ชนชั้นนำสยามในช่วงรัชกาลที่ 5 รัชกาลที่ 6 เริ่มเข้าใจว่าการเดินทางไปในที่ต่าง ๆ ทำให้ตนเองรู้จักผู้คนมากขึ้น ตามทันความเปลี่ยนแปลงของโลก ทั้งยังทำให้โลกทัศน์กว้างขวางมากขึ้นเสมอกับคนผิวขาวผู้ศิวิไลซ์ในอีกซีกโลกหนึ่ง ช่วงเวลาดังกล่าวจึงเริ่มมีหนังสือนำเที่ยวหรือหนังสือที่บอกเล่าเรื่องราวของการเดินทางเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก เช่น ไกลบ้าน ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เที่ยวเมืองพระร่วง ของพระบาทสมเด็จมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และหนังสือนำทางทั่วพระราชอาณาจักรสยาม ของหลวงนฤราชภักดี นับแต่นั้นมาหนังสือนำเที่ยวจึงเป็นเสมือนยาสามัญประจำบ้านของบรรดานักท่องเที่ยว ที่ต้องหยิบขึ้นมาเปิดดูก่อนทุกครั้งก่อนจะเริ่มเก็บกระเป๋าออกเดินทาง

ที่มาของภาพ หอสมุดวังท่าพระ มหาวิทยาลัยศิลปากร

          “นำเที่ยวกรุงเทพฯ ทางโบราณคดี” เป็นหนังสือที่หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล ทรงพระนิพนธ์และแปลเป็นภาษาอังกฤษตามคำขอร้องของพระสหายชาวต่างชาติ ในช่วงปี พ.ศ. 2491 เนื่องจากท่านหญิง ทรงเน้นว่าเป็นการนำเที่ยวทางโบราณคดี สถานที่ต่าง ๆ ที่กล่าวถึงภายในเล่มจึงเน้นไปที่วัด วัง และพิพิธภัณฑ์เป็นหลัก

หนังสือเล่มนี้น่าสนใจอย่างไร ???

หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล นั่งด้านขวาสุด
ที่มา: หอจดหมายเหตุแห่งชาติ รหัสเอกสาร 12M/39

          ท่านหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล เป็นพระธิดาของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ของไทย เนื่องจากหม่อมมารดาของท่านหญิงเสียชีวิตไปตั้งแต่ท่านหญิงยังทรงพระเยาว์ ท่านหญิงพูนฯ จึงทรงใกล้ชิดกับพระบิดาและได้ตามเสด็จไปราชการในที่ต่าง ๆ อยู่บ่อยครั้ง ท่านหญิงพูนฯ จึงได้รับการถ่ายทอดวิชาการความรู้ทางด้านประวัติศาสตร์ สังคม และศิลปะ มาจากพระบิดาทั้งทางตรงและทางอ้อม ดังที่ท่านหญิงทรงเล่าถึงความรู้ที่เกิดจากการติดตามใกล้ชิดเสด็จพ่อ ความว่า “ข้าพเจ้าผู้อยู่ด้วยจึงจำต้องได้รับรู้ ได้เห็น ได้ฟังตามไปด้วย จนรู้สึกตัวว่าได้รู้เกินฐานะที่เป็นเพียงผู้หญิงคนหนึ่งในประเทศตะวันออก”

          เมื่อความรู้ควบแน่นจนได้ที่ ท่านหญิงจึงทรงพระนิพนธ์หนังสือที่ให้ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ สังคม และศิลปะออกมาเป็นจำนวนมาก และหนังสือ “นำเที่ยวกรุงเทพฯ ทางโบราณคดี” ก็เป็นหนึ่งในนั้น ที่แม้จะไม่ได้มุ่งเจาะเนื้อหาทางโบราณคดีอย่างหนักหน่วงเหมือนกับพระนิพนธ์ของพระบิดา แต่หนังสือเล่มนี้ก็สามารถชี้ให้เห็นจุดที่น่าสนใจซึ่งแฝงไปด้วยเกร็ดประวัติศาสตร์เล็ก ๆ น้อย ๆ ตามสถานที่ต่าง ๆ ไว้ได้ดีมากทีเดียว

ทำไมต้องเป็นวัดอรุณฯ ???

