ตลาดเวียดนาม
“ตลาด” แหล่งวัฒนธรรมสำคัญของชนชาติ มารู้จักตลาดของเวียดนามผ่านบทความของเวียดทอล์คกัน
วันที่ 21 กุมภาพันธ์ของทุกปีเป็นวันที่องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) กำหนดให้เป็นวันภาษาแม่สากลหรือวันภาษาแม่นานาชาติ (ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000) ด้วยมีจุดประสงค์ที่จะสนับสนุนการอนุรักษ์และปกป้องภาษาทุกภาษาของคนบนโลก เหตุที่ต้องเป็นวันที่ 21 กุมภาพันธ์ของทุกปีเป็นเพราะในวันนี้เกิดเหตุการณ์เรียกร้องสิทธิและเสรีภาพในการใช้ภาษาบังคลา หรือภาษาเบงกาลีซึ่งเป็นภาษาแม่ของนักศึกษาชาวบังกลาเทศในปากีสถาน เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1952 เหตุการณ์ในครั้งนั้นก่อให้เกิดการบาดเจ็บและสูญเสีย ดังนั้นยูเนสโกจึงกำหนดให้วันนี้ของทุกปีเป็นวันภาษาแม่สากล เพื่อให้มนุษยชาติตระหนักถึงพลังและความสำคัญของภาษาแม่ รวมถึงสิทธิทางภาษาของทุกกลุ่มชาติพันธุ์บนโลก
พอใกล้ถึงวันภาษาแม่สากลแบบนี้ ทำให้ผู้เขียนได้นึกถึงประสบการณ์ช่วงหนึ่งของชีวิตที่ได้มีโอกาสรู้จักและเรียนรู้ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์กูย ที่จังหวัดสุรินทร์ ครั้งนั้นนับเป็นประสบการณ์ที่แปลกใหม่มากสำหรับผู้เขียน เพราะภาษากูยเป็นภาษาพูดแต่ไม่มีตัวอักษรสำหรับบันทึก ความรู้หลาย ๆ อย่างของชาติพันธุ์กูยถูกถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นผ่านการบอกเล่าและการลงมือทำสืบต่อกันมา แต่แน่นอนว่ามีความรู้อีกไม่น้อยที่หล่นหายไปตามกาลเวลาเพราะไม่มีเครื่องมือในการจดบันทึกความรู้เหล่านั้นไว้เป็นมรดกของชาติพันธุ์ ผู้เขียนจึงตระหนักถึงความสำคัญของตัวอักษรเสมอมานับแต่นั้น
มาถึงตรงนี้เห็นจะต้องขอเข้าเรื่องเสียทีหลังจากอารัมภบทอยู่นาน นักอ่านที่กำลังอ่านบทความนี้อยู่ โดยเฉพาะคนที่เคยอ่านงาน(อยาก)เขียนของผู้เขียนมาบ้างคงพอจะทายได้ว่าเรื่องที่ผู้เขียนกำลังจะเขียนต่อไปนี้คือเรื่องเกี่ยวกับอะไร…..ถ้าทายว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวอักษรเวียดนามล่ะก็ คุณทายถูกร้อยเปอร์เซ็น
ภาษาเวียดนามเป็นภาษาแม่ของชาวเวียดนามและเป็นภาษาประจำชาติของประเทศเวียดนามด้วย ตามประวัติศาสตร์แล้วเวียดนามมีตัวอักษรที่ใช้จดบันทึกถึง 3 รูปแบบ ได้แก่ ตัวอักษรหาน (จื๊อ หาน- Chữ Hán) ตัวอักษรโนม (จื๊อ โนม – Chữ Nôm) และตัวอักษรก๊วก หงือ (จื๊อก๊วก หงือ – Chữ Quốc Ngữ)
ก่อนจะพูดถึงตัวอักษรแต่ละประเภท ขอย้อนกลับไปในสมัยประวัติศาสตร์เวียดนามก่อนยุคที่จีนจะเข้ามาในดินแดนเวียดนามสักนิด ในช่วงเวลานั้นเวียดนามมีตัวอักษรเฉพาะของตนเองอยู่แล้วเรียกว่า “ตัวอักษรควา เดิ่ว” (Khoa Đẩu) มีความหมายว่าลูกอ๊อด เพราะตัวอักษรนี้มีรูปร่างเหมือนลูกอ๊อด ตัวอักษรเวียดนามโบราณนี้ถูกสลักไว้บนวัตถุโลหะที่ตกทอดมาสู่ลูกหลานเพื่อใช้บูชาบรรพบุรุษ
