หากพูดถึง “กลางเมือง” หรือ “ใจกลางเมือง” ของกรุงเทพมหานครในปัจจุบัน ทุกคนคงจะนึกถึงย่านธุรกิจต่าง ๆ ที่มูลค่าของที่ดินนั้นแพงลิบลิ่ว เช่น สามย่าน สาทร สุขุมวิท อโศก หรือสีลม คำว่าใจกลางเมืองของคนในปัจจุบันจึงเป็นภาพของตึกสูงระฟ้า ซึ่งสัมพันธ์อยู่กับมูลค่าทางเศรษฐกิจของทำเลนั้น ๆ ต่างไปจากใจกลางเมืองของคนในอดีต ที่หมายถึงจุดกึ่งกลางของเมืองจริง ๆ และบริเวณกลางเมืองนั้นมักจะเป็นพื้นที่ที่ผูกโยงอยู่กับคติความเชื่อทางศาสนา
เมื่อพระบาทสมเด็จพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นเป็นราชธานีแห่งใหม่เรียบร้อย จึงรับสั่งให้สร้างวัดขึ้นที่จุดกึ่งกลางของเมือง ดังปรากฏในจดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี (เจ้าครอกวัดโพ) ที่ระบุไว้ว่า
“พระโองการรับสั่งให้สร้างวัดขึ้นกลางพระนคร ให้สูงเท่าวัดพนันเชิง ให้พระพิเรนทรเทพขึ้นไปรับพระใหญ่ ณ เมืองโศกโขไทย ชะลอเลื่อนลงมากรุงประทับท่าสมโภช 7 วัน”
วัดดังกล่าวเมื่อแรกสร้างยังไม่มีชื่อ คนธรรมดาทั่วไปก็เรียกกันว่า “วัดพระโต” และเรียกว่า “วัดพระใหญ่” เพราะเป็นวัดที่สร้างเพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปองค์ใหญ่ซึ่งเชิญลงมาจากกรุงสุโขทัย บ้างก็เรียกว่า “วัดเสาชิงช้า” เพราะเป็นวัดที่สร้างขึ้นใกล้กับเสาชิงช้า และเทวสถานของพราหมณ์ ต่อมารัชกาลที่ 1 ก็ได้พระราชทานนามวัดดังกล่าวว่า “วัดมหาสุทธาวาส” รัชกาลที่ 2 ทรงเปลี่ยนเป็น “วัดสุทัศนเทพธาราม” จนถึงสมัยรัชกาลที่ 4 พระมหากษัตริย์ก็ได้ทรงเปลี่ยนชื่อวัดแห่งนี้อีกครั้งเป็น “วัดสุทัศนเทพวราราม”
คำว่า “สุทัศน์” เป็นชื่อเรียกเทพนครของพระอินทร์ ที่ตั้งอยู่บริเวณกระพองกลาง (ปุ่มนูนกลางศีรษะของช้าง) ของช้างเอราวัณ หน้าบันของวิหารวัดสุทัศน์จึงประดับเป็นประติมากรรมรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณนั่นเอง
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชวิจารณ์เรื่องวัดสุทัศน์ฯ ที่ปรากฏในจดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี (เจ้าครอกวัดโพ) ว่า
“วัดสุทัศน์นี้ กำหนดว่าเป็นกึ่งกลางพระนคร จึงตั้งเทวสถานมีเสาชิงช้าลง ณ ที่นั้น ตามประเพณีพระนครโบราณ”