วัดอรุณราชวราราม ด้านขวาคือซุ้มทางเข้าพระอุโบสถที่มี “ยักษ์วัดแจ้ง”
ที่มา: หอจดหมายเหตุแห่งชาติ รหัสเอกสาร ภ 002 หวญ 42/21

          ในหนังสือนำเที่ยวของท่านหญิง ได้กล่าวถึงวัดในกรุงเทพฯ ไว้หลายแห่ง เช่น วัดพระแก้ว วัดบวรฯ วัดโพธิ์ วัดราชบพิตรฯ และวัดยานนาวา ฯลฯ แต่เหตุที่เลือกจะไปตามรอยท่านหญิงที่วัดอรุณฯ ก็เพราะว่า วัดอรุณฯ เป็นสถานที่ที่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาตินิยมมาเช็คอินกันจนเบียดเสียด คนไทยจึงไม่ค่อยนึกอยากจะไปกัน อีกทั้งเมื่อนึกถึงวัดอรุณ ก็ไม่ได้เห็นภาพอะไรไปมากกว่ายักษ์วัดแจ้ง และพระปรางค์บนเหรียญสิบบาท ดังนั้นการอ่านหนังสือนำเที่ยววัดอรุณของท่านหญิง จึงน่าจะทำให้เราเห็นพิกัดของสิ่งที่ควรไปชมเมื่อไปถึงวัดอรุณฯ ซึ่งบางจุดอาจจะมีเรื่องเล่าซึ่งมิได้เป็นที่รู้จักแพร่หลายกันในกลุ่มคนยุคปัจจุบัน

          ท่านหญิงพูนฯ ทรงอธิบายรายละเอียดของวัดอรุณไว้เล็กน้อยว่า “เดิมเป็นวัดเก่าชื่อวัดแจ้ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชชกาลที่ 2 ทรงกะจะสร้างแผนผังให้เป็นที่เชิดชูแก่พระนคร แต่การสร้างยังมิทันแล้วสำเร็จก็เสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชชกาลที่ 3 ทรงสร้างต่อจนสำเร็จ” ทั้งนี้ก็ทรงแนะนำ “สิ่งที่น่าดูในวัด” ไว้ดังนี้

“พระปรางค์”

          พระปรางค์วัดอรุณ เริ่มสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 2 แต่มาสร้างเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 3 ตามพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ 3 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) กล่าวไว้ว่า พระปรางค์องค์นี้มีมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา และเดิมสูงเพียง 8 วา แต่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 ทรงบูรณะก่อพระปรางค์ขึ้นใหม่หุ้มของเดิมจนมีความสูงถึง 35 วา (หากวัดกันจริง ๆ ในปัจจุบันน่าจะสูงกว่าที่บันทึกไว้ในพงศาวดาร) ความงามของพระปรางค์องค์นี้เป็นที่ยอมรับกันในหมู่ช่างไทย สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ถึงกับกล่าวไว้ว่า

                    “พระปรางค์องค์ที่วัดอรุณนี้ ควรนับว่าเปนหลักของพระธาตุเจดีย์ซึ่งสร้างในสมัยรัตนโกสินทรมาจนตราบเท่าทุกวันนี้ สู้สมัยอื่นได้ทั้งรูปทรงแลฝีมือที่สร้าง”

          พระปรางค์วัดอรุณไม่ได้เป็นปูชนียสถานสำหรับแสดงพระราชศรัทธาขององค์พระมหากษัตริย์ต่อพระศาสนาแต่เพียงเท่านั้น ในสมัยก่อนสถานที่แห่งนี้ยังเป็นจุดชมวิวที่สำคัญของกรุงเทพฯ แห่งหนึ่งอีกด้วย ตามที่ท่านหญิงพูนฯ ได้ทรงระบุไว้ในหนังสือว่า “พระปรางค์เป็นที่ขึ้นไปดูวิวบางกอกได้” แต่ในปัจจุบันชั้นบนสุดของพระปรางค์มิได้เปิดให้นักท่องเที่ยวขึ้นไปชมวิวอีกต่อไปแล้ว เพราะความสูงชันของพระปรางค์อาจทำให้นักท่องเที่ยวเกิดอุบัติเหตุได้โดยง่าย

“พระประธานในพระอุโบสถ”