ตัวอักษรเวียดนามโบราณหรือควา เดิ่ว แทบไม่ถูกพูดถึงในฐานะตัวอักษรรูปแบบหนึ่งของเวียดนามในปัจจุบัน การหายไปของตัวอักษรเวียดนามโบราณเกิดขึ้นนับแต่จีนเข้ามารุกรานดินแดนเวียดนามและปกครองเวียดนามอยู่เป็นพันปี การเข้ามาของจีนนั้นเข้ามาพร้อมกับนโยบายการกลมกลืนหลายด้านรวมถึงการนำเอาภาษาจีนและตัวอักษรจีน หรือที่เรียกว่า จื๊อ หาน (Chữ Hán) เข้ามาในเวียดนาม โดยนำเอาภาษาและตัวอักษรจีนเข้าสู่ระบบการศึกษาและการสอบราชการ แม้ต่อมาในสมัยราชวงศ์โง (ค.ศ. 938) เวียดนามจะเป็นอิสระจากการปกครองของจีนแล้วแต่ตัวอักษรจีนยังคงถูกใช้อย่างต่อเนื่องในสังคมเวียดนามโดยเฉพาะในกลุ่มปัญญาชนและชนชั้นสูง ทั้งยังมีผลต่อการพัฒนาวัฒนธรรมของเวียดนามอย่างมาก แต่ใช่ว่าภาษาจีนจะไม่มีข้อจำกัด เพราะอย่างไรตัวอักษรจีนก็เป็นตัวอักษรต่างชาติทำให้ตัวอักษรจีนไม่สามารถตอบสนองและแสดงความหมายของภาษาเวียดนามได้ครบถ้วนทั้งหมด อีกข้อหนึ่งคือสำหรับคนที่ต้องการเรียนภาษาจีนให้เก่งจะต้องใช้เวลาเรียนนานกว่า 10 ปีทีเดียว นี่อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ความรู้ตัวอักษรจีนจำกัดอยู่เฉพาะคนบางกลุ่มในเวียดนามสมัยนั้นด้วย
ถึงอย่างนั้นตัวอักษรจีนก็ยังเป็นพื้นฐานสำหรับการพัฒนาตัวอักษรรูปแบบต่อมาของเวียดนามนั่นก็คือ อักษรโนม คำว่า โนม (Nôm) มาจากคำว่า “Nam” มีความหมายว่า “ทางใต้” ดังนั้น อักษรโนมจึงหมายถึงอักษรที่ใช้เพื่อจดบันทึกเสียงพูดของคนทางใต้ นั่นคือชาวเวียดนามนั่นเอง ชาวเวียดนามพัฒนาอักษรนี้มาจากอักษรจีนและปรับให้เป็นการออกเสียงของเวียดนาม ใช้สำหรับเขียนภาษาเวียดนาม แม้จะมีหน้าตาคล้ายกันแต่อักษรโนมหลายตัวที่ไม่มีความหมายในภาษาจีน การพัฒนาตัวอักษรโนมไม่ได้พัฒนาเพียงแค่รูปแบบเท่านั้น แต่ยังเอาคำจีนมาใช้เป็นจำนวนมากทำให้ในภาษาเวียดนามมีการเรียกสิ่ง ๆ หนึ่งด้วยคำ 2 คำ หนึ่งคือคำจีน-เวียดนาม (Từ Hán-Việt) กับคำภาษาเวียดนามแท้ (Từ Thuần Việt) อักษรโนมพัฒนาสูงสุดในคริสต์ศตวรรษที่ 18 ซึ่งหลักฐานแสดงการพัฒนาถึงขีดสุดของอักษรโนมก็คือการใช้ตัวอักษรโนมเขียนวรรณกรรมเรื่องดังของของเวียดนามชื่อเรื่องว่า “นางเกี่ยว” (Truyện Kiều) ของเหงวียน ซู (Nguyễn Du) ในสมัยราชวงศ์เหงวียนของเวียดนาม
ตัวอักษรรูปแบบสุดท้ายซึ่งเป็นตัวอักษรที่เวียดนามใช้อยู่ในปัจจุบัน คือ ตัวอักษรก๊วก หงือ (Quốc Ngữ) หรือตัวอักษรของชาติ ตัวอักษรนี้เป็นตัวอักษรละตินหรือพูดให้เข้าใจง่าย ๆ หน่อยก็คือ ตัวอักษรอย่างภาษาอังกฤษแต่เพิ่มเครื่องหมายกำกับระดับเสียงหรือวรรณยุกต์เข้าไป ตัวอักษรก๊วก หงือ เป็นตัวอักษรที่มิชชันนารีตะวันตกพัฒนาขึ้นเพื่อใช้ในการจดบันทึกภาษาเวียดนามสำหรับใช้ในการเผยแผ่ศาสนาคริสต์ หากพูดถึงตัวอักษรนี้เชื่อว่าหลายคนที่พอรู้ที่มาของภาษาเวียดนามอยู่บ้างคงนึกถึงมิชชันนารีชาวฝรั่งเศส Alexandre De Rhodes ผู้ที่มีส่วนอย่างมากในการทำให้ตัวอักษรก๊วก หงือ เป็นที่รู้จักในหมู่ผู้นับถือศาสนาคริสต์ แต่จะขอเพิ่มเติมสักหน่อยว่าสำหรับในหมู่ประชาชนชาวเวียดนามแล้ว ผู้ที่มีบทบาทในการทำให้ตัวอักษรของชาติเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายคือ เจือง วินห์ กี๊ (Trương Vĩnh Ký) เขาเป็นคนแรกที่เขียนและแปลหนังสือจากตัวอักษรจีนเป็นตัวอักษรของชาติ