เนื่องจากการสร้างวัดสุทัศนไว้วัดกึ่งกลางพระนครนับเป็น “ประเพณีพระนครโบราณ” จึงทำให้สันนิษฐานได้ว่า การสร้างวัดเพื่อประดิษฐานพระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่รัชกาลที่ 1 ทรงเชิญลงมาจากกรุงสุโขทัย เป็นการหยิบยืมเอาลักษณะการสร้างเมืองแบบกรุงสุโขทัยมาใช้ในการสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ เหตุเพราะในศิลาจารึกสุโขทัย หลักที่ 1 ด้านที่ 2 ได้ระบุว่า
“กลางเมืองสุโขทัยนี้ มีพิหาร มีพระพุทธรูปทอง มีพระอัฏฐารศ มีพระพุทธรูป มีพระพุทธรูปอันใหญ่ มีพระพุทธรูปอันราม มีพิหารอันใหญ่ มีพิหารอันราม”
จากเนื้อความในศิลาจารึกจะเห็นได้ว่า กรุงสุโขทัยมีวิหารขนาดใหญ่ไว้สำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่ตั้งอยู่กลางเมือง การสร้างวัดสุทัศน์เพื่อประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่ขึ้นกลางกรุงเทพนั้น จึงเป็นวิธีการสร้างเมืองที่เลียนแบบกรุงสุโขทัยอย่างเห็นได้ชัด ทั้งนี้พระพุทธรูปที่เชิญมาก็ยังเป็นพระที่เคยตั้งอยู่กลางเมืองสุโขทัยอีกด้วย
พระพุทธรูปที่เชิญลงมาเพื่อประดิษฐานที่วิหารวัดสุทัศน์นี้ มีนามว่า “พระศรีศากยมุนี” เป็นพระองค์สำคัญ เดิมประดิษฐานอยู่ที่วัดมหาธาตุ กลางเมืองสุโขทัย พระองค์นี้ได้เชิญลงแพล่องมาถึงกรุงเทพ นำมาขึ้นที่ท่าจนบริเวณดังกล่าวเรียกกันว่า “ท่าพระ” มาจนถึงปัจจุบัน และเนื่องจากพระพุทธรูปองค์นี้มีขนาดใหญ่กว่าประตูเมือง จึงต้องรื้อกำแพงเมืองลงให้สามารถชักเลื่อนพระพุทธรูปเข้ามาได้ ในครั้งนั้นรัชกาลที่ 1 ได้เสด็จในกระบวนแห่พระด้วยเพื่อเป็นการแสดงพระราชศรัทธา แม้ว่าจะทรงประชวรอยู่ก็ตาม แต่ด้วยความเหน็ดเหนื่อยในที่สุดก็ทรงเซพลาด โชคดีที่เจ้าฟ้าเหม็นทรงรับพระองค์ไว้ได้ทัน
ไม่เพียงแต่พระศรีศากยมุนีเท่านั้นที่ถูกเชิญมาจากกรุงสุโขทัย ยังมีศิลาอีกแผ่นหนึ่งที่ถูกเชิญลงมาด้วยกันซึ่งสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงกล่าวว่า เป็น “ของดีที่ควรดู” ศิลาแผ่นนั้นก็คือ “ศิลาจำหลักภาพพระพุทธองค์ทรงกระทำยมกปาฏิหารย์และโปรดพุทธมารดา” สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงเล่าถวาย ม.ร.ว. สุมนชาติ ว่า ศิลาแผ่นนี้เป็นศิลปะแบบเดียวกับภาพจำหลักที่วัดพระปฐมเจดีย์เดิมคงจะอยู่ที่นั่น และพระร่วงแห่งกรุงสุโขทัยคงจะมาเชิญไปไว้ที่เมืองในยุคของพระองค์ รัชกาลที่ 1 เห็นว่าเป็นศิลปะยุคทวาราวดี เป็นของเก่าแก่จึงเชิญมาไว้ที่กรุงเทพนี้ด้วยกันกับพระศรีศากยมุนี