          พระประธานในพระอุโบสถวัดอรุณฯ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย มีพระนามว่า “พระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลก” ท่านหญิงพูนพิศมัย ทรงระบุไว้ในหนังสือว่า พระพุทธรูปองค์นี้ พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 2 ทรงปั้นพระพักตร์ด้วยพระองค์เอง และภายใต้ฐานของพระพุทธรูปก็เป็นส่วนที่บรรจุพระบรมอัฐิของรัชกาลที่ 2 ไว้ด้วยเช่นเดียวกัน

“โบสถ์คู่หน้าพระปรางค์”

          หากเดินทางมาที่วัดอรุณด้วยเรือโดยสาร เดินเข้าประตูมาเรื่อย ๆ ก่อนถึงพระปรางค์ ก็จะพบกับโบสถ์หลังน้อย ๆ คู่กันอยู่ 2 หลัง ท่านหญิงพูนพิศมัย ทรงระบุไว้ว่าโบสถ์น้อยทางด้านซ้ายเคยเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต เมื่อแรกอัญเชิญมาจากเมืองเวียงจันทน์โดยสมเด็จพระเจ้าตากสิน ส่วนโบสถ์น้อยด้านขวา เป็นที่เก็บพระแท่นของพระเจ้าตากสิน

          ที่พระแท่นของสมเด็จพระเจ้าตากสิน มีป้ายติดว่า สามารถคลานลอดพระแท่นเพื่อเสริมดวงชะตา เสริมบารมี และล้างอาถรรพ์ได้ ไม่ทราบเหมือนกันว่าคติการลอดพระแท่นของพระเจ้าตากสินที่วัดอรุณ เพื่อเสริมดวงนี้มีมาตั้งแต่เมื่อใด เพราะในหนังสือของท่านหญิงพูนพิศมัย ไม่ได้กล่าวถึงคุณวิเศษของพระแท่นองค์นี้ แต่อย่างใด ท่านหญิงทรงระบุไว้แต่เพียงว่า พระแท่นองค์นี้สมเด็จพระเจ้าตากสิน “เสด็จเข้าไปนั่งกรรมฐานในเวลาที่เริ่มประชวรเสียพระสติ”

          เรื่องการประชวรเสียพระสติของสมเด็จพระเจ้าตากสิน ถ้าจะถกกันว่าจริงเท็จอย่างไรคงเป็นเรื่องใหญ่ ต้องอาศัยเอกสารหลักฐานทางประวัติศาสตร์ทั้งของไทยและของต่างประเทศมาประกอบกันหลายชิ้น อย่างไรก็ดีเรื่องพระเจ้าตากสินทรงเสียพระสตินี้ มีปรากฏในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาหลายฉบับ เช่น พระราชพงศาวดารฉบับพิมพ์ 2 เล่ม ที่ระบุว่า ในช่วง พ.ศ. 2313

                    “๏ ฝ่ายราชการแผ่นดินกรุงธนบุรีนั้นผันแปรต่างๆ, เหตุพระเจ้าแผ่นดินทรงนั่งพระกรรมฐานเสียพระสติ, พระจริตนั้นก็ฟั่นเฟือนไป. ฝ่ายพระพุทธจักร,แลอาณาจักรทั้งปวงเล่า, ก็แปรปรวนวิปริต,มิได้ปรกติเหมือนแต่ก่อน. ๚ะ”

          พงศาวดารได้กล่าวต่อไปอีกว่า เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินประชวรเสียพระสติ ก็ได้ทรงกระทำการต่าง ๆ เช่น

                    “โบยตีพระภิกขุสงฆ์, แลลงโทษแก่ข้าราชการ, แลอาณาประชาราษฎร, เร่งรัดเอาทรัพย์สินโดยพลการ, ด้วยหาความผิดมิได้ กระทำให้แผ่นดินเดือดร้อนทุกเส้นหญ้า, ทั้งพระพุทธศาสนาก็เสื่อมทรุดเศร้าหมอง”

          ขุนนางทั้งปวงจึงตั้งกระทู้ทูลถามพระเจ้าตากสิน ว่าที่ทรงประพฤติเช่นนี้ ควรจะได้รับโทษเช่นใด เมื่อได้รับกระทู้จากบรรดาขุนนางแล้ว “เจ้าตากสินก็รับผิดทั้งสิ้นทุกประการ” พระองค์จึงถูกสำเร็จโทษ จนเสด็จสวรรคต จึงเป็นอันจบยุคสมัยของพระเจ้ากรุงธนบุรี