อักษรก๊วก หงือ เริ่มใช้ในโคชินไชน่า ก่อนถูกใช้ในตังเกี๋ยและอันนัมต่อมา (ช่วงที่ฝรั่งเศสเข้ามายึดครองเวียดนามในฐานะอินโดจีนฝรั่งเศส ฝรั่งเศสได้แบ่งเวียดนามเป็น 3 เขต ได้แก่ ตังเกี๋ยทางตอนเหนือ อันนัมทางตอนกลาง และโคชินไชน่าทางตอนใต้)
มีคำพูดที่มีชื่อเสียงของ ฝ่าม กวิ่ง (Phạm Quỳnh) ที่ผู้เขียนแปลจากภาษาเวียดนามได้ความว่า “ภาษาเรายัง ชาติเราอยู่” หมายความว่า ตราบใดที่ยังมีภาษา นั่นหมายความว่าเรายังมีชาติ คำว่า “เรา” ในนัยยะว่า “ของเรา” ทำให้ผู้เขียนสงสัยขึ้นมาว่า เพราะเหตุใดเวียดนามจึงไม่เลือกใช้ตัวอักษรโนม ซึ่งเป็นตัวอักษร “ของเรา” ตามทัศนะของผู้เขียน เพราะเป็นอักษรที่เวียดนามพัฒนาขึ้นมาด้วยตัวเองสำหรับบันทึกคำในภาษาเวียดนามโดยเฉพาะ จึงลองค้นคว้าและพิจารณารูปแบบของตัวอักษรแต่ละแบบอีกครั้งหนึ่งก็พบว่า “ความง่าย” อาจเป็นคำตอบ
ข้อได้เปรียบอย่างหนึ่งของตัวอักษรก๊วก หงือ คืออ่านง่ายและเขียนง่าย ทำให้ตัวอักษรนี้ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางแซงหน้าตัวอักษรจีนและตัวอักษรโนมที่มีความซับซ้อนกว่า แม้อักษรโนมจะเป็นตัวอักษรที่เวียดนามพัฒนาขึ้นเองแต่ก็มีเค้ามาจากอักษรจีนอยู่ดี ทำให้ผู้ที่จะใช้อักษรโนมได้ต้องมีความรู้อักษรจีนมาก่อนส่วนหนึ่ง ส่วนตัวอักษรจีนนี่ไม่ต้องพูดถึงเพราะความซับซ้อนในการเขียนตัวอักษรนั้นทำให้ผู้เรียนต้องใช้เวลานาน ซึ่งบางทีอาจนานกว่าสิบปีจึงจะเชี่ยวชาญตัวอักษรจีนจริง ๆ
การเขียนก็ง่าย การอ่านก็ง่ายของตัวอักษรก๊วก หงือ นี่เองทำให้ตัวอักษรก๊วก หงือ ทำหน้าที่ขจัดความไม่รู้หนังสือของผู้คนในสังคมเวียดนามได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าตัวอักษรจีนหรือแม้แต่ตัวอักษรโนมที่มีข้อจำกัดมากกว่า ตัวอักษรของชาติมีส่วนทำให้ความรู้กระจายสู่ประชาชนชาวเวียดนามอย่างกว้างขวางมากขึ้น อันเป็นผลดีต่อการพัฒนาคนและพัฒนาประเทศของเวียดนาม
เวลาต่อมาตัวอักษรก๊วก หงือ ถูกนำเข้าสู่ระบบการศึกษาตลอดจนใช้ในการบันทึกวรรณกรรมเวียดนามทั้งวรรณกรรมที่เคยบันทึกด้วยอักษรโนม เช่น วรรณกรรมเรื่อง “นางเกี่ยว” ของเหงวียน ซู และวรรณกรรมยุคใหม่ ๆ พร้อมกับการกำเนิดโรงพิมพ์และหนังสือพิมพ์ในราวศตวรรษที่ 20 ยิ่งทำให้ตัวอักษรนี้ได้รับความนิยมมากขึ้นไปอีก ท้ายที่สุดเวียดนามก็เลือกตัวอักษรก๊วก หงือ เป็นอักษรของชาติเพื่อจดบันทึกเรื่องราวของชาติต่อไป ส่วนตัวอักษรโนมนั้น แม้จะไม่ได้ใช้ในปัจจุบันแต่ยังคงได้รับการรักษาให้คงอยู่ผ่านการศึกษาและวิจัยของกลุ่มนักวิชาการผู้สนใจอย่างต่อเนื่อง
ตัวอักษรไม่ใช่เพียงแค่เครื่องบันทึกเสียง คำ หรือประโยคของกลุ่มคนเท่านั้น แต่ตัวอักษรยังทำหน้าที่ในการรักษาและสืบสานภูมิปัญญาและวัฒนธรรมอันมีค่าของชาติพันธุ์ให้คงอยู่ด้วย
References
คนอยากจะเขียน นักอ่านและนักเรียน(รู้) ตลอดชีวิต ผู้หลงใหลอะไรเวียด ๆ (เวียดนาม)