ของสำคัญอีกอย่างในวัดอีกอย่างหนึ่งซึ่งเป็นที่เล่าลือกันถึงความงดงาม ก็คือ “บานประตูแกะสลัก” บานประตูพระวิหารหลังนี้ รัชกาลที่ 2 ทรงเริ่มสลักด้วยพระองค์เองก่อนจากไม้ทั้งแผ่น เมื่อพอได้แนวทางแล้วจึงทรงให้ช่างแกะสลักต่อไป บานประตูวัดสุทัศน์ เป็นศิลปวัตถุที่บรรดาช่างไทยยกย่องว่างามที่สุด สลักดีจนไม่มีใครเทียบได้ ว่ากันว่า บรรดาช่างที่สลักบานประตูเมื่อทำงานเสร็จแล้ว ไม่ต้องการให้ผู้ใดมาทำงามได้เท่าของตนอีกจึงเอาเครื่องมือโยนทิ้งน้ำทั้งหมด ในรัชกาลหลัง ๆ ต่อมาเมื่อโปรดให้ช่างสลักบานประตูให้เหมือนอย่างวัดสุทัศน์ จึงไม่มีผู้ใดสามารถทำได้อีก
วัดกึ่งกลางพระนครแห่งนี้ เป็นวัดที่มีความสำคัญในกรุงรัตนโกสินทร์เป็นอย่างมาก นอกจากวัดสุทัศน์จะมีความสำคัญในด้านการเป็นขวัญกำลังใจให้กับคนในเมือง เพราะเป็นวัดสำคัญที่ตั้งอยู่ใจกลางพระนคร วัดแห่งนี้ยังมีความสำคัญในแง่การเป็นสถานที่สำหรับประกอบพระราชพิธี และเป็นสถานที่ได้ให้ประโยชน์ในเชิงรูปธรรมแก่ราษฎรทั่วไปอีกด้วย
วัดสุทัศน์นี้มีความสัมพันธ์กับสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยเป็นอย่างมาก ในช่วงเดือนยี่ของไทย เป็นช่วงเวลาของการจัดพระราชพิธีตรียัมพวาย พิธีดังกล่าวเป็นความเชื่อในศาสนาพราหมณ์ซึ่งเชื่อกันว่า พระอิศวรจะเสด็จลงมาเยี่ยมโลกในช่วงนี้ปีละครั้ง ดังนั้นมนุษย์จึงจะต้องจัดการรับรองต่าง ๆ ให้สนุกสนาน ซึ่งการ “โล้ชิงช้า” เป็นหนึ่งในการละเล่นที่พราหมณ์จะใช้เพื่อต้อนรับพระอิศวร รัชกาลที่ 5 ทรงเรียกพิธีนี้ไว้ในพระราชนิพนธ์พระราชพิธีสิบสองเดือนว่า “เล่นเซอคัสโล้ชิงช้า” แม้ว่าวัดสุทัศน์ฯ จะเป็นศาสนสถานของพุทธ แต่ก็เป็นสถานที่ซึ่งมีบทบาทในพระราชพิธีนี้ด้วยเช่นเดียวกัน เนื่องจากวัดแห่งนี้ตั้งอยู่ใกล้เสาชิงช้า ในช่วงตรียัมพวาย บรรดาพระบรมวงศานุวงศ์จึงใช้พลับพลาในวัดสุทัศน์เป็นที่ประทับเพื่อทอดพระเนตรเซอคัสดังกล่าว ดังจะเห็นได้จาก จดหมายเหตุพระราชกิจรายวันในรัชกาลที่ 5 เดือน 2 จ.ศ. 1269 ที่ว่า
“ในเวลาที่นาลิวันโล้ชิงช้านี้ สมเด็จพระบรมราชินีนารถ เสด็จไปประทับทอดพระเนตรอยู่ที่พลับพลาเปลื้องเครื่องวัดสุทัศน์ด้วย”
ส่วนพระราชพิธีที่จัดในวัดสุทัศน์เป็นหลัก จะเห็นได้จากในสมัยรัชกาลที่ 3 วัดแห่งนี้เป็นสถานที่สำคัญในการประกอบพระราชพิธีวิสาขบูชา ในช่วงปลายรัชกาล พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ทำเกยที่พระรอบอุโบสถเพื่อตั้งพระสัตตมหาสถาน (สถานที่สำคัญ 7 แห่งที่พระพุทธเจ้าเสด็จประทับเสวยวิมุตติสุข หลังจากตรัสรู้) และใช้เกยดังกล่าวไว้สำหรับเชิญพระพุทธรูปออกตั้ง พร้อมกับการจัดเทศนาพระปฐมสมโพธิ ให้เป็นที่สักการะบูชาของราษฎร