          เมื่อพระราชบัลลังก์ว่างลง ข้าราชการทั้งหลายก็ทูลเชิญเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกขึ้นเป็น รัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อรัชกาลที่ 1 ทรงรับราชสมบัติแล้ว ก็เสด็จพระราชดำเนินมานมัสการพระแก้วมรกตที่โบสถ์น้อยด้านซ้ายของวัดอรุณฯ และทรงตั้งพลับพลาประทับแรมอยู่หน้าโบสถ์น้อยหลังนี้ เรื่องโบสถ์น้อยทั้ง 2 หลัง และพระแท่นของพระเจ้าตากสินในวัดอรุณฯ จึงเกี่ยวพันอย่างยิ่งกับประวัติศาสตร์ในช่วงปลายกรุงธนบุรีมาถึงช่วงเริ่มต้นของกรุงรัตนโกสินทร์

“รูปปั้นนายนกนายเรือง”

          ซุ้มที่ตั้งของรูปปั้นนายนกกับนายเรือง เป็นจุดที่ไม่มีนักท่องเที่ยวเดินไปดูเลยแม้แต่คนเดียว แล้วนายนกกับนายเรืองนี่เป็นใคร ? ท่านหญิงพูนพิศมัย ระบุไว้ในหนังสือสั้น ๆ ว่า “นายนก, นายเรือง ผู้เผาตนเองถวายแก่พระศาสนาในรัชชกาลที่ 1 และที่ 2”

รูปปั้นนายนก ด้านซ้ายซุ้มทางเข้าพระอุโบสถ

          พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ 2 ฉบับชำระของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ กล่าวถึงการเผาตัวเองของนายนก ในปี พ.ศ. 2360 ไว้ว่า “นายนกเผาตัวตายที่วัดอรุณ เปนการเอาชีวิตรบูชาพระรัตนไตรย…” อย่างไรก็ตาม ในพงศาวดารก็ได้ระบุว่า การเอาชีวิตแลกกับมรรคผลในทางศาสนา “เปนเรื่องห้ามในพระวินัย”

          จากจารึกที่ใต้แทนของรูปปั้นนายนก ได้ระบุว่า นายนกได้ลาญาติมิตรมาปฏิบัติธรรมที่วัดอรุณฯ หวังจะบรรลุถึงพระนิพพาน แต่ปฏิบัติธรรมไปได้เดือนเศษนายนกก็ตัดสินใจนั่งสมาธิและเผาตนเองจนเสียชีวิตอยู่ที่ต้นมหาโพธิ์ภายในวัด ผู้คนที่ได้เห็นก็เกิดศรัทธาพากันมาบังสุกุลนายนกเป็นจำนวนมาก

          ก่อนจะเกิดกรณีนายนกเผาตนเองในสมัยรัชกาลที่ 2 ก็เคยเกิดเรื่องเช่นนี้ขึ้นที่วัดอรุณมาก่อนในสมัยรัชกาลที่ 1 คือ กรณีนายเรือง

รูปปั้นนายเรือง ด้านขวาซุ้มทางเข้าพระอุโบสถ

          จากจารึกใต้รูปปั้นนายเรือง ได้ระบุว่า นายเรือง กับสหาย 2 คน คือขุนศรีกัณฐัศว์กรมม้า และนายทองรัก ล้วนเป็นผู้ศรัทธาในพระศาสนา ทั้ง 3 จึงพากันนำดอกบัวไปเสี่ยงทายที่วัดครุฑ ว่าหากผู้ใดจะสำเร็จในพระโพธิญาณก็ขอให้ดอกบัวของผู้นั้นบานออก วันรุ่งขึ้นก็พบว่ามีเพียงดอกบัวของนายเรืองเท่านั้นที่บาน ตั้งแต่นั้นมานายเรืองจึงไปอาศัยอยู่ที่วัดอรุณฯ ถือศีล ฟังธรรม ทั้งยังเอาสำลีชุบน้ำมันพันแขนและจุดไฟทุก ๆ วัน เพื่อเป็นแสงประทีปบูชาพระศาสนา

          จนมาถึงวันหนึ่งหลังฟังเทศน์จบ นายเรืองก็ตัดสินใจเผาตนเอง ขณะไฟลุกท่วมนายเรืองก็ร้องว่าสำเร็จปรารถนาแล้ว บรรดาผู้คนที่ยืนดูอยู่ประมาณ 500 ถึง 600 คน บางคนเกิดศรัทธาก็ร้องสาธุตาม บ้างก็โยนผ้า ถอดหมวกของตนเข้าไปในกองไฟเพื่อแสดงความเคารพ

          เรื่องมหัศจรรย์ยังไม่จบเท่านั้น เมื่อต่อมาชาวบ้านที่มีศรัทธาก็พาร่างของนายเรืองไปสวดพระอภิธรรม และฌาปนกิจที่ทุ่งนาวัดหงษ์ ขณะกำลังเผาศพ ปลาในท้องนา 11 ถึง 12 ตัว ก็โดดเข้ามาในกองไฟด้วย เมื่อไฟดับลงก็พบว่าอัฐิของนายเรืองกลายเป็นสีเขียว ขาว ขาบ เหลือง ชาวบ้านเห็นเป็นเรื่องแปลกจึงชวนกันเก็บอัฐินายเรืองมาไว้ที่วัดอรุณฯ ในที่สุด

          การไปถึงมรรคผลในหลักพุทธศาสนา ตามโอวาทของพระพุทธเจ้านั้นมีหลายวิธี แต่การทรมานและ สละชีวิตตนเองนั้น คงไม่ใช่แนวทางที่พุทธศาสนิกชนจะพึงปฏิบัติตาม เพราะการกระทำเช่นนี้ไปขัดกับ หลักพระวินัย

          การสำเร็จมรรคผลนิพพาน อาจไม่ใช่แนวทางที่ฆราวาสอย่างเราจะไปถึงได้โดยง่าย ดังนั้นการนำคำสอนในพระศาสนาที่สามารถกระตุกจิตกระชากใจของเราไม่ให้มัวเมาไปกับความชั่วร้ายต่าง ๆ ได้ จึงน่าจะเป็นวิธีการแสดงถึงความศรัทธาของตัวเราต่อพระศาสนาได้เป็นอย่างดีที่สุด

พระมหาพิชัยมงกุฎ ยอดพระปรางค์วัดอรุณ ถ่ายเมื่อครั้งบูรณะพระปรางค์ในปี พ.ศ. 2510 – 2519
ที่มา: หอจดหมายเหตุแห่งชาติ รหัสเอกสาร ภจ ศธ 0701/31

          นอกเหนือจากวัดอรุณฯ หนังสือนำเที่ยวกรุงเทพฯ ทางโบราณคดี ของท่านหญิงพูนพิศมัย ยังแนะนำสถานที่ที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์รอบ ๆ กรุงเทพฯ ไว้อีกหลายแห่ง หากสนใจจะไปเสาะหาหมุดหมายต่าง ๆ ตามที่พระธิดาของบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย ทรงแนะนำไว้ก็สามารถไปหยิบมาลองอ่านและวางแผนการเดินทางได้ตามสะดวก

          การเดินทางท่องเที่ยวในเชิงโบราณคดี ทำให้เรารู้จักอดีต เมื่อเรารู้จักอดีตดีพอเราก็จะเริ่มเข้าใจปัจจุบัน และต่อจากนั้นก็จะทำให้เราคาดเดาภาพอันเลือนรางของอนาคตได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ทุกครั้งที่เรานำตัวเองออกไปต่างที่ต่างถิ่น จึงทำให้เรารู้จักโลกใบนี้มากยิ่งขึ้นในทุก ๆ ฝีก้าว

เอกสารอ้างอิง

  • ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา. (2459). พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสนิทร์ รัชกาลที่ 2. ม.ป.ท.: โรงพิมพ์ไทย
  • ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา. (2469). ตำนานพุทธเจดีย์สยาม. ม.ป.ท.: โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร.
  • ทิพากรวงศ์, เจ้าพระยา. (2504). พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 เล่ม 2. ม.ป.ท. : องค์การค้าของคุรุสภา.
  • พูนพิศมัย ดิศกุล, หม่อมเจ้า. (2491). นำเที่ยวกรุงเทพฯ ทางโบราณคดี. พระนคร: โรงพิมพ์พระจันทร์.
  • พูนพิศมัย ดิศกุล, หม่อมเจ้า. (2533). สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น. กรุงเทพฯ: วัชรินทร์การพิมพ์.
  • เรื่องพระราชพงษาวดารกรุงเก่า เล่ม 2. (2407). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ป้อมปากคลองบางหลวง หลังวังกรมหลวงวงษาธิราชสนิท.

Writer & Photographer