ ไม่คุมโทน จะรับสั่งให้ยกเครื่องโต๊ะของผู้นั้นมาโชว์ไว้ข้างหน้าเพื่อให้เจ้าของโต๊ะเกิดความอับอาย บรรดาเจ้านายและข้าราชการจึงวิ่งวุ่นกันหาของอย่างดีมาประดับโต๊ะของตนยิ่งกว่าเก่าเพื่อไม่ให้เป็นที่ขายหน้าในพระราชสำนัก
ธรรมเนียมวันวิสาขาบูชาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2 จนถึงรัชกาลที่ 4 สะท้อนให้เห็นสภาพสังคมที่มีรากเหง้าทางวัฒนธรรมแบบเอเชียดั้งเดิม ไทย ๆ จีน ๆ ผสมผสานกัน ซึ่งจะแตกต่างกับธรรมเนียมวันวิสาขบูชาในช่วงเวลาต่อมา เมื่อเรือรบ เรือปืนของชาติต่าง ๆ ในยุโรปเริ่มเข้ามาทอดดิ่ง ทิ้งสมอที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้สยามต้องเร่งปรับตัวเองให้ทัดเทียมกับเหล่าคนขาวผู้ศิวิไลซ์ในทุกด้าน และการรับวัฒนธรรมแบบชาติตะวันตกมาปรับใช้ ก็เป็นวิธีการที่แสดงออกถึงความมีอารยะของชาติสยามได้ในทางหนึ่ง
การวิสาขบูชาในสมัยรัชกาลที่ 5 ยังคงแนวปฏิบัติในด้านศาสนพิธีเอาไว้อย่างเก่า แต่การเปิดประตูบ้านรับชาวยุโรป ก็ทำให้การตกแต่งสถานที่สำหรับจัดงานวิสาขบูชาในยุคนี้ เริ่มมีกลิ่นอายของวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาเจือปน จนสามารถสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจน
ในพระราชนิพนธ์เรื่องพระราชพิธีสิบสองเดือน ระบุว่า กรมขุนภูวไนยนฤเบนทราธิบาล กรมขุนเจริญผลพูลสวัสดิ และพระองค์เจ้าประดิษฐวรการ เจ้านายทั้ง 3 พระองค์นี้ ร่วมกันทำต้นไม้ตกแต่งหน้าพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม 3 ต้น “เลียนอย่างต้นไม้คริสต์มาสของฝรั่ง” แล้วทำรูปภาพเล่าเรื่องต่าง ๆ (สันนิษฐานว่าแต่ละกระถางคงมีภาพเล่าถึงการประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน) ประดับไว้ที่กระถาง ทำให้ผู้คนเกิดความสนใจและเข้ามาดูมาชมกันอย่างคึกคัก
การไหลบ่าเข้ามาของวัฒนธรรมตะวันตก ทวีความเข้มข้นขึ้นเป็นอย่างมากในพระราชสำนักของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เนื่องจากองค์พระมหากษัตริย์เองก็ทรงเป็นนักเรียนเก่าอังกฤษ และบรรดาพระบรมวงศ์ รวมทั้งข้าราชบริพารต่าง ๆ ก็ล้วนได้รับการศึกษาตามแบบตะวันตกกันอย่างถ้วนหน้า วันวิสาขบูชาในรัชสมัยของพระมหาธีรราชเจ้า จึงมีธรรมเนียมที่เพิ่มเติมขึ้นมาใหม่ คือ “การส่งบัตรอวยพร”
บัตรอวยพรที่รัชกาลที่ 6 พระราชวงศ์ ข้าราชบริพาร ส่งถึงกันในวันวิสาขบูชาจริง ๆ แล้วยังมีอีกมาก และมีทั้งคำอวยพรที่เป็นภาษาไทย คาถาบาลี รวมทั้งภาษาอังกฤษ เก็บรักษาไว้อยู่ที่หอวชิราวุธานุสรณ์
การส่งบัตรอวยพรให้กันในวันประสูติของพระศาสดา สันนิษฐานว่าได้รับอิทธิพลมาจากการส่งบัตรอวยพรในวันคริสต์มาสของฝรั่ง หรือที่เรียกกันว่า “Christmas card” นั่นเอง การส่งบัตรอวยพรในวันประสูติของพระเยซู เป็นธรรมเนียมฝรั่งที่มีมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าเจมส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ (James I of England) ชนชั้นนำสยามที่มีโอกาสรับวัฒนธรรมตะวันตกก่อนเพื่อน คงจะสังเกตเห็นธรรมเนียมของฝรั่ง ที่สามารถนำมาสร้างสีสันในวันประสูติของพระศาสดาของตนได้โดยไม่ขัดกับหลักธรรมคำสอน จึงได้ถือโอกาสหยิบยืมกิจกรรมการส่งบัตรอวยพรนี้มาเล่นกันบ้าง จนเป็นที่แพร่หลายในราชสำนักของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
แม้ว่าชาวสยามกับชาวตะวันตกจะมีวัฒนธรรมและพื้นฐานของความเชื่อทางด้านศาสนาที่แตกต่างกัน แต่พระราชนิยมของพระมหากษัตริย์ ที่ทรงเปิดกว้างกับการรับอิทธิพลตะวันตก ก็ทำให้สยามสามารถดัดแปลง เกร็ดวัฒนธรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ ของชาวยุโรป มาประยุกต์ใช้กับคติความเชื่อทางศาสนาของตนได้อย่างน่าสนใจ การพิธีวิสาขบูชาในช่วงล่าอาณานิคม จึงเป็นหนึ่งในองค์ประกอบทางวัฒนธรรมของชาติที่แสดงถึงความมีรากเหง้าดั้งเดิม ร่วมกับการมีธรรมเนียมใหม่ ๆ ซึ่งมุ่งฉายภาพความศิวิไลซ์ของสังคมสยามที่ทัดเทียมกับนานาประเทศในซีกโลกตะวันตก
เมื่อสังคมเปลี่ยน ทรรศนะของผู้นำสังคมเปลี่ยน ขนบธรรมเนียมต่าง ๆ ก็ย่อมเกิดความเปลี่ยนแปลงตามกันไปด้วย หากในอนาคตเกิดเหตุการณ์สำคัญที่สั่นคลอนโลกและโลกทัศน์ของมนุษย์ให้ต่างไปจากเดิม ธรรมเนียมต่าง ๆ ก็คงจะถูกปรับแต่งให้เหมาะสมตามรูปการณ์ด้วยเช่นเดียวกัน