ในด้านความสัมพันธ์ของวัดสุทัศน์ฯ กับราษฎรทั่วไปในเมือง ก็จะเห็นได้จากบริเวณศาลาวัดสุทัศน์ซึ่งเคยใช้เป็นสถานที่สำหรับ “ปลูกฝี” ให้กับราษฎรทั่วไป ดังปรากฏในเอกสาร “ประกาศดาวหางปีระกาตรีศก” ของรัชกาลที่ 4 เอกสารข้างต้นกล่าวถึงดาวหางตกนั้นนับเป็นลางบอกเหตุ ที่ว่า ฤดูฝนอาจจะไม่มีฝนหรือฝนอาจจะตกมากกว่าปกติ รัชกาลที่ 4 จึงทรงห่วงใยประชาชน เพราะหากฝนตกมากคนก็จะป่วยเป็นฝีดาษมากขึ้นตามไปด้วย จึงทรงออกประกาศว่า
“ถ้ากลัวความไข้ว่าเกลือกฝีดาษจะชุม ตัวใครแลบุตรหลานใครยังไม่ได้ออกฝีดาษก็ให้รีบพามาปลูกฝีดาษที่โรงทานนอกก็ดี โรงหมอท่าพระก็ดี ศาลาวัดสุทัศน์เทพวรารามก็ดีเสียโดยเร็วอย่าให้ทันฝีดาษมีมา”
สาเหตุที่ตั้งโรงหมอปลูกฝีที่วัดสุทัศน์ฯ ก็อาจจะด้วยทำเลของวัดที่ตั้งอยู่กึ่งกลางพระนคร จึงทำให้ราษฎรในเมืองสามารถเดินทางมารับบริการทางสุขภาพที่นี้ได้ค่อนข้างสะดวก และตัววัดเองก็เป็นพื้นที่ที่ใหญ่มากพอจะรองรับคนทั้งหลายได้โดยไม่จำเป็นต้องตั้งโรงหมอขึ้นมาใหม่
การตั้งวัดไว้กลางเมืองของคนสมัยก่อน เป็นวิธีการจัดสรรพื้นที่ให้เกิดประโยชน์มากกว่าที่เราคิด วัดกลางเมืองจึงเป็นทั้งที่ประดิษฐานสิ่งศักดิสิทธิ์สำคัญ เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในพระนคร เป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีสำคัญเพื่อส่งเสริมความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นสถานที่ให้การศึกษา เป็นลานจัดกิจกรรม และเป็นสถานที่ซึ่งเหมาะแก่การจัดตั้งหน่วยงานเฉพาะกิจเพื่ออำนวยความสะดวกและบรรเทาทุกข์ภัยต่าง ๆ ให้กับคนในพระนครอีกด้วย วัดสุทัศน์ฯ จึงเป็นพื้นที่ซึ่งอำนวยพระโยชน์ให้คนทุกชนชั้นมาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์
แม้ในปัจจุบันคนอาจจะไม่ได้นึกถึงวัดสุทัศน์ในฐานะ “กึ่งกลางพระนคร” มากเท่าใดนัก แต่วัดสุทัศน์ก็ยังคงเป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรม ที่แสดงให้เห็นถึงประวัติศาสตร์ คติความเชื่อ ความงดงามทางสถาปัตยกรรม รวมทั้งวิถีชีวิตของคนในกรุงเทพฯ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน